เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567 กรุงเทพธุรกิจได้เผยแพร่รายงานข่าวจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรนอกสถานที่ จ.พะเยา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567 ว่า “กฟผ.” ส่อแววเจ๊ง! หาก “เอกชน” ซื้อ-ขายไฟสะอาดเสรี
เนื้อหาประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือกันนั้นคือต้องการความชัดเจนของด้านพลังงานทดแทนถึงมาตรการ “direct PPA” โดยอ้างถึง “แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน” ระบุว่า จากมาตรการ direct PPA มองว่าจะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสียประโยชน์และได้รับผลกระทบทันที เนื่องจากทั้ง 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะต้องเปิดระบบสายส่งให้เอกชนสามารถซื้อขายไฟสะอาดกันเองได้ ลูกค้าก็จะไหลออกจากระบบ กฟผ. ดังนั้น หากจะทำให้ไม่กระทบมากนัก ก็อาจจะทำเป็นพื้นที่ เช่น เฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกทั้งควรกำหนดจำนวนเมกะวัตต์ด้วย เป็นต้น
“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเอกชนที่เคยซื้อไฟจากการไฟฟ้าก็จะไหลออกไปซื้อขายกันเอง ซึ่งตอนนี้ทั้งรัฐและเอกชนก็มีการทดลองซื้อขายรูปแบบ ERC Sandbox อยู่ ดังนั้น หากเอกชนซื้อขายกันได้หมด กฟผ.เจ๊งแน่นอน” แหล่งข่าว กล่าว
ผู้เขียนเห็นว่าความคิดเห็นของ “แหล่งข่าว” ที่ถูกอ้างถึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้ใช้พลังงาน จึงอยากชวนมาคิดวิเคราะห์ คำว่า “เจ๊ง” จากนิยามของคำศัพท์ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยามว่าหมายถึง “(1) เลิกล้มกิจการเพราะหมดทุน” และ “(2) สิ้นสุด” ดังนั้น การคิดวิเคราะห์สามารถเริ่มต้นจากความมั่นคงและมั่งคั่งของ กฟผ. ตามโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในปัจจุบันก่อน เพื่อพิจารณาต่อไปว่าหากจะมีการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดระหว่างเอกชนแล้วจะส่งผลให้ กฟผ. ต้องเลิกหรือสิ้นสุดการประกอบกิจการหรือไม่
กฟผ. เป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีสภาพการประกอบธุรกิจที่ดีและมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเป็นอย่างยิ่ง ในมิติของการประกอบธุรกิจนั้น กฟผ. มีกำลังผลิตตามสัญญาของระบบจำนวน 16,237.02 เมกะวัตต์ คิดเป็น 32.75% ของระบบรวมทั้งสิ้น 49,571.79 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่เหลือ กฟผ. จะซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตอื่น เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระหรือผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายเล็ก (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567)
กฟผ. จะจ่ายและขายไฟฟ้า (แรงดันสูงในระดับค้าส่ง) ทั้งที่ผลิตได้เองและรับซื้อมาผ่านระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ.ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ กฟน. และ กฟภ. และลูกค้าตรง เป็นโครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhanced Single Buyer (ESB) ตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ทำให้ กฟผ. เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดค้าส่งไฟฟ้าของประเทศไทย
รายรับของ กฟผ. จากการประกอบกิจการข้างต้นอยู่ภายใต้ข้อบังคับของ ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กรอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า (Electricity Tariff Regulatory Framework) พ.ศ. 2565 โดยข้อ 8 ของประกาศกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าฐาน (Base Tariff) โดยไม่ทำให้มีรายรับเกินกว่ารายรับพึงได้สูงสุด (Maximum Allowed Revenue)
การพิจารณารายได้พึงได้รับสูงสุด นั้น ข้อ 9 ของประกาศกำหนดให้ กกพ. พิจารณาตามประเภทใบอนุญาต อันประกอบด้วย ประมาณการค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ฐาน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และผลตอบแทนการลงทุนแต่ละปีในรอบการกำกับที่เหมาะสมและจำเป็น (Prudent Cost of Service) ตามมาตรฐานการประกอบกิจการไฟฟ้าแต่ละประเภทที่มีประสิทธิภาพ โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้า ประมาณการค่าใช้จ่ายดำเนินงานจากต้นทุนการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า (Prudent Cost of Service) โดยประมาณการจากค่าซื้อไฟฟ้าจากแต่ละสัญญาตามข้อ 10(1)(ก) ของประกาศ กกพ. เรื่องกรอบอัตราค่าไฟฟ้าฯ
ผลก็คือต้นทุนจากการที่ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ย่อมเป็นต้นทุนที่นับเป็นค่าใช้จ่ายได้และสามารถส่งผ่านมายัง กฟน. และ กฟภ. เพื่อเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ดังนั้น จึงเป็นการสมเหตุสมผลที่โรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าให้ กฟผ. จะมีรายรับที่มั่นคง และผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการนั้น ๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ที่ให้เงินกู้โครงการแบบสินเชื่อโครงการ (Project Finance) จะมั่นใจในศักยภาพการคืนเงินกู้แก่ธนาคาร ในทางปฏิบัติธนาคารมักจะมีความมั่นใจว่า กฟผ.จะมีศักยภาพในการจ่ายเงินเพื่อซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเหล่านี้
ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 รายได้ที่ กฟผ. ได้รับจากการดำเนินกิจการให้ตกเป็นของ กฟผ. สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย และรายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักรายจ่ายแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเข้ารัฐ ปรากฏว่า กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2567 เป็นจำนวนเงิน 16,841 ล้านบาท มากกว่า กฟภ. ซึ่งอยู่อันดับ 7 (นำส่ง 1,468 ล้านบาท) และ กฟน. ซึ่งอยู่อันดับ 8 (นำส่ง 1,000 ล้านบาท) (ข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ เผยแพร่วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2567)
ผู้เขียนเห็นว่าการจะพิจารณาว่ารายรับและความมั่งคั่งของ กฟผ. จะลดลงหรือได้รับผลกระทบหรือไม่นั้น สามารถพิจารณาได้จากการตั้งและตอบคำถามว่า การซื้อขายไฟฟ้าสะอาดระหว่างเอกชนนั้นมีรูปแบบลักษณะเช่นเดียวกับการประกอบกิจการของ กฟผ. หรือไม่ และการเกิดขึ้นของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนนี้จะมีโอกาสส่งผลต่อรายรับของ กฟผ. หรือไม่
การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟผ. กับของเอกชนซึ่งซื้อขายไฟฟ้าสะอาดแบบกระจายตัวนั้นเป็นการประกอบกิจการที่แตกต่างกันและมีความเป็นไปได้ที่จะอยู่กันคนละตลาด คำว่า “เปิดเสรี” เป็นคำที่มีความกว้างและแตกต่างกันไปตามรูปแบบการประกอบกิจการได้หลายรูปแบบ เช่น การผลิตและขายไฟฟ้าโดยผู้ใช้ไฟฟ้าเอง และการผลิตและขายไฟฟ้าโดยโครงการผลิตไฟฟ้าสะอาดซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เลือกซื้อไฟฟ้าสะอาดเป็นทางเลือกควบคู่ไปกับไฟฟ้าจากระบบจำหน่าย
สำหรับรูปแบบการผลิตและขายไฟฟ้าโดยผู้ใช้ไฟฟ้าเอง การผลิต รับซื้อ ขาย และส่งไฟฟ้าของ กฟผ. นั้นเป็นการผลิต รับซื้อ ขาย และส่งไฟฟ้าแรงดันสูงปริมาณมากผ่านระบบส่งไฟฟ้า เพื่อทำให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีปริมาณไฟฟ้าเพียงพอที่จะส่งผ่านไปให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทางผ่านระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ.
ส่วนการผลิต รับซื้อ ขาย และส่งไฟฟ้าระหว่างเอกชนในกรณีนี้ การผลิต รับซื้อ ขาย และส่งไฟฟ้าที่ผลิตแบบกระจายตัว ไฟฟ้าดังกล่าวไม่ได้ถูกผลิตขึ้นในโรงไฟฟ้าต้นทาง แต่เป็นการผลิตจากระบบผลิตไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น แผงโซลาร์บนหลังคาบ้าน ผู้ใช้ไฟฟ้าเหล่านี้จะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองก่อนและส่งไฟฟ้าหน่วยที่เหลือไปขายให้กับผู้ซื้อ โดยอาศัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าที่ถูกส่งไปปลายทางนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอิเล็กตรอนไฟฟ้าหน่วยเดียวกับที่ผู้ผลิตต้นทางจ่ายเข้าระบบโครงข่ายตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือน (Power of the Act EP40 เรื่อง สัญญาซื้อขายและส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือน หรือ Virtual Power Purchase Agreement)
นอกจากนี้ คำว่า “เปิดเสรี” ยังอาจหมายถึงการที่โครงการผลิตไฟฟ้าสะอาด ซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น โซลาร์ฟาร์มบนพื้นดิน ทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ หรือฟาร์มกังหันลม มีความเป็นไปได้ที่จะส่งเข้าตลาดค้าปลีกไฟฟ้า โดยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ซื้อไฟฟ้า (Private PPA) โดยไม่ได้ขายไฟฟ้าเหล่านี้ให้กับ กฟผ.
ในกรณีนี้หากผู้ผลิตไฟฟ้าใช้ระบบโครงข่ายของ กฟผ. เพื่อให้นำไปส่งให้กับผู้ใช้ไฟปลายทางแล้ว กฟผ. จะไม่อยู่ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าแต่เป็นผู้ให้บริการระบบโครงข่าย บทบาทของเจ้าของระบบโครงข่ายในการเป็นผู้บริการส่งผ่านไฟฟ้าสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทบาทของ Southern California Edison (SCE) ในการสนับสนุนเมืองพลังงานสะอาด (Power of the Act EP51 เรื่องกฎหมายไทยสามารถรองรับเมืองที่จำหน่ายไฟฟ้าสะอาด 100% ได้หรือไม่)
หากมีการผลิต รับซื้อ ขาย และส่งไฟฟ้ากันเองข้างต้นแล้วจะส่งกระทบต่อ “อุปสงค์” การใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าในท้ายที่สุด กล่าวคือผู้ใช้ไฟฟ้าสะอาดปลายทางจะซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ. และ กฟน. ลดลง เพราะผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกที่จะซื้อไฟฟ้าสะอาดจากผู้ขายเอกชน แทนที่จะถูกบังคับให้ต้องรับไฟฟ้าที่อยู่ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากการผลิตและจัดหาของ กฟผ. จึงเป็นไปได้ที่ รายรับของ กฟผ. จะลดลงจากพฤติกรรมการบริโภคไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป
การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมส่งผลให้ กฟผ. ไม่อาจส่งผ่านต้นทุนจากการจัดหาไฟฟ้า เช่น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่ได้ลงนามแล้วมายังผู้ใช้ไฟฟ้าได้ เทียบได้กับตัวอย่างที่ว่าผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารรายใหญ่ที่ได้ซื้ออาหารมารอขายจำนวนมาก แต่ไม่อาจขายอาหารเหล่านั้นได้หมดหรือลดลง เพราะผู้ที่รับอาหารไปขายปลายทาง ขายอาหารนี้ได้ลดลง
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าการที่ กฟผ.จะเสียรายรับจากการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าเองและพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบโครงข่ายลดลง หรือมีทางเลือกที่จะซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าสะอาดจากผู้ผลิตที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าให้เจ้าของระบบโครงข่ายไฟฟ้านั้น เป็นสิ่งที่มีเหตุผลสมควรและเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น เนื่องจากในท้ายที่สุดแล้วการเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาดจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ไฟฟ้า เราควรมองภาพให้ชัดเจนว่าเป้าหมายปลายทางของกิจการไฟฟ้าแท้ที่จริงแล้วคือประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน
ประการแรก ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเองและผู้ที่ใช้ไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาดที่ซื้อขายกันผ่านตลาดเสรีมีโอกาสที่จะได้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงจากการที่ไม่ต้องถูกบังคับให้รับเอาต้นทุนทั้งหมดจาก กฟผ. เช่น ค่าใช้จ่ายที่ กฟผ. มีจากการซื้อไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่ในบางสัญญาจะมีค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment) หากถามว่า “ถูกลงเป็นความจริงหรือไม่?” เราอาจดูตัวอย่างที่เกิดในต่างประเทศ เช่น เมืองแลงคาสเตอร์ (Lancaster) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาได้ ผู้ซื้อไฟฟ้ามีทางเลือกที่จะซื้อไฟฟ้าที่สะอาดขึ้นและยังสามารถนับเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนจากการใช้พลังงาน (Scope 2 Emission) ในการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรได้อีกด้วย
ประการที่สอง มองจากมุมผู้ขาย การเปิดเสรีในลักษณะนี้ส่งผลให้เกิดและพัฒนา “ตลาดไฟฟ้าสะอาด” เมื่อได้รับสัญญาณที่ชัดเจนว่าไฟฟ้าสะอาดที่ผลิตขึ้น (ไม่ว่าโดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าได้เอง หรือโครงการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน) นั้นสามารถถูก “ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น” โดยไม่ถูกบังคับให้ต้องขายให้ตัวกลางหรือผู้รับซื้อรายเดียวแล้ว ผู้ที่สามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดก็ย่อมมีแรงจูงใจที่จะผลิตไฟฟ้าสะอาดมากขึ้น โดยราคาซื้อขายไฟฟ้าในตลาดนี้เป็นไปได้ที่จะเป็นราคาตามกลไกตลาด โดยที่ไม่ต้องมีการประกันราคาการที่รัฐซื้อไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้การผลิตไฟฟ้าสะอาดตามแนวทางเดิม
การเปิดให้เอกชนซื้อขายไฟฟ้ากันเองโดยอาศัยระบบโครงข่าย กฟผ. กฟน. และ กฟภ. โดยที่ผู้ซื้อและผู้ขายเหล่านี้ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างระบบโครงข่ายของตัวเองหรือที่เรียกว่าการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access หรือ TPA) หากสะกดตามนี้คำว่า Access ในบริบทนี้หมายความว่า กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานซึ่งมีระบบโครงข่ายพลังงานมีหน้าที่ตามกฎหมาย (มาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550) “ต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่นใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของตน ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานประกาศกำหนด” สิทธิในการใช้หรือเชื่อมต่อนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดระหว่างเอกชน สิทธินี้จะทำให้เอกชนที่ซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวไม่ต้องลงทุนก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) เอง
มองในมุมความเป็นเจ้าของ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็น Asset ของการไฟฟ้าทั้งสาม การไฟฟ้าทั้งสามย่อมสามารถบริหารจัดการและรักษาความมั่นคงของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Stability and Reliability of Electricity Network System) ตามข้อกำหนดระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ แต่ Asset เหล่านี้ก็จะต้องถูก Access ได้โดยผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตไม่ได้ขายไฟฟ้าให้กับเจ้าของโครงข่าย และผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้ซื้อไฟฟ้าที่ซื้อจากเจ้าของระบบโครงข่าย โดยเจ้าของระบบโครงข่ายทำหน้าที่เป็นผู้ส่งผ่านไฟฟ้าและเรียกค่าไฟฟ้าให้ผู้ผลิต
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธว่าการที่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านั้นต้องรับเอาไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนมาโดยการซื้อขายระหว่างเอกชนนั้น ก่อภาระและอาจส่งผลต่อความมั่นคงแน่นอนของระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ การผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนนั้นมีลักษณะไม่แน่นอน ส่งผลให้ไฟฟ้าที่จะมีการจ่ายเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยผู้ผลิตอาจมีปริมาณไม่แน่นอน ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าปลายทางยังคงใช้ไฟฟ้าปริมาณเท่าเดิมมิได้ผันแปรไปตามปริมาณที่หน่วยไฟฟ้าถูกจ่ายเข้า ณ จุดรับต้นทาง
ปัญหาความไม่มั่นคงแน่นอนนี้เกิดขึ้นได้แต่ก็สามารถวางแผนล่วงหน้าและบริหารจัดการได้ ดังที่ผู้เขียนได้อธิยายใน Power of the Act EP 50 (เรื่อง หลักการสำคัญของสัญญาการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม) กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ในฐานะเจ้าของระบบโครงข่ายสามารถมีสิทธิคิดค่าบริการรักษาความสมดุลดังกล่าวได้ และมีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการเพื่อการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่ได้จ่ายไปเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าตามสามารถที่จะคิดอัตราค่าบริการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงได้ซึ่งเราอาจเรียกโดยรวมว่า “Grid Security Charge” ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้านี้ก็ต้อง “จ่าย” ค่าบริการนี้ตามอัตราที่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าเจ้าของระบบโครงข่ายแม้จะมีหน้าที่ในการบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มแต่ก็จะไม่ขาดทุนเพราะท้ายที่สุดแล้วจะสามารถเก็บค่าบริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากเอกชนที่ซื้อขายไฟฟ้ากันเอง
มีความเป็นไปได้ที่ กฟผ. จะต้องมีไฟฟ้าสำรองที่มีความพร้อมจ่ายแบบทันท่วงทีเพื่อป้องกันปัญหาความไม่มั่นคงของระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดระหว่างเอกชน การมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีการเรียกเก็บค่าความพร้อมจ่าย (ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการซื้อขายแบบ “Firm”) นั้นยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจากยุคที่ไฟฟ้าถูกผลิตโดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่ยุคที่การผลิตไฟฟ้ากระจายตัวมากขึ้นไฟฟ้าที่ถูกผลิตจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และไฟฟ้าที่มีต้นทุนจากค่าความพร้อมจ่ายภาคบังคับควรจะลดปริมาณลง
ในตลาดใหม่นี้ กฟผ. ยังคงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งผ่านไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติ (โดยไม่ได้มีคู่แข่งที่จะเสนอบริการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามาแข่ง แตกต่างจากตลาดขนส่งสินค้าชนิดอื่น) กฟผ. ยังคงสามารถนำไฟฟ้าที่ต้องซื้อตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามารักษาความมั่นคงแน่นอนของระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ (เพียงแต่อาจจะลดจำนวนลงและอาจจะต้องมีการเจรจาตกลงกับคู่สัญญาฝ่ายผู้ขายต่อไป)
โดยสรุป ผู้เขียน “ไม่เห็นด้วย” กับความเห็นที่ว่า “หากเอกชนซื้อขายกันได้หมด กฟผ. เจ๊งแน่นอน” หาก “เจ๊ง” หมายความว่า รายรับจากการประกอบกิจการภายใต้โครงสร้างการรับซื้อไฟฟ้าแบบรวมศูนย์และเป็นผู้รับซื้อรายเดียวจะลดลง อาจกล่าวได้ว่าการเปิดเสรีจะทำให้ กฟผ. เจ๊ง แต่ผู้เขียนเห็นว่าผลกระทบที่เกิดจากรายรับจากการประกอบกิจการภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ซึ่งยังไม่ได้รับเอาแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ยืดหยุ่น และเป็นประชาธิปไตยทางพลังงานเข้ามานั้นเป็นสิ่งที่ กฟผ. ควรต้องปรับตัวและเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน
ทั้งนี้ ผู้เขียนต้องแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้ารายหนึ่ง กฟผ. ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีความมั่นคง และเราไม่มีประสบปัญหาไฟฟ้าดับ ผู้เขียนเห็นว่าการปรับตัวของ กฟผ. ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจะช่วยให้ กฟผ. ยังคงทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีต่อไปโดยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 41 แห่ง พรบ. กฟผ.ฯ ซึ่งบัญญัติว่า “ในการดำเนินกิจการของ กฟผ. ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน”
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 67)
Tags: SCOOP, กฟน., กฟผ., กฟภ., ไฟฟ้า