Power of The Act: เมื่อค่าทางสิ่งแวดล้อม (Green Claim) เป็นคุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญของสินค้าและบริการ

“สินค้า” ที่เราซื้อนั้นควรจะมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

หากเราเลือกที่จะซื้อข้าวสารหนึ่งถุงจากร้านสะดวกซื้อ เราคาดหวังว่าข้าวนั้นจะมีคุณสมบัติตามรายละเอียดที่ปรากฏบนฉลากแสดงรายละเอียดและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ เช่น เป็นข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ใด ขณะเดียวฉลากดังกล่าวก็อาจแสดงแหล่งที่มาและวิธีการผลิตข้าวได้ เช่น เป็นการผลิตโดยเกษตรกรพื้นบ้านและปลูกโดยวิธีการที่ “ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือ “มีความเป็นข้าวคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Rice)”

จากข้อมูลเหล่านี้ ผู้ซื้อสามารถคาดหวังอะไรจาก “ข้าว” ที่ซื้อได้บ้าง ความคาดหวังนั้นมิได้จำกัดเพียงว่า ข้าวสารนั้นนำมาหุงเพื่อรับประทานได้อย่างปลอดภัย มีรสชาติ รสสัมผัส และกลิ่นของความเป็นข้าวหอมมะลิ หากแต่ยังรวมไปถึงต้องเป็นข้าวที่ “ถูกผลิต” โดยกระบวนการที่ไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป หรือต้องไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตเลย

หากแม้ข้าวนั้นสามารถบริโภคได้ แต่กระบวนการผลิตนั้นไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “ในระดับ” ที่ผู้ซื้อคาดหวังหรือเข้าใจแล้ว จะถือว่าผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้าแสดงข้อความอันเป็น “เท็จ” เกี่ยวกับคุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญของ “ข้าว” หรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ผลิตจะใช้เกณฑ์การวัดค่าสิ่งแวดล้อมที่ต่างไปจากเกณฑ์ของผู้ซื้อ ผู้ซื้ออาจคาดหวังว่าสินค้าที่ตนซื้อจะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่ผู้ขายได้ดำเนินการ กรณีนี้ผู้ซื้อจะทำให้สัญญาซื้อขายสิ้นสุดได้หรือไม่ ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ คำถามที่ตามมาจึงเกิดว่าแล้วระบบกฎหมายไทยจะจัดการปัญหาหรือความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

*ทิศทางการพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของสหภาพยุโรป

ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Centre for SDG Research and Support: SDG Move) ได้รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมนำเสนอ “ข้อริเริ่มผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน” (Sustainable Products Initiative) ซึ่งเป็นการผลักดันให้สินค้าของสหภาพยุโรปมีความทนทาน นำกลับมาใช้ได้บ่อยครั้ง ซ่อมแซมได้ รีไซเคิลได้ และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้ระเบียบวิธีที่เรียกว่า “Product Environmental Footprint (PEF)” เป็นมาตรฐานวัด “ค่าทางสิ่งแวดล้อม” (Green Claims) หรือการวัดผลกระทบของผลิตภัณฑ์และผลการดำเนินงานของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบจนถึงสิ้นวงจรอายุของผลิตภัณฑ์

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่ข้อเสนอที่มีมุ่งหมายในการพัฒนาศักยภาพของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Law) ของประเทศสมาชิก (“Proposal for a Directive on Green Claims”) โดยระบุว่า การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อ “คุ้มครอง” และขณะเดียวกันก็ “เสริมสร้างพลัง” ให้ผู้บริโภคที่จะมีส่วนร่วมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Transition) โดยได้เสนอให้มีการแก้ไขและพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของพฤติกรรมการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Commercial Practices)

Proposal for a Directive on Green Claims อธิบายว่าผู้บริโภคมีความต้องการที่จะได้ข้อมูลที่มากเพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบจากการบริโภคของตนต่อสิ่งแวดล้อม ข้อมูลที่มากขึ้นจะทำให้การเลือกนั้นทำได้ดีขึ้น ผู้บริโภคจำนวนมากมีเจตจำนงที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจกิจที่ “เขียวขึ้น (Greener)” และ “มีความหมุนเวียน (Circular)” มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เจตจำนงดังกล่าวนั้นไม่อาจจะบรรลุได้หรือบรรลุได้ยากมากหากปราศจากการแสดง “ค่าทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Claims)” ที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจมีการประกอบกิจการในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ (Environmental Sustainability of Products)

*ค่าทางสิ่งแวดล้อม (Green Claims) คืออะไร ?

คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามของ Directive 2005/29/EC โดยเพิ่มคำนิยามของ “ค่าทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Claim)” โดยเสนอให้หมายถึง “ข้อความหรือการแสดง (ซึ่งมิได้ตกอยู่ในบังคับของกฎหมายของสหภาพยุโรปหรือกฎหมายของประเทศสมาชิก) โดยหมายรวมถึง ตัวอักษร การแสดงโดยอาศัยรูปภาพ กราฟิก หรือสัญลักษณ์แสดงไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ๆ รวมถึงฉลาก ชื่อยี่ห้อ ชื่อบริษัท หรือชื่อของผลิตภัณฑ์ ในบริบทของการสื่อสารซึ่งมีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ โดยข้อมูลดังกล่าวนั้นได้ยืนยันหรือสามารถสื่อได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือตัวผู้ประกอบการค้านั้นได้สร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง หรือผลิตภัณฑ์หรือตัวผู้ประกอบการค้านั้นทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าผลิตภัณฑ์หรือผู้ประกอบการค้าอื่น และหมายรวมถึงการปรับปรุงให้มีผลกระทบน้อยลงตามระยะเวลา”

ข้อเสนอในการพัฒนากฎหมายข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างพลังงานของผู้บริโภคในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการยกระดับความคุ้มครองผู้บริโภคจากการประกอบกิจการอย่างไม่เป็นธรรมและการให้ข้อมูลที่ดียิ่งขึ้น (amending Directives 2005/29/EC and 2011/83/EU as regards empowering consumers for the green transition through better protection against unfair practices and better information)

เมื่อพิจารณาคำนิยามข้างต้นจะเห็นได้ว่าค่าทางสิ่งแวดล้อมนั้นมีองค์ประกอบที่หลากหลายซึ่ง ประการแรกค่าทางสิ่งแวดล้อมคือ “ข้อมูล” กล่าวคือข้อความ รูปภาพหรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เพื่อการสื่อสาร ประการที่สอง “เนื้อหาของข้อมูล” กล่าวคือ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์และตัวผู้ประกอบการ และประการที่สาม “สิ่งที่ข้อมูลจะสื่อ” กล่าวคือ เป็นการพยายามทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์และตัวผู้ประกอบการนั้นก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงหรือก่อผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

*ปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับการ “อ้างความเขียว”

คำถามที่ตามมาคือ “ข้อมูล” ที่แสดงถึงค่าทางสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถสร้างปัญหาอะไรแก่ผู้บริโภคซึ่งกำลังตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการในตลาดได้บ้าง ? หากเราเลือกซื้อข้าวสารที่ระบุว่า “ข้าวสารถุงนี้ปราศจากคาร์บอน 100%” เพราะตัวเกษตรกรใช้กระบวนการผลิตที่ไม่มีการเผา ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบที่มีความยั่งยืนโดยใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ขนาดเล็กเพื่อสูบน้ำจากบ่อน้ำในพื้นที่ของตน แต่ขณะเดียวกันก็ยังใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งมีพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อรองรับการประกอบการส่วนอื่น ๆ

หากเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวดังกล่าวใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือใช้บริการขนส่งที่ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อขนส่งสินค้าของตนไปยังโกดังของผู้ซื้อ โดยยังคงเติมไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งมีไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลปะปนอยู่ (หรือแยกไม่ออก) จะเรียกได้หรือไม่ว่า การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะถือว่าการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้านั้นปราศจากการก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าหรือไม่ ?

*ความ “เท็จ” และความ “จริง” ของข้อมูล

การผลิตและขนส่งข้าวไปยังตลาดที่ในความเป็นจริงนั้น ไม่ได้ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพียงแต่ผู้ขายพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น เช่น เพิ่มการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน แต่ผู้ขายกลับแสดงข้อความว่า “ปราศจากคาร์บอน 100%” ทั้งที่รู้แล้วว่ากระบวนการผลิตและขนส่งนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการเผาไหม้น้ำมันในที่นาของตน หรือมีการขนส่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมอยู่ด้วยกรณีนี้ข้อมูลที่ไม่ได้แสดงความจริงดังกล่าวจะส่งผลทางกฎหมายอย่างไร แม้ผลิตภัณฑ์ข้าวสารนั้นจะบริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้มีคุณสมบัติตรงกับที่ได้มีการให้ข้อมูล ผู้ซื้อบางกลุ่มอาจตัดสินใจไม่ซื้อข้าวนี้เลยหากทราบว่าข้าวนั้นมิได้ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 100%

มองในมุมของบ่อเกิดและผลของสัญญาทางแพ่งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อาจเรียกได้ว่าผู้ขายนั้นทำกลฉ้อฉลใส่ผู้ซื้อ กล่าวคือตั้งแสดงข้อความอันเป็นเท็จจริงเพื่อชักนำให้มีการทำสัญญาซื้อขาย ผู้เขียนเห็นว่ากรณีนี้คุณสมบัติของตัวสินค้าในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตขึ้นโดยจะต้องปราศจากกระบวนการที่ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับเป็นสาระสำคัญของสินค้า คุณสมบัติอันเป็นสาระสำคัญของข้าวในกรณีนี้มิได้เพียงแต่บริโภคได้อย่างปลอดภัย แต่จะต้องไม่ได้ถูกผลิตโดยกระบวนการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย การแสดงข้อความอันเป็นเท็จจริงในกรณีจึงทำให้สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 159 ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะบอกล้างสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะเดิม เช่น เรียกเงินที่ชำระแล้วคืน อีกทางหนึ่งที่ ผู้ซื้อจะทำได้คือ “ให้สัตยาบัน” หรือแสดงออกว่ายอมรับเอาข้าวนั้นจะอาจเรียกให้ผู้ขายชำระเงินคืนบางส่วนเพราะข้าวที่ซื้อนั้นยังสามารถบริโภคหรือนำไปขายต่อได้

มองในมุมของปัญหากับรัฐ “คนขี้โกง” จะต้องถูกลงโทษ มิตินี้เป็นปัญหากับรัฐ กฎหมายของสหภาพยุโรปชวนให้เราคิดถึงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและการป้องกันผู้บริโภคจากพฤติกรรมการประกอบกิจการที่ไม่เป็นธรรม เราอาจตั้งคำถามเดียวกันสำหรับกฎหมายไทย มาตรา 47 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 บัญญัติว่าผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากข้อกฎหมายข้างต้นหากผู้ขายสินค้ารู้อยู่แล้วว่ากระบวนการผลิตข้าวของตนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและตั้งใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จจริง แสดงว่ากระบวนการผลิตของตนปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือควรรู้ได้ว่าห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าที่ตนจำหน่ายนั้นแต่กลับตั้งใจที่แสดงข้อความที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ควรรู้ดังกล่าวแล้ว กรณีนี้ผู้ขายสินค้าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

*การปรับตัวของผู้ประกอบการเมื่อต้องทั้งรักษ์โลกและลูกค้าในเวลาเดียวกัน

ผู้ผลิตข้าวอาจจะตั้งถามต่อไปว่าการผลิตข้าวนั้นยังไงก็ต้องมีการใช้ไฟฟ้า จะประหยัดอย่างไรก็ยังต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องจักรบางอย่าง และถึงอย่างไรก็ต้องมีการขนส่งข้าวที่ผลิตได้ไปตลาดถึงยังไงก็ต้องมีการใช้ยานยนต์ เมื่อผู้ผลิตยังจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งแยกไม่ออกว่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นถูกผลิตจากแหล่งใดแบบนี้ก็ไม่มีทางที่จะมีสินค้าหรือบริการใด ๆ ที่เป็นสินค้าที่ปราศจากคาร์บอนได้เลย คำถามที่ตามมาคือภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อลูกค้าบางกลุ่มต้องการสินค้าหรือบริการที่ปราศจากคาร์บอนหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้นโดยยอมที่จะ “จ่าย” ค่าทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นความจริง

ทางเลือกที่หนึ่ง ผู้ผลิตที่มีความพร้อมทั้งทรัพยากรทางการเงินและทางเทคนิคอาจเลือกที่ติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ประกอบการของตน เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์ หรืออนุญาตให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เข้าติดตั้งแผงโซลาร์และซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิต ณ สถานประกอบการของตนเองผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ณ สถานที่ประกอบการของตัวเอง (Onsite Power Purchase Agreement) โดยไม่มีการใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเลย ยานยนต์ที่จะใช้ในการขนส่งสินค้าก็ใช้ไฟฟ้าเฉพาะจากระบบผลิตไฟฟ้านี้ หากมีการปรับวิธีการประกอบการในลักษณะนี้แล้วย่อมช่วยให้การ “อ้างความเขียว” มีความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้หากถูกส่งต่อไปยังลูกค้าที่ประสงค์จะซื้อสินค้าที่มีความเขียวจริงด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการประกอบก็ย่อมเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม หลายท่านอาจตั้งคำถามต่อไปว่าถ้าจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ในปริมาณมากที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์นี้ก็คงต้องลงทุนมากและไม่อาจส่งค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นนี้ไปยังลูกค้าได้ทั้งหมด (ในตอนนี้) ยังมีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ ? ในอนาคตหากระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีความเสรีมากยิ่งขึ้น รัฐปล่อยให้ตลาดไฟฟ้าเกิดและเติบโตไปตามความเป็นจริงก็อาจมีการซื้อขายไฟฟ้าที่มีการส่งมอบแบบเสมือน (Virtual Power Purchase Agreement) กล่าวคือผู้ประกอบการจ่ายเงินให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ ณ แหล่งผลิตอื่น ให้จ่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อทำให้โครงข่ายไฟฟ้ามีพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถกล่าวได้ว่าตนมีการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังหมุนเวียนมากขึ้น หรือหากจะไม่ซื้อไฟฟ้าที่มีการส่งมอบแบบเสมือนดังกล่าวแล้วก็อาจจะต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน กระบวนการเหล่านี้ (หากทำอย่างถูกต้องและผ่านการกระบวนการรับรองที่มีมาตรฐานแล้ว) ย่อมทำให้ค่าทางสิ่งแวดล้อมเป็นจริงมากขึ้น

โดยสรุป ค่าทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นความจริงเชื่อถือได้เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Transition) และหากมองจากมุมทางพลังงานแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่า ค่าทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นความจริงเชื่อถือได้ยังมีส่วนสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) ไปยังระบบการผลิตและใช้พลังงานแบบกระจายศูนย์และความเป็นประชาธิปไตยทางพลังงาน (Energy Democracy) อีกด้วย ผู้เขียนเห็นว่าข้อมูลที่ถูกต้องคือพลังงานของผู้บริโภค การเสริมสร้างพลังให้กับผู้ใช้พลังงานที่จะเลือกพลังงานที่จะใช้ในราคาที่สมเหตุสมผลคือทั้งเป็นธรรมกับผู้ขาย เป็นธรรมกับตัวผู้ใช้พลังงานเอง และเป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายที่มีศักยภาพและมีโอกาสถูกพัฒนาในกรณีนี้ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการแสดงเจตนาเพื่อทำนิติกรรมสัญญาและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , ,