Power of The Act: ก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชาเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงาน

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับทิศทางและนโยบายด้านพลังงานของประเทศ โดยรัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการ “สำรวจหาพัฒนาพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนพลังงาน”

นโยบายดังกล่าวมีประเด็นข้อกฎหมายที่ควรวิเคราะห์หลายประเด็นและ “หลายคู่” ทั้งคู่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (ประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา) และคู่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (ทั้งสองประเทศ) กับผู้ประกอบการที่จะลงมือสำรวจและผลิตพลังงาน

รัฐกับรัฐตกลงกันให้มีการสำรวจและผลิตพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนได้หรือไม่ ?

ปิโตรเลียม ณ แหล่งกำเนิดนั้นเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ รัฐบาลส่วนใหญ่จึงมักจะประกาศความเป็นเจ้าของเหนือทรัพยากรปิโตรเลียม ณ แหล่งกำเนิด ผลทางกฎหมายคือ รัฐมีอำนาจที่จะสำรวจ ผลิต และหาประโยชน์จากทรัพยากร “ของรัฐ” ดังกล่าวได้ หรือจะเปิดโอกาสให้บุคคลอื่น เช่น บริษัทพลังงานเอกชนขอรับสิทธิการสำรวจและผลิตจากรัฐเจ้าของทรัพยากรได้

อย่างไรก็ตาม รัฐจะประกาศความเป็นเจ้าของเหนือทรัพยากรปิโตรเลียม ณ แหล่งกำเนิด “ใด” ได้นั้นจะต้องคำนึงถึง “พื้นที่” ที่ตนมีเขตอำนาจ (Jurisdiction) อีกด้วย รัฐนั้นไม่สามารถประกาศความเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมได้ตามดุลพินิจของตน และยิ่งกว่านั้นคือไม่อาจประกาศความเป็นเจ้าของเหนือทรัพยากรปิโตรเลียม ณ แหล่งกำเนิดที่อยู่ดินแดนหรือพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของรัฐอื่นได้

หลักการนี้ถูกสะท้อนเอาไว้อย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งมาตรา 5 บัญญัติเอาไว้ว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การประกอบกิจการปิโตรเลียมทั่วราชอาณาจักร” และ “ราชอาณาจักรไทย” นั้นก็ได้ถูกบัญญัตินิยามตามมาตรา 4 ให้ “หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป และตามสัญญากับต่างประเทศด้วย”

แต่หากรัฐชายฝั่งสองรัฐต่างเข้าใจว่าพื้นที่ทางทะเลรวมถึงเขตไหล่ทวีปนั้น “ควรเป็นของตน” จึงอาจเกิดพื้นที่ทับซ้อนซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิในการครอบครองใช้ประโยชน์ได้ (หรือที่มักเรียกกันว่า “Overlapping Claims Areas”) โดยผู้เข้าใจว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาต่างอ้างสิทธิเหนือไหล่ทวีปทับซ้อนกัน โดยมีบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. 2001′ หรือ “MOU ปี 2544”

ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา (เผยแพร่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567) ให้ข้อมูลว่า MOU 2544 เป็นเครื่องมือที่กระทรวงการต่างประเทศใช้เป็นกรอบและแนวทางในการเจรจาในเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย มีความเห็นว่า MOU 2544 มีประโยชน์ เพื่อใช้เป็นกรอบและพื้นฐานในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย จะใช้หลักวิชาการและหลักกฎหมายระหว่างประเทศในการเจรจาทุกครั้ง (ให้ข้อมูลโดยนางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (กระทรวงการต่างประเทศ)

ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2565 และเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ไทยและกัมพูชา ซึ่ง JTC เป็นกลไกที่กัมพูชาให้การยอมรับ และพูดคุยเพื่อทำให้เกิดผลความคืบหน้า

หากมองจากมิติด้านการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียม ผู้เขียนสามารถตั้งคำถามได้ว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชานั้นสามารถ “ตกลงกันเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียม ณ แหล่งกำเนิด” ที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่เป็นพื้นที่พิพาทโดยกระทบต่อการบูรณภาพแห่งขอบเขตของไหล่ทวีปได้หรือไม่ ?

ร่วมกันแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแม้ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ได้

เมื่อเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐจึงต้องพิจารณาถึงกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศ (Public International Law) และเมื่อเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐทางทะเลจึงต้องพิจารณาอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 1982 (“UNCLOS”) ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันใน UNCLOS เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 โดย UNCLOS มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ตามข้อกำหนดในอนุสัญญาฉบับดังกล่าว

ในขณะที่เว็บไซด์ The Phnom Penh Post ได้รายงาน (เผยแพร่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562) ว่าสภาแห่งชาติ (National Assembly) ของกัมพูชามีเสียงเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมายที่เป็นการให้สัตยาบัน UNCLOS โดยมีเหตุผลสนับสนุนว่า UNCLOS นั้น “วางระบบแห่งกฎหมายและระเบียบที่ครบถ้วนสมบูรณ์เกี่ยวกับมหาสมุทรและทะเลของโลก โดยกำหนดถึงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรในมหาสมุทร”

ตามข้อ 76 วรรคหนึ่งของ UNCLOS ไหล่ทวีปของรัฐชายฝั่ง ประกอบด้วย พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเล ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตของรัฐตลอดส่วนต่อออกไปตามธรรมชาติของดินแดนทางบกของตนจนถึงริมนอกของขอบทวีปหรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานซึ่งความกว้างของทะเลอาณาเขตในกรณีที่ริมนอกขอบทวีปขยายไปไม่ถึงระยะนั้น

และข้อ 77 วรรคหนึ่งของ UNCLOS กำหนดว่า “รัฐชายฝั่งใช้สิทธิอธิปไตยเหนือไหล่ทวีปเพื่อความมุ่งประสงค์ในการสำรวจไหล่ทวีปและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของไหล่ทวีป” ข้อ 77 วรรคสี่ยังกำหนดต่อไปอีกว่า “ทรัพยากรที่อ้างถึงในภาคนี้ประกอบด้วยแร่และทรัพยากรไม่มีชีวิตอย่างอื่นของพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดิน รวมทั้งอินทรียภาพมีชีวิตซึ่งจัดอยู่ในชนิดพันธุ์ที่อยู่ติดที่ดิน กล่าวคือ อินทรียภาพซึ่งในระยะที่อาจจับได้นั้นไม่เคลื่อนที่ไปบนหรือใต้พื้นดินท้องทะเล หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เว้นแต่โดยการสัมผัสทางกายภาพอยู่เสมอกับพื้นดินท้องทะเลหรือดินใต้ผิวดิน”

ส่วน ข้อ 81 ของ UNCLOS กำหนดว่า “รัฐชายฝั่งแต่ผู้เดียวที่จะอนุญาตและวางกฎเกณฑ์การขุดเจาะบนไหล่ทวีป”

ในกรณีการกำหนดขอบเขตของไหล่ทวีประหว่างรัฐที่มีฝั่งทะเลตรงข้ามหรือประชิดกันนั้น ข้อ 83 วรรคหนึ่งของ UNCLOS กำหนดให้รัฐต้องกระทำโดยความตกลงบนมูลฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่อ้างถึงในข้อ 38 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุผลอันเที่ยงธรรม

และที่สำคัญวรรคสามกำหนดว่า “ในระหว่างที่ยังไม่สามารถบรรลุความตกลงตามที่กำหนดในวรรคหนึ่ง รัฐที่เกี่ยวข้องจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะจัดทำข้อตกลงชั่วคราวซึ่งมีลักษณะที่ปฏิบัติได้ ด้วยเจตนารมณ์แห่งความเข้าใจและความร่วมมือกัน และในช่วงระยะเวลานี้จะพยายามไม่ทำให้เสื่อมเสียหรือขัดขวางการทำความตกลงขั้นสุดท้าย ข้อตกลงเช่นว่านี้จะไม่เป็นการเสื่อมเสียต่อการกำหนดขอบเขตขั้นสุดท้าย”

โดยอาศัยฐานของข้อ 83 ข้างต้น รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาสามารถสร้างความร่วมมือชั่วคราวเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ฝังตัวอยู่ในเขตไหล่ทวีปซึ่งยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ทั้งสองประเทศยังต่างอ้างสิทธิเหนือได้ โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าความตกลงนี้จะไม่กระทบต่อการกำหนดขอบเขตของไหล่ทวีป กล่าวได้ว่า ทั้งสองประเทศสามารถอาศัย UNCLOS ตกลงกันแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนโดยไม่กระทบบูรณภาพแห่งดินแดนได้

ประเทศไทยเคยมีการสร้างความตกลงเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมกับประเทศเพื่อนบ้านกล่าวคือประเทศมาเลเซียซึ่งเรียกว่า “พื้นที่พัฒนาร่วม” ซึ่งพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 บัญญัติให้หมายถึง “พื้นที่ในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียในอ่าวไทยตามมาตรา 9” ความตกลงนี้ได้มีการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียขึ้น และที่สำคัญคือมาตรา 17 บัญญัติ “ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากองค์กรร่วมประกอบธุรกิจการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติใด ๆ รวมทั้งปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม เว้นแต่จะได้มีการทำสัญญาระหว่างองค์กรร่วมกับผู้นั้นเพื่อสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าว”

หากมีองค์กรร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อร่วมกันแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน ?

หากรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาบรรลุการเจรจาสร้างความตกลงชั่วคราวเฉพาะเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นทับซ้อนบนพื้นฐานของ UNCLOS ได้ คำถามต่อไปคือ ประเทศไทยจะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากความตกลงนี้ รัฐบาลจะสามารถบรรลุนโยบายด้านพลังงานได้จาก “OCA” จริงหรือไม่ ?

ช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ OCA โดยรายงานว่าเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ชี้ว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันของไทยกับกัมพูชาจะเป็นทางออกของไทยในการแก้ปัญหาไฟฟ้าราคาแพงในระยะยาว โดยต้องเร่งพัฒนาเพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในช่วง Energy Transition ที่เชื้อเพลิงฟอสซิลยังมีความสำคัญ

ทางสำนักงาน กกพ. ยังให้ข้อมูลอีกว่า “พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทยมีการประเมินว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะสำรวจพบปิโตรเลียม เพราะอยู่ในโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ ที่เรียกว่าแอ่งปัตตานี เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ ปลาทอง ไพลิน ฟูนัน บรรพต ในอ่าวไทยที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์มาจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน 50 ปี และยังมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่” และ “ก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่เชื้อเพลิงทดแทนอื่น ๆ ที่สะอาดกว่า ที่มีระยะเวลาเหลืออีกประมาณ 30 ปี เท่านั้น”

จากข้อมูลข้างต้น ผู้เขียนเข้าใจว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลไทยกำลังมุ่งหวังให้ปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้นจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กล่าวคือ ในช่วงที่ระบบพลังงานของไทยมีแนวโน้มเริ่มรับเอาพลังงานที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนมากขึ้น ระบบพลังงานของไทยยังคงต้องรับเอาพลังงานเดิม เช่น พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาอีกด้วย เพื่อให้ระบบพลังงานมีพลังงานมั่นคงและเพียงพอ

เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากพื้นที่ทับซ้อนนี้จะสามารถถูกใช้โดยผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทย? หากเป็นกรณีการผลิตปิโตรเลียมในเขตอำนาจรัฐของประเทศไทย คำถามเช่นนี้ตอบไม่ยาก เพราะพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 บัญญัติให้การขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เพื่อใช้ภายในราชอาณาจักร ให้ผู้รับสัมปทานหรือสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่ขายในราคาที่รัฐกำกับอย่างใกล้ชิด รัฐสามารถกำหนดให้สัญญาแบ่งปันผลผลิตมีข้อกำหนดให้ผู้รับสัญญาต้องขายหรือจำหน่ายภายในประเทศไทย รวมทั้งขายหรือจำหน่ายให้แก่รัฐบาลเพื่อใช้ในโครงการใด ๆ ที่รัฐบาลส่งเสริม (โปรดดู ข้อ 7 ของแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตตาม กฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561) หากรัฐบาลกัมพูชาต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงทางพลังงานเช่นกัน ก็ย่อมจะต้องมีการเจรจากันในประเด็นนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่อาจใช้อำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติที่ถูกผลิตขึ้นในพื้นที่ทับซ้อนได้เพียงฝ่ายเดียว

หากแม้เจรจาได้ ผู้เขียนยังมีข้อสังเกตสำคัญอีกข้อเกี่ยวกับการต้องใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า เป็นไปได้ที่ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนนี้จะทำสัญญาขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งไฟฟ้านี้จะถูกขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในท้ายที่สุด คำถามคือ ผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้าจะเรียกให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาตินี้ผลิตไฟฟ้าเพื่อจ่ายเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศเมื่อใด ?

ตามข้อ 5 ของประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า พ.ศ. 2564 ผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้าต้องสั่งเดินเครื่องประเภท Must Take เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และประเภท Minimum Take ซึ่งเป็นการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอันเนื่องจากข้อกำหนดตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ “ก่อน” โรงไฟฟ้าประเภท Merit Order ซึ่งเป็นการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอันเนื่องจากข้อกำหนดตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ

ข้อกำหนดนี้ “อาจ” ส่งให้เกิดภาพของระบบพลังงานที่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยถูกบังคับให้ต้องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนจะมีราคาลดลง ผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้าก็ยังต้องเลือกไฟฟ้าแบบ Must Take ก่อน นอกจากไฟฟ้าที่ถูกจ่ายจากระบบโครงข่ายจะยั่งยืนน้อยกว่าแล้วยังอาจมีราคาแพงกว่าไฟฟ้าสะอาดอีกด้วย เป็นไปได้หรือไม่หากมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวที่อาจมีขึ้นนั้นจะมีความยืดหยุ่นให้กับผู้ซื้อในการลดการรับซื้อก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ (โดยยังคำนึงถึง Bankability ของโครงการอยู่)

หากระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งมีศักยภาพโครงข่ายอย่างจำกัดถูกใช้เพื่อไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติแล้ว ระบบโครงข่ายย่อมมี “ศักยภาพระบบโครงข่ายเพื่อไฟฟ้าสะอาดที่เอกชนอาจจะซื้อขายกันเองโดยตรง” อีกด้วย เอกชนที่ผลิตไฟฟ้าสะอาดและจะขายกันเองโดยอาศัยระบบโครงข่ายของรัฐตามระบบ (Third Party Access) และอาจเผชิญความลำบากที่จะขอใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อส่งมอบไฟฟ้าสะอาดให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นส่งมอบทางกายภาพหรือแบบเสมือน เพราะหากภาพเป็นแบบดังกล่าวนโยบายการซื้อขายพลังงานโดยตรง (Direct PPA) ก็อาจบรรลุผลได้ยาก

โดยสรุป รัฐบาลไทยสามารถอาศัย UNCLOS เป็นฐานในการเจรจาเพื่อสร้างความตกลงชั่วคราวกับรัฐบาลกัมพูชาตกลงกันแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซื้อโดยไม่กระทบบูรณภาพแห่งขอบเขตไหล่ทวีปได้ แต่การกำหนดให้ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้นั้นจะต้องมีการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาอย่างรัดกุม แม้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จะสามารถถูกใช้เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ก็ควรมีการเตรียมการอย่างรอบคอบไม่ทำให้ระบบไฟฟ้าบังคับให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากจนขัดขวางการเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,