Power of The Act: แพลตฟอร์มข้อมูลเมืองกับแนวคิดเกาะสมุยคาร์บอนต่ำ

หากเกาะสมุยสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่าการคมนาคมขนส่งบนเกาะตลอดเวลาการท่องเที่ยวพักผ่อนนั้น “สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ผู้เขียนคิดว่าจะช่วยให้แนวคิดเกาะสมุยสีเขียวดีกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการขนส่ง นักท่องเที่ยว และภาคธุรกิจอื่น ตลอดห่วงโซ่อุปทานของภาคการท่องเที่ยว

การทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สามารถอาศัยการใช้ การจัดทำ และใช้งานฐานข้อมูลของเมือง โดยเทศบาลนครสมุยได้ และการดำเนินการนี้ “มีความเป็นไปได้ทางกฎหมาย”

*บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เทศบาลนครเกาะสมุย กับ บ้านปู เน็กซ์

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับนายสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ ผู้ให้บริการโซลูชันพลังงานสะอาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาแผนแม่บทในการผลักดันเกาะสมุยให้พร้อมก้าวเป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

เว็บไซด์ของเทศบาลนครเกาะสมุยเผยแพร่ข้อมูลว่า นายรามเนตร กล่าวว่า “เทศบาลนครเกาะสมุย มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น ‘เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลอ่าวไทย’ และมุ่งมั่นยกระดับเกาะสมุยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำและเมืองอัจฉริยะสำหรับทุกคน

ผู้เขียนเห็นว่า การที่เกาะสมุยนั้นจะทั้งสามารถรองรับการท่องเที่ยว การเป็นเมืองที่ผู้คนบนเกาะใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยมีสวัสดิภาพ อยู่ดีกินดี ภาคการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับภาคการบริการอื่น และเป็น “ข้อต่อ” ที่ดีในห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว (Tourism Supply Chain) อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่โจทย์ที่แก้ไขได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการดำเนินนั้นจะเป็นไปอย่าง “ยั่งยืน”

ความยั่งยืนได้ ไม่ใช่เพียงแค่มีแผน แต่ต้อง “ลงมือทำ” การดำเนินการ หรือประกอบการที่อาจเกิดการสำรวจความเป็นไปได้ของการติดตั้งและใช้งานระบบการผลิตพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาไฟตกและไฟฟ้าไม่พอใช้ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากพลังงานสะอาดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการลดการปล่อย CO2

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาความเป็นไปได้ในการนำบริการ E-Mobility มาใช้ยกระดับประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการขยะของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้อยู่อาศัยและภาคการท่องเที่ยวบนเกาะสมุยในระยะยาว

*เมือง “ท่องเที่ยว” ที่การคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Richardo Fioravanti ได้เขียนบทความชื่อ “Leveraging Smart City Technologies to Create More Efficient Access to EV Charging Infrastructure: Using Traffic Patterns in Smart Cities to Optimize Vehicle Charging” เมื่อเดือนกรกฏาคม ค.ศ. 2021 ผ่านเว็บไซด์ของ IEEE ให้คำอธิบายและนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจในหัวข้อ “การบริหารจัดการการจราจรสำหรับเมืองอัจฉริยะ (Traffic Management for Smart Cities)”

เมืองอัจฉริยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของระบบการจราจรและการขนส่งนั้น จะมีตัวอย่างให้เห็นในทางปฏิบัติ เช่น การมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเชื่อมโยง ระบบการติดตามตรวจสอบและบริหารจัดการการจราจร ระบบการตรวจสอบติดตามระดับน้ำและน้ำท่วม ระบบการบันทึกภาพจากกล้องที่เป็นระบบรักษาความปลอดภัยและการวิเคราะห์ข้อมูล และระบบแสงสว่างที่มีความเชื่อมโยง

การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้านั้น นำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทาย เช่น การที่จะมียานยนต์ไฟฟ้ารองรับการคมนาคมขนส่งและให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการอัดประจุไฟฟ้าที่ครอบคลุมและสะดวก ระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นจะต้องมีศักยภาพรองรับการอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งสาธารณะในช่วงกลางวัน (ซึ่งเป็นเวลาที่ระบบการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เกิดขึ้นได้) เพื่อเตรียมพร้อมจะให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์แล้ว

เมืองที่มีความอัจฉริยะในมิติด้านการขนส่งนั้น จะมีศักยภาพในการ “บอก” ว่าเส้นทางใดช่วงเวลาใดจะเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่ผู้ขับขี่ยานยนต์จะเข้ารับบริการอัดประจุไฟฟ้าแก่ยานยนต์ เส้นทางและช่วงเวลาที่ดีที่สุดนั้นจะบอกว่าสถานีหรือแท่นอัดประจุใดนั้นที่สถานที่หรือแท่นที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุด โดยคิดจากสภาพการจราจรในเวลาจริงและระยะทางตามจริงของผู้ใช้งานยานยนต์นั้น

ในทางปฏิบัติ TAT Review เคยเผยแพร่บทความที่มีใจความส่วนหนึ่งในหัวข้อ “ระบบการเดินทางชาญฉลาด Intelligent Transport System (ITS)” ให้ข้อมูลว่าสิงคโปร์ใช้งานระบบ ITS สนับสนุนความคล่องตัวของการจราจรภายในเมืองและสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ผู้ขับขี่ยานพาหนะและรถสาธารณะในสิงคโปร์สามารถทราบและดูภาพการจราจร 5 นาทีก่อนเวลาปัจจุบันได้ผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านการเก็บข้อมูลจากกล้องวงจรปิดบนท้องถนน นอกจากนั้นระบบ ITS ยังแสดงข้อมูลการซ่อมบำรุงถนน แนะนำเส้นทาง สถานที่ซ่อมบำรุงรถ และแสดงตำแหน่งสถานที่จอดรถ

*สิ่งที่ต้องลงทุนคือแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง

สิ่งที่เมืองอัจฉริยะต้องการ คือ “ข้อมูล” และ “ระบบการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล” เพื่อรองรับการบริหารจัดการระบบขนส่ง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “DEPA” ได้จัดทำ “กรอบการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform Development Framework)” เพื่อให้ “ผู้นำ” เมืองใช้ในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการข้อมูลเมืองสำหรับ “นักพัฒนา” ในการออกแบบทางเทคนิคและสำหรับประชาชนเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจและเห็นความสำคัญของ CDP เพื่อความมีส่วนร่วมในการให้และใช้บริการข้อมูลเมือง

คู่มือของ DEPA ให้นิยามของ “แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) คือ แหล่งรวบรวมข้อมูลดิจิทัลที่รองรับการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนในเมือง อย่างเป็นระบบ พร้อมใช้ ปลอดภัย และปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดกับเมือง” และได้ยกตัวอย่างว่า โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในไทยนั้นคือจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะในอันดับต้น โครงการพัฒนา Phuket Smart City Data Platform (CDP)

โครงการของจังหวัดภูเก็ตนั้นเป็นโครงการต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยสำหรับข้อมูลแบบบูรณาการในระดับเมือง เพื่อใช้ในการวางแผนการจัดการและการแก้ปัญหาความท้าทายของเมืองและถือเป็นต้นแบบสำหรับเมืองอื่น ๆ ริเริ่มโดย City Data Analytics (CDA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ร่วมกับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ทำการติดตั้งแพลตฟอร์มเพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และแสดงข้อมูลที่รวบรวมไว้ตามจุดเชื่อมต่อ Wi-Fi มากกว่า 1,000 จุดเกิดเป็นระบบ Phuket City Data Platform

แพลตฟอร์มข้อมูลเมืองนั้นจำเป็นต้องมีการ “เก็บรวบรวม” และ “ใช้”ข้อมูลซึ่งรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การจะรู้ถึงสภาพการจราจรตามเวลาจริงนั้นอาจดำเนินการผ่านกล้องที่เป็นระบบรักษาความปลอดภัย ข้อมูลเหล่านี้อาจรวมเผยให้เห็นถึงตัวตนของบุคคลที่ถูกเก็บภาพ แพลตฟอร์มอาจจะต้องรับรู้ว่าผู้ขับขี่ยานยนต์อยู่ตำแหน่งใดในถนน ในเวลานั้นสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดสามารถให้บริการทันทีได้หรือไม่ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังควรบอกได้ว่าไฟฟ้าที่สถานีอัดประจุมีอยู่หรือพร้อมจะขายนั้นเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์หรือไม่ และเป็นเวลาที่ค่าไฟฟ้านั้นถูกที่สุดและเป็นเวลาที่ควรเข้าไปอัดประจุไฟฟ้า

*อำนาจหน้าที่ของเทศบาลและฐานทางกฎหมายของแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง

ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ตำแหน่งที่อยู่ผู้ใช้งานยานยนต์ คำขอเข้ารับบริการอัดประจุไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งประวัติการเข้าซื้อไฟฟ้า มีสถานะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดบัญญัติให้บุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งจะมีสถานะเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) ต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากเทศบาลนครเกาะสมุยประสงค์จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อรองรับแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองเพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นเกาะคาร์บอนต่ำแล้ว เทศบาลย่อมมีฐานะเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เทศบาลนครเกาะสมุยจะต้องมีฐานทางกฎหมาย (Lawful Basis) ในการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ผู้เขียนมีความเห็นว่าฐานทางกฎหมายที่เทศบาลจะอ้างอิงได้นั้นอาจไม่ได้อาศัยฐานความยินยอมเป็นหลัก (คงเป็นการยากหากจะขอความยินยอมจากคนทุกคนที่ผ่านเข้ามาในกล้องรักษาความปลอดภัย) ฐานทางกฎหมายที่เทศบาลสามารถอ้างอิงถึงและสามารถยกตัวอย่างได้ เช่น ฐานการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของเทศบาลนครเกาะสมุยตามมาตรา 24(6) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลสามารถเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลหากเป็นกรณีการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

เทศบาลนครเกาะสมุย มีหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบการจราจร หรือแม้กระทั่งเรื่องการใช้พลังงานหรือไม่ ? ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เทศบาลนคร “มีหน้าที่” ตามมาตรา 56 ต้องทำกิจการได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน บำรุงการไฟฟ้าหรือแสงว่าง และส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยว เมื่อนำหน้าที่เหล่านี้มาพิจารณาประกอบกันแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อป้อนเข้าแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองเพื่อรองรับการคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความเป็นไปได้ที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเทศบาลนคร และอาจมองได้ว่าเป็นการจำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 24(4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

เทศบาลนครเกาะสมุย มีหน้าที่ตามมาตรา 37(1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ และต้องทบทวนมาตรการดังกล่าวเมื่อมีความจำเป็นหรือเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม

เทศบาลนครเกาะสมุย สามารถมอบหมายให้มี “บริษัทพัฒนาเมือง” ซึ่งเป็นนิติบุคคลอีกรายทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิเคราะห์ข้อมูลนี้จะวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะตามคำสั่งของเทศบาลนครสมุยเท่านั้นและมีสถานะเป็น “ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล” ซึ่งมาตรา 40(1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 บัญญัติให้บริษัทพัฒนาเมืองนี้ต้องดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งที่ได้รับจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น และมาตรา 40(2) บัญญัติให้บริษัทพัฒนาเมืองจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทราบถึงเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้น

โดยสรุป เทศบาลนครเกาะสมุยมีฐานทางกฎหมายที่จะพัฒนาและใช้งานแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองเพื่อการคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นไปได้ที่เทศบาลจะมอบหมายให้บริษัทพัฒนาเมืองหรือร่วมกับผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญตั้งบริษัทพัฒนาเมืองเพื่อรับภารกิจการประมวลผลข้อมูลของแพลตฟอร์มเกาะสมุยคาร์บอนต่ำ ซึ่งฐานทางกฎหมายที่สำคัญของการดำเนินการนี้ได้แก่การทำงานร่วมกันของกฎหมายสองฉบับที่ถูกตราขึ้นมาในยุคสมัยที่ต่างกันกล่าวคือพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 แต่ทั้งสองกฎหมายสามารถทำงานร่วมกันได้

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 68)

Tags: , ,