Power of The Act: Blockchain เพื่อการซื้อขายไฟฟ้า RE และ REC ระหว่างเอกชนแบบอัจฉริยะ

ช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา Forbes ได้เผยแพร่บทความชื่อ “The Blockchain Revolution In The Energy Market” (เขียนโดย Ariel Cohen) มีใจความสำคัญว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยี Blockchain นั้นไม่ได้เพียงถูกใช้เพื่อคริปโทเคอร์เรนซีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านของระบบพลังงานแบบรวมศูนย์ไปเป็นแบบกระจายศูนย์อีกด้วย การเปลี่ยนของการผลิตและใช้พลังงานที่กระจายศูนย์มากขึ้น สะอาดขึ้น และมีการแข่งขันกันมากขึ้นนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน

เมื่อเทคโนโลยี Blockchain ถูกพัฒนาและใช้งานในประเทศไทยไม่แพ้ในต่างประเทศ ภาคพลังงาน (Energy Sector) ก็คงหนีไม่พ้นการพัฒนานี้ ผู้เขียนจึงตั้งคำถามว่าเทคโนโลยี Blockchain ทำให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าสะอาดระหว่างเอกชนเกิดและถูกใช้บังคับอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร เทคโนโลยีนี้สร้างทางเลือกที่เชื่อถือได้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการไฟฟ้าสะอาดอย่างแท้จริงอย่างไร และ Blockchain สนับสนุนการซื้อขายและโอนใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “REC” บนฐานของแนวคิด Proof of Claim ได้อย่างไร

*เทคโนโลยี Blockchain ทำให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าสะอาดระหว่างเอกชนเกิดและถูกใช้บังคับอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร ?

บทความของ Forbes ให้คำอธิบายว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่บันทึกธุรกรรมระหว่างผู้ทำธุรกรรม และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมที่เกิดขึ้น โดยผ่านระบบกระจายศูนย์ (Decentralized System) การทวนสอบข้อมูลดังกล่าวจะดำเนินการด้วยบุคคลที่มีส่วนร่วมในระบบจำนวนมาก โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกแล้วจะไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้

ระบบการบันทึกข้อมูลนี้นอกจากจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว ยังสามารถทำให้ธุรกิจและปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในภาคพลังงานมีความแน่นอนและเชื่อถือได้อีกด้วย

คำถามคือการผลิตและขายไฟฟ้าแบบใดที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Blockchain ?

ประโยชน์ของเทคโนโลยี Blockchain คือการ “สร้างความเชื่อมั่น” ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เทคโนโลยีนี้จะช่วยบันทึกการโอนหน่วยไฟฟ้าจากผู้ผลิตไปยังผู้ซื้ออย่างแท้จริง คู่สัญญาจะมั่นใจได้ว่ามีการโอนหน่วยไฟฟ้าและรายละเอียดของธุรกรรมที่ไม่อาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ โดยไม่ต้องมี “คนกลาง” ทำให้การซื้อขายนี้ไม่มีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับคนกลาง และสามารถทำให้ราคาไฟฟ้าที่เรียกเก็บนั้นมีราคาลดต่ำลงได้ หมายความว่า เทคโนโลยีจะบันทึกร่องรอยของจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ถูกผลิตโดยผู้ขายและปริมาณการใช้โดยผู้ซื้อได้อย่างแม่นยำ แน่นอน ไม่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ผู้เขียนเห็นว่าการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างเอกชนนั้นเป็นไปได้จริงและชอบด้วยกฎหมายภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน (ไม่ต้องรอนโยบายของรัฐใด ๆ อีก) แม้ว่าโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศจะมีลักษณะที่มีผู้ซื้อรายเดียว (Enhanced Single Buyer หรือ “ESB”) ซึ่งมีการเปิดเสรีให้เอกชนเข้ามาแข่งขันในกิจการระบบผลิตไฟฟ้าผ่านการขายไฟฟ้าให้กับรัฐตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ซึ่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับซื้อไฟฟ้า คือ กฟผ. สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จะจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงให้กับ กฟน. และ กฟภ.โดยไม่ผ่านระบบของ กฟผ.

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองโดยไม่ขายเข้าระบบการไฟฟ้าหรือจำหน่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าโดยตรง หรือที่เรียกว่า IPS นั้น ก็เป็นรูปแบบการผลิตและขายไฟฟ้าที่เป็นไปได้ ทั้งนี้ ตามแนวปฏิบัติการกำกับผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า ระบุว่า IPS เป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทหนึ่งที่สามารถเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าของผู้เชื่อมต่อเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้

ผู้ผลิตไฟฟ้า IPS เหล่านี้สามารถขอรับใบอนุญาตหรือแจ้งการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อ “เข้าสู่ตลาด” การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ซื้อโดยตรง (ไม่ได้ขายให้การไฟฟ้าตามรอบประกาศการรับซื้อไฟฟ้าที่ กกพ. ประกาศ)

ในโลกของธุรกรรมดิจิทัลซึ่งเป็น Digital Layer ของธุรกรรมนั้น แพลตฟอร์มการซื้อทำให้การเสนอขายและสนองซื้อของผู้ผลิตและผู้ใช้ “ต้องตรงกันจนเกิดสัญญา” โดยระบบอัตโนมัตินี้สามารถบันทึกร่องรอยของการเกิดและบังคับการระหว่างคู่สัญญาด้วยเทคโนโลยี Blockchain และช่วยให้คู่สัญญารับรู้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่ามีการจ่ายไฟฟ้าสะอาดเข้าระบบเพื่อส่งมอบกี่หน่วย ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มนี้ก็จะสามารถแสดงได้ว่าผู้ซื้อได้รับและใช้ไฟฟ้าที่ส่งมอบแล้วกี่หน่วย

ผู้เขียนเห็นว่า “ทีเด็ด” ของเทคโนโลยี Blockchain คือการที่ข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาด (ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลายครั้งในวันหนึ่งตามลักษณะของพลังงานหมุนเวียน) เหล่านี้นั้นถูกบันทึกอย่างถูกต้องแม่นยำและมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในภายหลัง ความชัดเจนและเชื่อถือได้ของข้อมูลนี้ส่งผลให้การบังคับใช้สัญญาซื้อขายตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่น เวลาใดที่ผู้ขายสามารถผลิตและส่งมอบหน่วยไฟฟ้าได้ และจำนวนค่าตอบแทนที่ผู้ซื้อต้องจ่ายตามจำนวนไฟฟ้าที่ใช้จริงมีจำนวนเท่าใด ส่งผลให้ “การปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา” มีความชัดเจนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

*Blockchain สร้าง “ทางเลือกที่เชื่อถือได้” แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ?

หากผู้ซื้อ “สามารถเลือก” ประเภทของไฟฟ้าสะอาดที่ต้องการได้ โดยพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อความเชื่อถือได้ว่าไฟฟ้าที่ตนซื้อนั้นสะอาดอย่างแท้จริงแล้ว เชื่อว่าสัดส่วนการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะมากขึ้น คำถาม คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าจะมั่นใจได้อย่างไร ? ในประเด็นนี้ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างเอกชนซึ่งมีการส่งมอบหน่วยไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายขนาดเล็กของเอกชนเองที่อาศัยเทคโนโลยี Blockchain รองรับ “มีคำตอบ”

IEEE BLOCKCHAIN ได้เผยแพร่บทความชื่อ “How Blockchain Is Being Used in Energy Trading” อธิบายว่า เทคโนโลยี Blockchain จะบันทึกและติดตามธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวสินทรัพย์ เช่น หน่วยพลังงาน โดยการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger) นั้นจะบันทึกข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ง่าย แต่ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการนำเอาสัญญาอัจฉริยะ (กระบวนการทางดิจิทัล ที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมโดยอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง) มาใช้คู่กับระบบการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวแล้วจะทำให้เกิดการซื้อขายพลังงานตามอุปสงค์และอุปทาน

ผู้ซื้อไฟฟ้าจากแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าอัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain จะมี “ทางเลือก” ว่าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ขายรายใด เช่น สามารถเลือกว่าจะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ใช้ไฟฟ้า) เท่านั้น และยังมีสิทธิเลือกว่าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ขายประเภทใด เช่น ซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนที่เป็นเกษตรกรเท่านั้น

ในการทำธุรกรรมการซื้อขายนี้ ผู้ซื้อจะสามารถเห็นราคาไฟฟ้าสะอาดที่ผู้ผลิตเอกชนเสนอขายตามเวลาจริง (Real-Time Price) ทำให้การตัดสินใจซื้อขายเป็นไปบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น หรือผู้ซื้ออาจกำหนดว่าจะซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เองของเพื่อนบ้าน (เท่านั้น) ก็ได้ โดยเป็นการซื้อขายโดยตรงผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงดันต่ำหรือแรงดันระดับกลางที่มีขนาดเล็ก (Microgrid) เพื่อป้องกันมิให้ราคาที่ซื้อมีต้นทุนจากการส่งไฟฟ้าจากพื้นที่ผลิตที่ตั้งอยู่ห่างออกไป

นอกจากนี้ ในเวลาที่ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมีความผันผวนไม่แน่นอน ผู้ซื้อไฟฟ้าก็ยังอาจกำหนดว่าจะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรอื่นได้ เช่น ซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากชีวมวล ความร้อนใต้พิภพ และพลังน้ำ

ในมิตินี้ “ทีเด็ด” ของการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดผ่าน Blockchain จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกที่จะใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากหลากหลายแหล่งได้ หากแพลตฟอร์มที่รองรับการซื้อขายนั้นมีศักยภาพในการบันทึก “ร่องรอย” ต่าง ๆ ของธุรกรรมได้ เช่น สร้างความมั่นใจแก่ผู้ซื้อว่าไฟฟ้าที่ตนซื้อและรับการส่งมอบนั้นมาจากแหล่งที่ตนเลือกตามราคาที่จ่ายจริงแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าเทคโนโลยี Blockchain จะช่วยสนับสนุนตลาดไฟฟ้าสะอาดได้โดยอาจไม่ต้องรอนโยบายของรัฐ

*Blockchain เพื่อการซื้อขายและโอน REC บนฐานของแนวคิด Proof of Claim

การผลิตและใช้ไฟฟ้าสะอาดแบบกระจายศูนย์นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกรณีที่ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าเชื่อมต่อกันผ่านระบบโครงข่ายที่ตนเป็นเจ้าของเท่านั้น หากแต่เป็นไปได้ที่ผู้ผลิตนั้นจะใช้ระบบผลิตไฟฟ้าสะอาดที่ตั้งอยู่ห่างจากสถานที่ตั้งของผู้ใช้ไฟฟ้า และเป็นไปได้ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าประสงค์จะซื้อไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่การส่งมอบไฟฟ้าโดยผู้ขายนั้น ต้องจ่ายหน่วยไฟฟ้าสะอาดเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าของบุคคลอื่นที่อาจมีไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนปะปนอยู่ หากเป็นการขายไฟฟ้าให้ผู้ซื้อที่อยู่ห่างออกไป แต่จะต้องมีการส่งมอบไฟฟ้าดังกล่าวโดยใช้โครงข่ายของบุคคลอื่น แล้วจะทำอย่างไรผู้ซื้อจึงจะมั่นใจได้ว่าไฟฟ้าที่ซื้อและเงินที่จ่ายนั้นเป็นการจ่ายเพื่อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน “อย่างแท้จริง”

ในเมื่อมีความเป็นไปได้ที่หน่วยอิเล็กตรอนไฟฟ้าที่ผู้ขายได้จ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับหน่วยไฟฟ้าที่ผู้ซื้อใช้อาจจะไม่ใช่หน่วยอิเล็กตรอนเดียวกัน (ทำนองเดียวกับการที่ธนบัตรใบที่เราใส่ที่ตู้เอทีเอ็มต้นทางกับธนบัตรที่เรากดออกมาจากตู้เอทีเอ็มปลายทางเป็นคนละใบแต่มีมูลค่าเท่ากัน และเราไม่ได้เบิกเงินเกินจากบัญชี) คำถามคือจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าผู้ซื้อสามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าตนซื้อและใช้ไฟฟ้าสะอาด?

เครื่องยืนยันนี้เรียกว่า “ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “REC”) ผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องนำเอาสถานที่ผลิตไฟฟ้าไปขึ้นทะเบียนให้มีสถานะเป็น “Production Facility” ต่อมา ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะต้องแสดงต่อผู้ออกใบรับรอง (ในประเทศไทยคือ กฟผ.) ว่าตน “ได้” ผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาใด โดยระบุทั้งเวลาเริ่มการผลิตและเวลาสิ้นสุดการผลิต ปริมาณการผลิตโดยรวมของช่วงเวลาดังกล่าว (Total Production During Period) โดยมีหน่วยเป็นเมกะวัตต์

ผู้ออกใบรับรองจะไม่ออกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนเกินไปจากปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่มีการจ่ายเข้าสู่ระบบ “จริง” (ไฟฟ้า 1 MWh มีค่าเท่ากับ 1 REC) เพราะเป็นการออกใบรับรองจากสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วมิได้เป็นเพียงปริมาณพลังงานไฟฟ้าโดยประมาณเท่านั้น ใบรับรองที่ออกนั้นจะถูกนำไปเก็บไว้ในบัญชีเพื่อการค้า (Trade Account) ซึ่งเป็นบัญชีที่สามารถถูกใช้เพื่อโอนและรับโอนใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน

จึงกล่าวได้ว่า REC คือ กลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของกลไก ช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านการซื้อและขาย REC ทำให้ผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขาย REC

ในขณะที่ผู้ซื้อไฟฟ้าที่ได้รับโอน REC ไปด้วยก็สามารถใช้ REC ให้เป็นไปตามเป้าหมายของการอ้างสิทธิในการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ สนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งหากพิจารณาจากการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จะจัดอยู่ใน SCOPE 2 : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions)

หากมองกลับมาที่กฎหมายและกลไกการกำกับดูแลจะพบว่า กกพ. ได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) พ.ศ. 2566 ให้นิยามว่า พลังงานไฟฟ้าซึ่งมีใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มีสถานะเป็น “ไฟฟ้าสีเขียว” ดังนั้น หากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ซึ่งมี REC รับรองประสงค์จะขายไฟฟ้าสีเขียวดังกล่าวให้กับผู้ซื้อไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ห่างออกไปโดยอาศัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าของบุคคลอื่นซึ่งอาจมีหน่วยไฟฟ้าอื่นที่มิได้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนปะปนอยู่โดยผ่านระบบ Blockchain ก็ย่อมเป็นไปได้

แต่คำถามจะเกิดมีขึ้นต่อไปว่าระบบการซื้อขายนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่า REC ที่ถูกโอนและใช้อ้างสิทธิ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วนั้นจะถูกจำหน่ายให้สิ้นไปจากระบบเพื่อมิให้มีการใช้หรือนับซ้ำ (Double Counting) ทำนองเดียวกับการที่เมื่อได้กดเงินจากตู้เอทีเอ็มหรือจ่ายเงินจากบัญชีของเราผ่านระบบออนไลน์แล้วเงินที่ถูกใช้แล้วจะไม่ถูกใช้ได้อีก

ในประเด็นนี้ “ESGpedia” ได้เผยแพร่บทความชื่อ “Thailand state-owned power utility EGAT partners with STACS to bring greater transparency to the Renewable Energy Certificates (RECs) market in Thailand and ASEAN” โดยแสดงแนวคิดของ กฟผ. ที่ว่าการโอน REC นั้นสามารถถูกบันทึกและติดตามร่องรอยได้ด้วยการมีข้อมูลรองรับ (Data-Backed RECs with End-to-End Traceability) ผู้เขียนเห็นว่าการใช้เทคโนโลยี Blockchain นั้นสามารถช่วยให้ข้อมูลธุรกรรมและการแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นเป็นไปได้อย่างโปร่งใส สามารถติดตาม ตรวจสอบได้ และแก้ไขในภายหลังไม่ได้

การใช้ระบบที่อาศัยเทคโนโลยี Blockchain รองรับการโอนและใช้ REC นั้นยังเกิดขึ้นในทางปฏิบัติโดย Singapore Power Group (SP) โดย SP ได้ริเริ่มให้มี “marketplace” สำหรับ REC ซึ่งใช้เทคโนโลยี Blockchain รองรับการทำงาน ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลของ SP ให้คำอธิบายว่า “โดยอาศัยเทคโนโลยี Blockchain เราทำให้บริษัท (หลาย ๆ บริษัท) ซื้อขายแลกเปลี่ยน REC อย่างสะดวก ไร้รอยต่อ และมั่นคงปลอดภัย” แพลตฟอร์มนี้จะทำหน้าที่จับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งประสงค์จะซื้อขาย REC ตามเงื่อนไขและเป้าหมายของตนโดยอัตโนมัติ เช่น ผู้ซื้อสามารถกำหนดว่าจะซื้อ REC ที่เกิดจากพลังงานหมุนเวียนประเภทใดได้

โดยสรุปแล้ว เทคโนโลยี Blockchain มีศักยภาพในการส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้า RE และ REC ซึ่งเป็นธุรกรรมในลักษณะของสัญญาอัจฉริยะ เทคโนโลยี Blockchain นั้นมี “ทีเด็ด” อยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างคู่สัญญาโดยระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger) ที่ทำให้ร่องรอยการจ่ายหน่วยไฟฟ้าสะอาดและการส่งโดยผู้ผลิตนั้นมีจำนวนเท่าใดเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนใด ในขณะที่แพลตฟอร์มนี้จะบันทึกปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ หากข้อมูลเหล่านี้ถูกบันทึกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ง่าย แต่ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้ว คู่สัญญาย่อมมั่นใจที่จะทำธุรกรรมระหว่างกัน ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่าไฟฟ้าที่ตนรับมอบและใช้นั้นสะอาดจริง ผู้ขายได้เงินตามจำนวนไฟฟ้าสะอาดที่ตนผลิตและส่งมอบจริง

นอกจากนี้ ทีเด็ดดังกล่าวของเทคโนโลยี Blockchain ยังช่วยป้องกันการที่ REC จะถูกใช้ซ้ำในกรณีที่เป็นการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวที่มี REC รองรับอีกด้วย

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 68)

Tags: , , ,