ผลสำรวจภาคธุรกิจที่เผยแพร่ในวันนี้ (1 ก.ค.) ระบุว่า ภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงทรงตัวในเดือนมิ.ย. 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่ซบเซา ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ยังคงเผชิญกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากเงินเยนอ่อนค่า
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ขั้นสุดท้ายของญี่ปุ่นจาก au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 50.0 ในเดือนมิ.ย. ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 50.4 ในเดือนพ.ค. และต่ำกว่าค่า PMI เบื้องต้นที่ระดับ 50.1
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า แม้ดัชนีย่อยด้านผลผลิตปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ เร่งส่งมอบคำสั่งซื้อค้างส่งและเพิ่มสต็อกสินค้า แต่คำสั่งซื้อใหม่ยังคงหดตัวลงเนื่องจากความต้องการที่ซบเซา โดยเฉพาะในภาคยานยนต์และเซมิคอนดักเตอร์
คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน โดยบางบริษัทรายงานว่า ความต้องการในตลาดเอเชีย เช่น จีนและไทย รวมถึงในยุโรปและอเมริกาเหนือ ปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่า ความเชื่อมั่นต่อผลผลิตในอนาคตของบริษัทต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะกลางของภาคยานยนต์และชิป ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มิ.ย.) ซึ่งระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.มีแนวโน้มแซงหน้าไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากการผลิตยานยนต์
“อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่น่ากังวลจากตัวเลขล่าสุด โดยบริษัทต่าง ๆ กำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนทำให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าแพงขึ้น” นางพอลลีแอนนา เดอ ลิมา จากเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลผลสำรวจ กล่าว
ดัชนีราคาปัจจัยการผลิตปรับตัวสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี โดยผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ต้นทุนหลายรายการเพิ่มสูงขึ้น เช่น ทองแดง น้ำมันดิบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ค่าแรง และสาธารณูปโภค
“ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาขายในอัตราที่สูงที่สุดในรอบกว่า 1 ปี ซึ่งถือเป็นผลกระทบด้านลบ เนื่องจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศยังคงอ่อนแอ” นางเดอ ลิมา กล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2529 ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเข้าและการบริโภค สร้างความซับซ้อนต่อแผนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังจากยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมครั้งสำคัญเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
ผลสำรวจแยกต่างหากของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อเดือนที่แล้วชี้ให้เห็นว่า ผู้ผลิตญี่ปุ่นกำลังสูญเสียความเชื่อมั่นต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการใช้จ่ายด้านทุน เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 67)
Tags: PMI, ญี่ปุ่น, ภาคการผลิต