Power of The Act: หลักการสำคัญของสัญญาการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม

เราสามารถจ้างให้การไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็น กฟผ. กฟภ. หรือ กฟน. ส่งไฟฟ้าที่ผลิตเองที่บ้านและเป็นส่วนเหลือจากการใช้เองไปส่งมอบให้กับดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียวซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ บ้าน หรือส่งให้โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่ตั้งอยู่อีกจังหวัดหนึ่งซึ่งต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนได้หรือไม่? กรณีนี้เหล่านี้ผู้ผลิตไฟฟ้าไม่ได้จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และจะประสงค์จะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า

การใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์กติกาในทางสัญญาระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการที่ชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนจะต้องไม่ทำให้ความมั่นคงและความแน่นอนของระบบโครงข่ายไฟฟ้าเสียไป

ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเพื่อตอบคำถามดังกล่าวในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access หรือ “TPA”) เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “หลักการสำคัญของสัญญาการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม”

*เรากำลังพูดถึงสัญญาใด ระหว่างใคร และเพื่ออะไร

สิทธิหน้าที่ทางกฎหมายของสัญญาใช้บริการโครงข่าย (Wheeling Service Agreement) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) นั้นมีเนื้อหาแยกต่างหากจากกัน (แม้จะสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด) โดยสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าในความเห็นของผู้เขียนนั้นมีองค์ประกอบสำคัญได้แก่ (1) วัตถุประสงค์และสาระสำคัญของสัญญา (2) การให้และรับบริการทั้งในฝั่งผู้ผลิต (ผู้ขายไฟฟ้า) และผู้ใช้ไฟฟ้า (ผู้ซื้อไฟฟ้า) และ (3) การบริการด้านการจัดการความเสี่ยงทางกฎหมาย

ในส่วนของวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้น จะต้องแสดงถึงความมุ่งหมายของคู่สัญญาในการใช้บริการระบบโครงข่าย ผู้ผลิตไฟฟ้าซึ่งจะขายไฟฟ้าต้องเชื่อมต่อระบบการผลิตไฟฟ้าของตนเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งอาจมิใช่ระบบโครงข่ายของตนเอง หากแต่เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ. ซึ่งมีสถานะเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานที่มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และมีหน้าที่ต้องจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Connection Code) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Service Code) และข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Operation) ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.

บุคคลที่ประสงค์จะใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของบุคคลอื่นมีสิทธิตามมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยจะต้องเสียค่าตอบแทนการใช้บริการระบบโครงข่ายและค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าประกาศซึ่งอาจประกอบด้วย ค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่าย คำบริการส่งผ่านพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรักษาความมั่นคงและความสมดุลของระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยค่าตอบแทนการใช้บริการระบบโครงข่ายและค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

*สัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายมีความสัมพันธ์กับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน

สัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายมีความสัมพันธ์กับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนอย่างใกล้ชิดกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอาจจะมีกำหนดจุดที่ผู้ขายไฟฟ้าจะจ่ายหน่วยไฟฟ้าเข้าไปในระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการระบบโครงข่ายนำเอาไฟฟ้าพลังงานสะอาดไปส่งมอบไปยังจุดรับที่ปลายทาง กล่าวคือสถานที่ที่จะมีการใช้ไฟฟ้าโดยผู้ซื้อ คำถามคือ ผู้ซื้อไฟฟ้านั้นใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า (เช่น ระบบจำหน่ายของ กฟน. หรือ กฟภ.) จริงแต่ผู้ใช้ไฟฟ้า (ซึ่งถือว่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตต้นทาง) อาจไม่ได้ใช้ว่าหน่วยไฟฟ้าประจุเดียวกันกับที่ผู้ผลิต (ผู้ขาย) ได้จ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อให้มีการส่งผ่านไฟฟ้า

สัญญาซื้อขายสินค้าทั่ว ๆ ไปนั้น ทรัพย์สินที่มีการซื้อขายจะเป็น “ชิ้นเดียวกับสิ่งที่ถูกเลือก” และผู้ซื้อมักจะได้รับสิ่งของตามที่ท่านตกลงกันไว้ในสัญญา เช่น ผู้ซื้อได้เลือกแจกัน “ใบนี้” แล้วผู้ขายก็ต้องเอาแจกันใบที่ถูกเลือกให้กับผู้ขนส่ง ผู้ขนส่งก็จะต้องนำเอาแจกันใบนี้ไปส่งมอบให้กับผู้ซื้อ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุของการซื้อขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นเป็น “ไฟฟ้า” ซึ่งไฟฟ้าที่ถูกจ่ายเข้าระบบโครงข่ายนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยไฟฟ้าหน่วยเดียวกับที่ถูกใช้ปลายทาง และถึงแม้ว่าผู้ใช้ไฟฟ้า (ผู้ซื้อไฟฟ้า) จะไม่ได้รับหน่วยหรือประจุไฟฟ้าเดียวกันกับที่ผู้ผลิตจ่ายเข้าระบบโครงข่ายก็ตาม แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถใช้ไฟฟ้า (และอ้างได้ว่าใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน) ตามปริมาณตามที่ตกลงกับผู้ขายไฟฟ้า

ผู้เขียนเห็นว่าการเอาหน่วยไฟฟ้าเข้าไปในระบบโครงข่ายไฟฟ้าและส่งมอบไฟฟ้าไปยังปลายทางนั้นเทียบได้กับการที่เราฝากธนบัตรเข้าไปที่ตู้รับฝากเงินต้นทาง และเราไปกดเงินจำนวนที่เรามีในบัญชีจากตู้กดเงินสดปลายทาง ธนบัตรที่ถูกกดออกมาจากตู้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นธนบัตรใบเดียวกับใบที่เราใส่ที่ตู้รับฝากเงินต้นทาง

*วัตถุประสงค์ของสัญญาการจัดสิทธิและอายุสัญญา

การรับไฟฟ้าจากจุดรับเพื่อไปส่ง ณ จุดส่งไฟฟ้าแต่ไฟฟ้านั้นเดินทางผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายโครงข่ายต่างรายกัน (อาจเป็นระบบโครงข่ายของ กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ.) และในระหว่างการขนส่งอาจมีความไม่เสถียรของระบบโครงข่ายทำให้เกิดไฟฟ้าตกหล่นไปได้ เทียบได้กับการที่ทีมขนส่งสินค้าใช้รถขนส่งหรืออุปกรณ์เพื่อขนส่งหลายส่วนประกอบกันและมีรถบางคันในทอดการขนส่งนั้นเสียระหว่างทางทำให้สินค้าไปไม่ถึง หรืออาจจะเป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการขนส่งได้นำส่ง “ของที่มีน้ำหนักเกิน” กว่าที่ตกลงกันจนกลายเป็นภาระของ “ทีมผู้ขนส่ง” ทั้งทีม

ผู้เขียนได้นำเสนอแนวทางการบริการจัดการเพื่อการให้บริการโดยเทียบกับวิธีการบริการจัดการขององค์ระบบส่งไฟฟ้า PJM ซึ่งเป็นองค์กรที่มีภารกิจในการบริการจัดการระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับตลาดค้าส่งไฟฟ้าในพื้นที่ 13 มลรัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา แนวทางของ PJM ให้ความสำคัญกับกระบวนการยื่นคำขอใช้บริการระบบโครงข่ายและการจัดสรรสิทธิในการใช้บริการระบบส่งไฟฟ้าของ โดย PJM จะแบ่งเป็นกระบวนการสำหรับการใช้บริการแบบ “Firm” และ “Non-Firm” และยังแบ่งออกเป็นการใช้บริการระยะยาวและระยะสั้น

การให้บริการระยะยาวแบบ Firm นั้น จะมีระยะเวลาขั้นต่ำ 1 ปี (ส่วนจะเป็นกี่ปีให้ตกลงกันสัญญา) ส่วนการให้บริการระยะสั้นแบบ Firm นั้นจะมีกำหนดเวลาเป็น เดือน สัปดาห์หรือวัน ซึ่งอาจจะมีราคาที่สูงกว่าแบบ Non-Firm เนื่องจากเป็นการจองสิทธิแบบที่เมื่อจองแล้วจะต้องใช้ศักยภาพของระบบโครงข่ายอย่างแน่นอนผู้ให้บริการระบบโครงข่ายต้องวางแผนจะดำเนินการให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีศักยภาพรองรับการใช้บริการดังกล่าวอย่างแน่นอน ส่วนการให้บริการแบบ Non-Firm ซึ่งเป็นให้บริการระบบโครงข่ายตามศักยภาพที่เหลือจากการให้บริการแบบ Firm เท่านั้น จะมีระยะเวลาของสัญญาตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 1 เดือน เท่านั้น

ปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงสุดตามสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Contracted Capacity) คือปริมาณที่ผู้ใช้บริการฝ่ายผู้ผลิต (ผู้ขาย) ตกลงจะจ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ณ จุดรับไฟฟ้าต้นทาง เพื่อให้ผู้ให้บริการระบบโครงข่ายส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าไปยังจุดส่งตามสัญญา ในสัญญาบริการระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้น “จุดรับ (Entry Point)” จึงหมายถึงจุดที่ผู้ใช้บริการจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าไปในระบบโครงข่ายไฟฟ้าของผู้ให้บริการ ส่วน “จุดส่ง (Exit Point)” หมายถึงจุดที่ผู้ให้บริการต้องส่งมอบพลังงานไฟฟ้าตามปริมาณที่ผู้ใช้บริการ (ฝ่ายผู้ผลิต) จ่ายเข้าสู่ระบบโครงข่าย ณ จุดรับ

โดยหลักการแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายนั้นควรที่จะกำหนดกรอบของอายุสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายให้อยู่มีอายุสัญญาให้เท่ากับหรือไม่น้อยกว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนเพื่อให้เป็นการสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

*สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า

สัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้นควรมีการกำหนดหน้าที่ความผิดและส่งมอบหลักประกันในความรับผิดชอบเพื่อว่าตนจะปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา หรือความเสียหายอันเกิดจากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา ข้อสำคัญ คือ สัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายนั้นควรระบุให้ชัดเจนว่าพลังงานไฟฟ้าที่ผู้ผลิตจ่ายเข้าระบบโครงข่ายและจะถูกส่งมอบไปยังจุดส่งปลายทางไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วย (อิเล็กตรอน) ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตจ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า ขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทางสามารถใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามปริมาณที่ตกลงซื้อก็ย่อมถือเป็นการที่มีการส่งไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแล้ว

ในการให้บริการระบบโครงข่ายนั้น ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการระบบจำหน่ายไฟฟ้าและระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาใช้บริการระบบโครงข่าย โดยสอดคล้องกับข้อกำหนดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า ข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า และเพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรในโครงข่ายจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติการระบบโครงข่ายไฟฟ้า แต่หากผู้ใช้บริการ (ฝ่ายผู้ผลิต) จ่ายไฟฟ้าเกินจากปริมาณที่กำหนด สามารถกำหนดให้ผู้ให้บริการ (ณ จุดรับ) ซื้อไฟฟ้าส่วนเกินได้ และหากเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนก็ให้ผู้ซื้อได้รับใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ด้วย ผู้ให้บริการระบบโครงข่ายที่ต้องรับซื้อไฟฟ้าควรจะได้รับ REC ด้วย

*หน้าที่รักษาความสมดุลและเสริมสร้างความมั่นคงของระบบโครงข่ายไฟฟ้าของผู้ให้บริการ

การผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนนั้นมีลักษณะไม่แน่นอน ส่งผลให้ไฟฟ้าที่จะมีการจ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยผู้ผลิตอาจมีปริมาณไม่แน่นอน ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทางยังคงใช้ไฟฟ้าปริมาณเท่าเดิมมิได้ผันแปรไปตามปริมาณที่หน่วยไฟฟ้าถูกจ่ายเข้า ณ จุดรับต้นทาง สัญญาให้บริการระบบโครงข่ายจึงควรกำหนดวิธีการการคำนวณความไม่สมดุลของการรับและใช้หน่วยไฟฟ้า (Imbalance) เช่น ผู้ผลิตตกลงว่าจะจ่ายหน่วยไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไม่เกิน 100 หน่วย เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทางสามารถใช้ไฟฟ้าได้ 100 หน่วย แต่ผู้ผลิตกลับจ่ายหน่วยไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ 150 หน่วย หรือจ่ายหน่วยไฟฟ้าเพียง 70 หน่วย ทั้งสองกรณีนี้จะทำให้ผู้ให้บริการระบบโครงข่ายมีภาระหน้าที่ต้องรักษาความสมดุลของระบบโครงข่ายไฟฟ้าและมีสิทธิคิดว่าบริการรักษาความสมดุลดังกล่าวได้ และมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการเพื่อการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่ได้จ่ายไปเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าตามสามารถที่จะคิดอัตราค่าบริการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงได้

อีกทั้ง เมื่อการส่งผ่านไฟฟ้าในกรณีนี้อาจเป็นความร่วมมือกันของ กฟผ. กฟน. หรือ กฟภ. ผู้เขียนจึงเสนอให้การไฟฟ้าที่ให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ร่วมกันให้บริการระบบโครงข่ายควรที่จะมีการจัดความตกลงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อขนส่งกระแสไฟฟ้าร่วมกัน

*ดัชนีชี้วัดคุณภาพบริการระบบโครงข่ายและการคิดค่าบริการระบบโครงข่าย

ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าใด ๆ ควรมีการชี้วัดระดับของคุณภาพการให้บริการส่งไฟฟ้า ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าผู้ให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีหน้าที่ให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ดีและมีรักษาระดับของคุณภาพการให้บริการเพื่อให้ผู้รับบริการ (ฝ่ายผู้ใช้ไฟฟ้า) ได้รับบริการโดยมีคุณภาพและมาตรฐานไม่ต่ำกว่าดัชนีความเชื่อถือได้ของโครงข่ายเพื่อรับบริการซึ่งเป็นตามมาตรฐานการให้บริการด้านกิจการไฟฟ้าประเภทใช้อนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าที่ กกพ. ประกาศกำหนด และควรมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดหากเกิดคุณภาพต่ำกว่าดัชนีมาตรฐาน นอกจากนี้ ควรมีข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ใช้บริการระบบโครงข่ายติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวัดหน่วยไฟฟ้าที่ผู้ผลิตจ่ายเข้าระบบโครงข่าย และหน่วยไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ใช้จากระบบโครงข่ายไฟฟ้า

เมื่อผู้ใช้บริการระบบโครงข่ายได้ใช้บริการระบบโครงข่ายแล้วก็จะต้องเสียค่าตอบแทนการใช้บริการระบบโครงข่าย ซึ่งคิดบนข้อมูลที่ถูกบันทึกตามเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวัดหน่วยไฟฟ้า ค่าบริการโครงข่ายผู้ใช้บริการมีหน้าที่ชำระค่าบริการตามที่ผู้ให้บริการโครงข่ายได้ออกใบแจ้งหนี้ หรือเรียกเก็บเพราะมีการวัดจากเครื่องมือวัด ซึ่งการเรียกเก็บอาจสามารถจะถูกเรียกเก็บเงินแตกต่างกันตามค่าบริการส่งผ่านไฟฟ้าและค่าบริการเพื่อรับหน่วยไฟฟ้าอาจคิดแยกกันได้

*การบริการด้านการจัดการความเสี่ยงทางกฎหมาย

ภายหลังจากที่สัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีผลบังคับใช้แล้ว หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนจะสามารถเปลี่ยนแปลงตามภายหลังได้ ผู้ให้บริการระบบโครงข่ายอาจจะเรียกเก็บราคาค่าบริการที่สูงเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นแต่จะต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นราคาต้นทุนที่แท้จริง กกพ. มีอำนาจเห็นชอบ แต่หากค่าบริการดังกล่าวมีราคาสูงเกินไปสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายก็ควรให้สิทธิผู้ใช้บริการเลิกสัญญาได้ที่การไฟฟ้าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาก่อนสิ้นอายุสัญญาดังกล่าว

ในระหว่างที่สัญญาใช้บริการมีผลบังคับ คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดในสัญญานี้ เป็นเหตุให้เลิกสัญญาจะต้องมีหน้าที่รับผิดตามไว้ที่ระบุในสัญญา แต่ไม่รวมถึงเหตุสุดวิสัยหากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานี้เนื่องจากเหตุสุดวิสัย สัญญาฉบับนี้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป แต่คู่สัญญาฝ่ายที่มิอาจปฏิบัติการตามสัญญาเพราะประสบเหตุสุดวิสัยมีสิทธิพักการปฏิบัติการตามสัญญาในช่วงเวลาที่เกิดสุดวิสัยนั้น กรณีเกิดการผิดสัญญาและฝ่ายที่ผิดต้องถูกเรียกค่าเสียหายหรือค่าปรับตามสัญญา ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกร้องย่อมสามารถบังคับหลักประกันที่ถูกส่งมอบเอาไว้ได้

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าผู้ใช้บริการระบบโครงข่ายควรจะสามารถโอนสิทธิการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตนตามสัญญาซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นสิ่งที่มูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับบุคคลอื่นในกรณีการรวมกิจการที่ตกอยู่ในบังคับการต้องแจ้งความประสงค์และขออนุญาตจาก กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการโอนสิทธิ

โดยสรุป หากมีการพัฒนาและใช้สัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าตามแนวทางข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า “เรา” จะสามารถจ้างให้การไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็น กฟผ. กฟภ. หรือ กฟน. ส่งไฟฟ้าที่ผลิตเองที่บ้านและเหลือจากการใช้เองนำไปส่งมอบให้กับดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียวซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ บ้านได้ โดยสัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายนี้จะหน้าที่เป็น “สะพาน” ที่เชื่อมโยงการส่งมอบไฟฟ้าอันเป็นวัตถุของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกันเอง

ในกรณีที่ “เรา” จะขายไฟฟ้าที่ผลิตเองให้โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่ตั้งอยู่อีกจังหวัดหนึ่งซึ่งต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาด สัญญาใช้บริการระบบโครงข่ายนี้จะเปิดโอกาสให้การส่งมอบหน่วยไฟฟ้านั้นเกิดขึ้นในลักษณะการส่งมอบแบบเสมือนแต่เป็นรูปแบบที่มีการตรวจวัดว่ามีการจ่ายหน่วยไฟฟ้าสะอาดเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.พ. 67)

Tags: , , ,