ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ที่จะถึงนี้ ผู้เขียนได้รับเชิญให้เป็นผู้นำเสนอและนำการอภิปรายในหัวข้อ “Integrating EV charging with renewable energy: Policies and implementation” ในงาน EV Charge Live Thailand 2025 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC)
ประเด็นสำคัญที่จะพยายามชวนให้ผู้ร่วมงานคิดมี “กฎหมาย” เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนเป้าหมายและนโยบาย การพัฒนาและใช้งานโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ EV เข้ากับโครงการเมืองอัจฉริยะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของพลังงาน การจัดการจราจร และคุณภาพชีวิตของประชาชน การบูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดและอัจฉริยะ
อย่างไรก็ตาม “โครงสร้างพื้นฐานในบริบทนี้” มีความหมายอย่างไร เป็นเพียงระบบการอัดประจุทางกายภาพหรือควรหมายรวมถึงระบบหรืออุปกรณ์ที่รองรับการเก็บรวบรวม และประมวลผลข้อมูลเพื่อรองรับการชาร์จไฟฟ้าและการใช้งาน EV ในเมืองอัจฉริยะด้วย ? ระบบกฎหมายไทยรองรับการลงทุนเพื่อพัฒนาและใช้งานโครงสร้างพื้นฐานลักษณะนี้และมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการใช้งานหรือไม่ ?
การชาร์จแบบธรรมดากับการชาร์จแบบอัจฉริยะต่างกันอย่างไร ?
ตามที่ได้อธิบายใน Power of the Act ใน EP ก่อน “เมืองอัจฉริยะ” หมายความว่า เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีมิติการพัฒนาได้หลายด้าน
ในมิติของการเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ตาม ประกาศคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่ 1/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมิน และคุณสมบัติ วิธีการ และกระบวนการในการพิจารณาคุณสมบัติของเมืองอัจฉริยะ ข้อ 2(3) เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ความเป็น “เมืองอัจฉริยะ” สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่จะใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาการเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ คือ “แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง” หรือ City Data Platform (CDP) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสมองของเมือง โดย CDP จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลจากหลากหลายด้าน ซึ่งจะช่วยให้เมืองตอบสนองต่อความต้องการอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งมอบบริการที่ดีขึ้น รวมถึงการตอบสนองต่อวิกฤตต่าง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
แพลตฟอร์มข้อมูลเมืองจะทำงานได้ต้องอาศัย “ข้อมูล” โดย CDP จะทำงานควบคู่โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากระบบให้บริการการอัดประจุของสถานีอัดประจุแต่ละแห่งและนำมาวิเคราะห์ประมวลผล ซึ่งจะมีประโยชน์ในแง่ของพลังงาน แพลตฟอร์มยังช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (Peak) โดยเลี่ยงการชาร์จไฟของผู้ใช้รถ EV ไม่ให้ตรงกับช่วงเวลา Peak ของการใช้ไฟฟ้าด้านอื่น ๆ (ซึ่งเป็นข้อมูลที่ CDP เก็บมาจากโครงการอื่น) ทั้งยังทำให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และช่วยประหยัดรายจ่ายของผู้ขับขี่ได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบชาร์จแบบปกติที่ไม่ได้ทำงานร่วมกับ CDP
ในแง่ของการจราจร การรวบรวมข้อมูลความหนาแน่นของปริมาณรถ EV และ จุดอัดประจุที่อยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ของเมืองโดยนำมาวิเคราะห์และประมวลผลว่า ควรติดตั้งจุดอัดประจุเพิ่มในจุดใดเพิ่มเติม เพื่อลดความหนาแน่นจากการใช้งานสถานีอัดประจุเดิมลง รวมถึงลดความหนาแน่นของสภาพการจราจร ซึ่งประโยชน์ทั้งสองแง่ดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
กล่าวคือเมื่อ มีการบริหารจัดการไฟฟ้าที่ดีทำให้ไฟฟ้าในเมืองดับน้อยลงหรือไม่ดับเลย ส่งผลให้โรงพยาบาลหรือกิจการที่ต้องใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องไม่ขัดข้อง หรือการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผ่านการใช้รถ EV มากยิ่งขึ้นเป็นหนึ่งในวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้คุณภาพของอากาศดีขึ้น
Smart Charging ที่เข้าใจผู้ใช้งาน EV มากขึ้นต้องการ EVSE และ IoT
เมื่อจำนวนผู้ใช้รถ EV ในปัจจุบันมีมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้รถ EV หลายคันต้องชาร์จไฟในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (Peak) ซึ่งจะทำให้โครงข่ายการจ่ายไฟฟ้าทำงานหนักเกินไป อาจเกิดไฟฟ้าดับได้ และทำให้ผู้ใช้รถ EV เดินทางไปยังสถานีอัดประจุเดียวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้การจราจรติดขัด เมื่อผู้ใช้รถเห็นว่ารถ EV นั้นยังไม่มีความสะดวกเพียงพอ ทำให้แรงจูงใจในการใช้รถ EV น้อยลง จำนวนรถที่ใช้น้ำมันแบบเดิมจึงไม่ลดลง ส่งผลให้คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ก็จะไม่ถูกแก้ไขตามนโยบายของรัฐบาล หากระบบการชาร์จนั้นเข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้น โดยสามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานและผู้ให้บริการได้มากขึ้นแล้วปัญหาข้างต้นก็อาจคลี่คลายลง
Smart Charging ระบบนำเข้าข้อมูล ซึ่งจะนำเข้าข้อมูลจากหลายช่องทาง เช่น ฐานข้อมูล Internet หรือ CCTV โดยมีวิธีการนำเข้าข้อมูลสองประเภท คือ การนำเข้าข้อมูลเป็นชุด ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และ การนำเข้าข้อมูลแบบไหลซึ่งจะเป็นการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ ในบริบทของ อุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ (Electric Vehicle Supply Equipment หรือ EVSE) ก็สามารถมีศักยภาพในการเก็บและส่งข้อมูลได้
California Code of Regulations ได้ให้คำนิยามของ EVSE เอาไว้ว่า หน่วย (Unit) ที่ควบคุม (Controlling) การจัดหาหรือส่งพลังงานไปยังยานยนต์ไฟฟ้าขณะมีการอัดประจุไฟฟ้า โดยเป็นอุปกรณ์ (Device) ซึ่งถูกออกแบบให้มีศักยภาพในการส่งและรับเอาพลังงานไฟฟ้าไปยังหรือจากยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่มีศักยภาพในการวัดปริมาณพลังงาน กักเก็บ และรายงานปริมาณพลังงานที่ถูกจ่ายไปยังผู้รับบริการอัดประจุไฟฟ้า และยังหมายถึงอุปกรณ์ที่ส่งข้อมูลเพื่อการเรียกเก็บค่าบริการอีกด้วย
โดยที่ EVSE นั้นยังแบ่งออกได้เป็น “อุปกรณ์ EVSE ที่เชื่อมต่อกับโครงข่าย (Networked EVSP)” ซึ่งหมายถึง EVSE ที่มีศักยภาพในการรับและส่งคำสั่งหรือส่งข้อความจาก EVSP จากระยะไกล และ “อุปกรณ์ EVSE ที่ไม่เชื่อมต่อกับโครงข่าย (Non-Networked EVSP)” ซึ่งหมายถึง EVSE ที่ไม่มีศักยภาพในการรับและส่งคำสั่งหรือส่งข้อความจากผู้ให้บริการอุปกรณ์จากระยะไกล
EVSE เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการชาร์จอัจฉริยะแต่การจะมี EVSE ที่ทำงานร่วมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับความอัจฉริยะของเมืองนั้นจะต้องมีการลงทุนและการ “ดำเนินงาน”
รัฐบาลของประเทศอินเดียได้ตั้งบริษัทให้บริการด้านพลังงาน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ESCO” ชื่อ Energy Efficiency Services Limited (EESL) บริษัทนี้เป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่าง Power Grid Corporation of India Limited NTPC และ REC
EESL มีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนและลงมือประกอบกิจการในโครงการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและรับผิดชอบในการดำเนินการตาม National Action Plan on Climate Change ของประเทศ ทั้งนี้ Asian Development Bank (ADB) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าธนาคารได้ให้การสนับสนุนทางการเงินโดยการให้ EESL กู้เงินสำหรับโครงการของบริษัทในการทำให้การให้แสงสว่างที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง (ในท้องถิ่นใช้ระบบแสงไฟที่ทำงานด้วยการควบคุมระยะไกล) ในปี ค.ศ. 2019 EESL ร่วมกับคู่ค้าเอกชนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ Apollo Hospitals Enterprises กำหนดว่า EESL จะลงทุนสร้าง ใช้งานและบำรุงรักษาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสิ่งปลูกสร้างของโรงพยาบาล ซึ่งอาจมีจำนวนถึง 100 สถานี
รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับการชาร์จแบบอัจฉริยะโดยได้เผยแพร่ “Handbook for Electric Vehicle Charging Infrastructure Implementation” ซึ่งอธิบายว่า EVSE นั้นมีศักยภาพที่จะถูกตั้งโปรแกรมให้ตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อสัญญาณเกี่ยวกับค่าบริการจากผู้ให้บริการระบบจำหน่ายไฟฟ้า ระบบการบริหารจัดการส่วนกลาง เพื่อการใช้งานร่วมกับระบบการคิดค่าไฟฟ้าตามเวลาของวัน (Time-of-Day “TOD”) และการคิดค่าไฟฟ้าตามเวลาดังกล่าว
คู่มือดังกล่าวยังอธิบายต่อไปว่า EVSE ยังสามารถถูกตรวจสอบและบริหารจัดการผ่านแอปพลิเคชั่น โดยออกแบบให้ทำงานร่วมกับบริการเสริมที่รองรับการรับส่งข้อมูล (General Packet Radio Services) การเชื่อมต่อผ่านสายสัญญาณ 3G หรือ 4G และเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ โดย EVSE นั้นสามารถ “แชร์” ข้อมูลเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ากับระบบการชาร์จ การชาร์จอัจฉริยะนั้นจะต้องอาศัยการสื่อสารในหลายระดับ เช่นการสื่อสารระหว่าง EVSE กับระบบการอัดประจุไฟฟ้าและเครือข่ายในการชาร์จ และระบบการบริหารจัดการส่วนกลาง เรียกได้ว่าความอัจฉริยะนั้นต้องอยู่บนฐานของการ “สื่อสาร” และ “ปฏิสัมพันธ์” ของอุปกรณ์การชาร์จ รวมถึงพฤติกรรมการชาร์จ และระบบชาร์จ
SYNOX ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้ระบบการเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet of Things หรือ “IoT”) ซึ่งได้ให้คำอธิบายว่าการชาร์จ EV แบบอัจฉริยะในเมืองอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องอาศัยการทำงาน IoT เนื่องจาก IoT ทำให้ระบบการบริหารจัดการการชาร์จจากระยะไกลทำงานได้ โดยผู้บริหารจัดการปริมาณการจราจรจะสามารถติดตามและควบคุมการจราจรตามเวลาในปัจจุบัน (Real-Time Monitoring)
ระบบ Real-Time Monitoring จะถูกใช้งานผ่าน IoT เพื่อแสดงถึงสถานะของสถานีอัดประจุในเมือง โดยแสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นในการเข้ารับบริการ ตลอดจนปัญหาทางเทคนิคที่กำลังเกิดขึ้น การมีข้อมูลนี้จะช่วยให้การให้บริการชาร์จมีความมั่นคงแน่นอน ต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก นอกจากนี้ IoT ยังช่วยในเรื่องของการคาดหมายเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงได้ โดยการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทำให้สามารถคาดการณ์ความต้องการในการบำรุงรักษาได้ก่อนจะเกิดปัญหาและสามารถช่วยให้ป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการชาร์จได้อีกด้วย
การลงทุนและประกอบการโดย “บริษัท” ซึ่งมีความร่วมมือกับรัฐบาล
การก่อสร้างและใช้งาน “ตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า” ที่รองรับการชาร์จแบบอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องมีการลงทุน เช่นเดียวกันการจะใช้งาน IoT นั้นก็จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบและการใช้งาน ตลอดจนบำรุงรักษา จะเห็นได้ว่า การให้และใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า การบริหารจัดการจราจร และการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับ EV ในเมืองอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องมีการสื่อสาร แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
เพื่อตอบสนองความท้าทายดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาและใช้งาน “โครงสร้างพื้นฐาน” นั้นจะมีทั้งส่วนที่เป็นการก่อสร้างทางกายภาพ เช่น การสร้างแท่นอัดประจุไฟฟ้าหรือการสร้างและใช้งานระบบสายสื่อสาร และจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในส่วน “ดิจิทัล” อีกด้วย หากรัฐจะให้เอกชนช่วยลงทุนแล้วก็เป็นไปได้ว่าจะมีทั้งโครงการร่วมลงทุนแบบเดิมและ “Digital Public Infrastructure” และมีความเป็นไปได้ที่จะมี “Digital Public-Private Partnership” ซึ่ง UNDP ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “Digital Public Infrastructure (“DPI”)” นั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลและ “ช่วยให้การให้บริการสาธารณะ” มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
คำถามที่เกิดขึ้นคือระบบกฎหมายไทยรองรับการดำเนินโครงการร่วมลงทุนให้มี DPI สำหรับการชาร์จ EV แบบอัจฉริยะในเมืองอัจฉริยะหรือไม่ ? ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 นั้น “โครงการ” หมายความว่า โครงการลงทุนของรัฐในกิจการที่หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วยงานรวมกันมีหน้าที่และอำนาจต้องทำตามกฎหมายหรือกฎ หรือที่มีหน้าที่และอำนาจต้องทำตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ส่วน “ร่วมลงทุน” หมายความว่า ร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใด หรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด
เป็นไปได้ที่หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการจะมอบสิทธิให้บริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญและมีทุนลงมือดำเนินการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าในเมืองอัจฉริยะ (เทียบเคียงกับบทบาทของ EESL ในประเทศอินเดีย) และให้บริษัทดังกล่าวพัฒนาและใช้งานระบบ IoT เพื่อรองรับการทำงานของ EVSE ซึ่งอาจเป็นของตัวผู้ใช้งาน EV หรือบริษัทผู้จำหน่าย EV โดยบริษัทเอกชนนี้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการและอาจแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจากการเรียกเก็บค่าบริการจากการใช้สถานีอัดประจุ การใช้งานระบบ IoT ตลอดจนการประมวลผลข้อมูล หากรูปแบบการดำเนินโครงการมีลักษณะนี้ก็ “เป็นไปได้” ที่จะเรียกว่าเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน Public-Private Partnership (PPP)
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการตามกฎหมายนั้นหน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เนื่องจากหากกฎหมาย “ไม่เปิดช่อง” แล้ว การดำเนินโครงการตามกฎหมายก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตามความในมาตรา 7 มิได้ให้คำนิยามว่า “โครงสร้างพื้นฐาน” และ “บริการสาธารณะ” มีนิยามอย่างไรแต่ระบุให้โครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะซึ่งรวมถึง “การขนส่งทางถนน” “การพลังงาน” “การโทรคมนาคม” “การสื่อสาร” และ “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย” ให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้เขียนมีความเห็นว่า สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีศักยภาพรองรับการสื่อสารหลายทิศทางโดยทำงานร่วมกับระบบการบริหารจัดการจราจรของเมืองซึ่งทำงานร่วมกับ CDP ผ่านระบบ IoT โดยระบบและอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกับ EVSE ซึ่งส่งและรับข้อมูลได้แล้ว ทั้ง Hardware และ Software เหล่านี้ควรถือได้ว่าเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการให้บริการชาร์จ EV แต่เป็นบริการแบบอัจฉริยะ หากดำเนินโครงการภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก็จะมีการเสนอโครงการ มีการกลั่นกรอง และดำเนินโครงการตามกรอบที่กฎหมายกำหนด
โดยสรุป การผนวกรวมโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ EV ที่มีศักยภาพรองรับความอัจฉริยะเข้ากับเมืองอัจฉริยะนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพโดยการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และทำให้เมืองนั้นมีคุณภาพด้านการขนส่งและการจราจรที่ดีขึ้นส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้รถยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น อีกทั้งส่งเสริมความเป็น Smart City ของเมือง
อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของโครงการ PPP ซึ่งมี DPI เป็นเนื้อหาโครงการ และมีการชาร์จแบบอัจฉริยะเป็นเป้าหมายแล้ว รัฐจะต้องสร้างความชัดเจนเสียก่อนว่าการดำเนินโครงการลักษณะนี้จะตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือไม่ ?
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 68)
Tags: Power of The Act, SCOOP, รถยนต์ไฟฟ้า, สถานีชาร์จ EV, เมืองอัจฉริยะ, ไบเทค บางนา