Power of The Act: การเกิดขึ้นและผลบังคับทางกฎหมายของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะ

ผู้เขียนได้ตั้งคำถามไว้ใน Power of the Act EP 25 ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เกิดขึ้นและมีการบังคับการตามนิติสัมพันธ์ “ในโลกดิจิทัล” เป็นที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และระบบกฎหมายไทยสามารถรองรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าโดยไม่ผ่านตัวกลางหรือไม่

ความท้าทายดังกล่าวมิได้มีอยู่แต่เพียงในประเทศไทยเท่านั้นหากแต่ยังเป็นความท้าทายที่ระบบกฎหมายของประเทศในสหภาพยุโรปต้องเผชิญอีกด้วย ดังปรากฏตาม EU Directive 2018/2001 (On The Promotion of The Use of Energy from Renewable Sources) ซึ่งได้ให้นิยามของการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนระหว่างเอกชนโดยไม่ผ่านตัวกลาง (‘Peer-to-Peer Trading’ of Renewable Energy) ว่า

“การขายไฟฟ้าระหว่างบุคคลในตลาดโดยสัญญาที่ถูกกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ล่วงหน้า โดยตกอยู่ในบังคับของระบบที่บังคับสัญญาและทำธุรกรรมโดยอัติโนมัติ ไม่ว่าโดยตัวบุคคลที่อยู่ในตลาดนั้นเองหรือโดยบุคคลที่สาม ที่ได้รับการรับรองแล้ว เช่น ผู้รวบรวมโหลดไฟฟ้า (sale of renewable energy between market participants by means of a contract with pre-determined conditions governing the automated execution and settlement of the transaction, either directly between market participants or indirectly through a certified third-party market participant, such as an aggregator.)”

เพื่อวิเคราะห์และหาคำตอบสำหรับความท้าทายทางกฎหมายตามคำถามข้างต้น ผู้เขียนจะวิเคราะห์ประเด็นเรื่องความเป็นผลทางกฎหมายของการแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งกำลังถูกท้าทายด้วยความเจริญก้าวหน้าที่เทคโนโลยีและลักษณะของการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ความเป็นผลทางกฎหมายของการแสดงเจตนาเข้าทำสัญญา

การที่บุคคลสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายจะเข้าทำสัญญากันนั้นจะต้องมีการ “สื่อสาร” กัน หรืออาจเรียกในเชิงวิชาการว่า “แสดงเจตนา” เข้าทำสัญญากัน ทั้งในรูปแบบของการพูดคุย การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือแม้กระทั่งการแสดงกิริยาอาการโดยไม่ต้องพูดหรือเขียน ยกตัวอย่างเช่น หากเราเดินเข้าไปในร้านกาแฟ เราสามารถทำคำสั่งซื้อโดยพูดกับคนขายว่าต้องการกาแฟประเภทใด ขนาดใด ต้องการให้ชงอย่างไร ขอให้การพูดนั้นมีความชัดเจนว่าเราต้องการกาแฟแบบใด โดยไม่ต้องมีการตกลงเงื่อนไขใดเพิ่มอีก คำพูดนี้ก็เรียกได้ว่าเป็น “คำเสนอ (Offer)” หากคนขายตกลงทำคำเสนอข้างต้น การตอบตกลงจะกลายเป็น “คำสนอง (Acceptance)” และก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายกาแฟขึ้น

1) เมื่อบุคคลอยู่เฉพาะหน้ากัน

ในสถานการณ์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายอยู่ต่อหน้ากันและสามารถสื่อสารกันได้อย่างทันท่วงที คำเสนอของผู้ซื้อ และคำสนองของผู้ขายมีผลทางกฎหมาย (คือผู้แสดงเจตนาถูกผูกพันตามสิ่งตนสื่อสารออกมา) เมื่ออีกฝ่าย “รับทราบ” ถึงการแสดงเจตนา เช่น “ได้ยิน” สิ่งที่พูดกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักของมาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 168 ซึ่งบัญญัติว่า

“การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน”

การสื่อสารกันได้อย่างทันท่วงทียังสามารถเกิดผ่านลายลักษณ์อักษร ซึ่งถูกแสดงผ่านระบบการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การพิมพ์ข้อความโต้ตอบทางห้องสนทนาออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้อีกด้วย ตามตัวอย่างข้างต้นหากเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่าผู้ซื้อทำคำสั่งซื้อที่มีความชัดเจนในระดับที่เป็นคำเสนอได้โดยผ่านระบบการรับซื้อคำสั่งทางออนไลน์ของร้านกาแฟ และฝั่งผู้ขายก็ติดตามตรวจสอบระบบการรับคำสั่งซื้อดังกล่าวอยู่ตลอด และสามารถสื่อสารกับผู้ซื้อได้ทันที เช่น สามารถตอบได้ทันทีว่ากาแฟตามข้อความที่สั่งนั้นมีขายหรือไม่ หรือตอบรับได้ทันทีว่าประสงค์จะขายกาแฟตามคำสั่งซื้อ

กรณีแม้ผู้ซื้อและผู้ขายจะไม่ได้อยู่เฉพาะหน้ากันในทางกายภาพ (คืออยู่กันคนละที่) ก็นับได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า หากข้อความเสนอซื้อถูกรับรู้โดยผู้ขายแล้ว ผู้ซื้อย่อมต้องผูกพันตามสิ่งที่ตนสื่อสารออกไปจะบอกว่าตนไม่ประสงค์จะผูกพันตามข้อความเพราะว่าผู้ขายไม่ได้อยู่ต่อหน้าไม่ได้

2) เมื่อบุคคลมิได้อยู่เฉพาะหน้ากัน

แต่หากเป็นกรณีที่ผู้ขายไม่ได้ติดตามตรวจสอบคำสั่งซื้ออยู่ตลอดเวลา เช่น ตั้งใจให้เป็นระบบของการทิ้งข้อความ (คำสั่งซื้อ) เอาไว้ และผู้ขายจะมาอ่านเพื่อพิจารณาว่าจะขายกาแฟตามคำสั่งซื้อหรือไม่ กรณีนี้ย่อมมิใช่สถานการณ์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถสื่อสารกันได้อย่างทันท่วงที (แม้ระบบทำมีศักยภาพทำได้ แต่ข้อเท็จจริงในกรณีคือฝ่ายผู้ขายไม่ได้รับรู้ถึงคำสั่งซื้อทันทีและไม่อาจตอบสนองต่อคำสั่งซื้อได้ทันที) กรณีนี้สามารถเรียกว่าเป็นการแสดงแจตนาโดยบุคคลผู้ “มิได้อยู่เฉพาะหน้า” มาตรา 169 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้การแสดงเจตนาของผู้ซื้อมีผลเมื่อคำสั่งซื้อ “ไปถึง” ผู้ขาย โดยบัญญัติว่า

“การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล”

หากคำสั่งซื้อถูกส่ง “ไปถึง” ในระบบออนไลน์ของผู้ขาย เช่น เข้าสู่ระบบฐานข้อมูล (Server) ของผู้ขายแล้ว แม้ผู้ขายจะยังไม่ได้อ่านข้อความ (คือยังไม่รับรู้ถึงข้อความอันเป็นคำสั่งซื้อ) ก็ถือได้ว่าคำสั่งซื้อนั้นเป็นผลทางกฎหมาย และผูกพันผู้ซื้อ ในทำนองเดียวกัน หากผู้ขายตอบตกลงขายโดยผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวโดยที่ผู้ซื้อมิได้ตรวจระบบออนไลน์ดังกล่าวตลอดเวลา คำสนองรับก็เป็นผลเมื่อไปถึงผู้ซื้อแล้ว เช่น เข้าสู่ระบบฐานข้อมูล (Server) ของผู้ซื้อแล้วแม้ผู้ซื้อจะยังไม่ได้อ่านข้อความดังกล่าวก็ตาม

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

คำอธิบายข้างต้นจะสามารถรวมถึงการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะได้หรือไม่ ? เมื่อคนผลิตไฟฟ้า (ผู้ขาย) และผู้ใช้ไฟฟ้า (ผู้ซื้อ) อาจไม่ได้นั่งติดตามระบบการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นตลอดเวลา แต่ได้ตั้งระบบอัตโนมัติในการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนเอาไว้ เช่น หากมีไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ในราคา x บาท ขายได้ในเวลา x นาฬิกา ผู้ซื้อประสงค์จะซื้อไฟฟ้าจำนวน x กิโลวัตต์ โดยให้สัญญาเกิดผ่านระบบอัตโนมัติทันทีโดยไม่ต้องมีการอนุมัติหรือยืนยันโดยตัวผู้ซื้อหรือผู้ขายอีกรอบ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องคุยกันอีกครั้ง และไม่ต้องมีมนุษย์ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับรองหรือดำเนินการเพื่อให้เกิดสัญญาซื้อขาย

1) ข้อความคิดทางกฎหมาย

ในประเด็นนี้ รศ.ดร.พินัย ณ นคร ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของสัญญาเอาไว้ในหนังสือ “กฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในยุคดิจิทัล” ตีพิมพ์ ปี พ.ศ. 2561 หน้า 41 ว่า”สัญญาจึง (สามารถ) เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติโดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายไม่จำเป็นต้องติดต่อกันเองโดยตรง (Without Human Intervention) ในปัจจุบันลักษณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์สามารถทำงานแทนมนุษย์โดยมีการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ของฝ่ายเองโดยอัตโนมัตินั้นสามารถพบได้ในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นหลังจากยุคเทคโนโลยี EDI (ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange) อีกด้วย เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งนำมาใช้ในการทำสัญญาอัฉริยะ (Smart Contracts”)

เพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีข้างต้นมาตรา 13/2 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธความสมบูรณ์หรือการบังคับใช้ของสัญญาที่ทำโดยการโต้ตอบระหว่างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติกับบุคคลธรรมดา หรือระหว่างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติด้วยกัน เพียงเพราะเหตุที่ไม่มีบุคคลธรรมดาเข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินการในแต่ละครั้งที่กระทำโดยระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติหรือในผลแห่งสัญญา”

2) บทวิเคราะห์

เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าระบบกฎหมายไทยมิได้ปฏิเสธความสมบูรณ์และการบังคับใช้ได้ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนที่เกิดโดยอัตโนมัติโดยผ่านระบบบล็อกเชนเพียงเพราะเป็นสัญญาซื้อขายที่เกิดขึ้นโดยผ่านระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติโดยมิได้การแทรกแซงโดยมนุษย์ในขั้นการเกิดของสัญญาและการบังคับให้มีการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา

หากเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าเกิดขึ้นอย่างครบถ้วน (มีไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ในราคา x บาท ขายได้ในเวลา x นาฬิกา ผู้ซื้อประสงค์จะซื้อไฟฟ้าจำนวน x กิโลวัตต์) และคอมพิวเตอร์ของผู้ซื้อและผู้ขายสื่อสารกันตามเงื่อนไขดังกล่าวผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าย่อมเกิดขึ้นตามเงื่อนไขดังกล่าวได้โดยอัตโนมัติ เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลทางกฎหมายให้ผู้ซื้อและผู้ขายต้องปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน เช่น ผู้ขายต้องส่งมอบไฟฟ้าในขณะที่ผู้ซื้อต้องชำระราคาของไฟฟ้าที่ถูกส่งขายตามสัญญา

ในขั้นการเกิดของสัญญานั้น เมื่อฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างทันท่วงทีโดยผ่านระบบที่ถูกตั้งเอาไว้ล่วงหน้าย่อมเข้าลักษณะของการแสดงเจตนาระหว่างบุคคลที่อยู่เฉพาะหน้า มาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รองรับ “การที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน” ซึ่งการสื่อสารโดยผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลในระบบบล็อกเชนย่อมเป็นวิธีการที่ทำให้บุคคลสื่อสารกันได้อย่างทันช่วงที (เพียงแต่เป็นการสื่อสารกันผ่านระบบที่ถูกตั้งโปรแกรมเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว)

ยกตัวอย่างเช่น ระบบของฝ่ายผู้ซื้ออาจตอบรับคำเสนอขายที่ว่า “มีไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ในราคา x บาท ขายได้ในเวลา x นาฬิกา ผู้ซื้อประสงค์จะซื้อไฟฟ้าจำนวน x กิโลวัตต์” หรืออาจเป็นกรณีที่ระบบของผู้ซื้อถูกกำหนดให้ “ต่อราคา” เช่นจะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ในราคา x-1 ที่ขายได้ในเวลา x นาฬิกา ระบบของฝ่ายผู้ซื้ออาจยังไม่ตอบรับคำเสนอขาย แต่ส่งคำเสนอใหม่ให้ฝ่ายผู้ขายซึ่งระบบของฝ่ายผู้ขายอาจถูกกำหนดให้ตอบรับคำเสนอที่ถูกส่งใหม่นี้ได้ การสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างทันท่วงทีผ่านระบบดังกล่าวควรจะถูกถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนต่อบุคคลที่อยู่เฉพาะหน้า จึงเป็นผลเมื่อคอมพิวเตอร์ของผู้รับการแสดงเจตนารับรู้ถึงการแสดงเจตนาของฝ่ายผู้แสดงเจตนา

โดยสรุป เมื่อการแสดงเจตนาเพื่อเข้าทำสัญญามิอาจถูกปฏิเสธเพราะเกิดขึ้นผ่านระบบอัตโนมัติตามมาตรา 13/2 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และการแสดงเจตนานั้นสามารถเป็นทางกฎหมายตามมาตรา 168 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าอัจฉริยะจึงสามารถเกิดขึ้นและมีผลบังคับในระบบกฎหมายไทยได้

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 66)

Tags: , ,