นางสาวอารดา วิชญวาณิช ผู้จัดการ แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายไตรมาส 2/67 เพิ่มขึ้นเป็น 514,000 บาร์เรล/วัน หรือเติบโตราว 9% จากไตรมาส 1/67 ที่ทำได้ราว 473,048 บาร์เรล/วัน จากโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) จะเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลัง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นไตรมาสแรก ขณะที่คาดการณ์ปริมารการขายทั้งปีที่ 509,000 บาร์เรลฯ/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 406,000 บาร์เรล/วัน โดยหลักมาจากโครงการ G1/61
ส่วนราคาก๊าซฯ คาดอยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (MMBTU) ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/67 และทั้งปีคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมีการปรับราคาย้อนหลัง ตามราคาตลาดโลก รวมถึงเข้ามาของโครงการ G1/61 และ G2/61 ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราถัวเฉลี่ยรวมของราคาก๊าซฯ ต่ำลงเล็กน้อย จาก 2 โครงการดังกล่าวมีราคาก๊าซฯ ต่ำกว่าระบบสัมปทานเดิมเล็กน้อย
ด้าน Unit Cost ยังสามารถรักษาระดับที่ 28-29 เหรียญสหรัฐต่อบีโออี ในปี 67 และยังรักษา EBITDA Margin ที่ 70-75%
คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบช่วงไตรมาส 2/67 จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์/บาร์เรล จากตลาดคาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 67 จะอยู่ที่ระดับ 70-90 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐ จีน อินเดีย ขณะที่อุปทานยังต้องจับตามองนโยบายการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศออกมาแล้วว่าจะลดกำลังการผลิตถึงสิ้นไตรมาส 2/67 แต่อย่างไรก็ตามทางตลาดก็คาดการณ์ว่าโอกเปกพลัส น่าจะคงการลดกำลังการผลิตนี้ไปจนถึงสิ้นปี 67 ส่งผลให้อุปทานมีแนวโน้มตึงตัง ส่วนเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน่มค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทำให้ความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานยังตึงตัวอยู่ในปีนี้
ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมาก คาดมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในตะวันออกกลาง ที่อาจกระทบต่อการขนส่งน้ำมันดิบ รวมถึงอุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาค อีกทั้งในยุโรปตะวันออก หรือรัสเซียและยูเครนที่ยังมีความไม่ชัดเจนในท่าที
ราคาก๊าซฯ LNG ปีนี้ ตลาดคาดอยู่ที่ 9-13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ปรับตัวลงจากปีก่อน จากซัพพลายที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งโครงการเดิม และโครงการใหม่ โดยหลักเป็นประเทศสหรัฐ และอินโดนีเซีย
บริษัทฯ ยังคงงบการลงทุน 5 ปี (67-71) ที่ 32,600 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเงินลงทุนปี 67 ราว 6,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในส่วนนี้จะแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุนประมาณ 4,200 ล้านดอลลาร์ และรายจ่ายการดำเนินงานราว 2,500 ล้านดอลลาร์
โครงการที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต ได้แก่ โครงการ LANG LEBAH ในประเทศมาเลเซีย โดยอยู่ระหว่างการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ และคาดเริ่มผลิตก๊าซฯ ได้ในปี 71, โครงการ Mozambique ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการกลับเข้าพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างได้ในกลางปี 67 รวมถึงโครงการที่อยู่ในระยะการสำรวจที่สำคัญ ที่คาดว่าจะสร้างการเติบโตให้กับบริษัท ได้แก่ แหล่ง Waset ในประเทศตะวันออกกลาง หลังค้นพบก๊าซฯ ไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมแผนพัฒนา เพื่อยื่นให้กับภาครัฐ เพื่อตัดสินใจการลงทุนขั้นสุดท้ายต่อไป นอกจากนี้ยังมีแหล่งสำรวจในประเทศมาเลเซียอีกหลายแหล่ง ที่ PTTEP ตั้งใจจะพัฒนาร่วมกันเป็นคลัสเตอร์
นางสาวอารดา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา บริษัทฯ ยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากแหล่งผลิตก๊าซยาดานา และซอติก้า อยู่ไกลออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว โดยทั้ง 2 แหล่งถือเป็นแหล่งหลักในการผลิตก๊าซฯ ให้กับเมียนมาด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 67)
Tags: PTTEP, อารดา วิชญวาณิช