PM2.5 พุ่ง 23 จังหวัด! เล็งประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมโรค ให้อำนาจผู้ว่าฯ สั่ง WFH

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1/2568 โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน และการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกินมาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่

โดยมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรค หรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ด้วยการประกาศเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้อธิบดีกรมควบคุมโรค หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคมอบหมาย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร มีอำนาจประกาศเขตพื้นที่ รวมทั้งประกาศยกเลิกเมื่อมีเหตุอันสมควร หรือสภาวการณ์ของโรคนั้นสงบลง

โดยจะกำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคฯ เมื่อจังหวัดมีค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่น PM2.5 ในรอบ 24 ชม. มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน และยกเลิกเมื่อค่า PM2.5 น้อยกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 7 วัน

ขณะนี้มีจังหวัดที่ต้องประกาศเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคฯ ทั้งหมด 23 จังหวัด ได้แก่

– เขตสุขภาพที่ 1 เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน

– เขตสุขภาพที่ 2 ตาก, สุโขทัย, อุตรดิตถ์

– เขตสุขภาพที่ 4 อ่างทอง

– เขตสุขภาพที่ 5 กาญจนบุรี, ราชบุรี, สมุทรสาคร

– เขตสุขภาพที่ 6 สมุทรปราการ

– เขตสุขภาพที่ 7 กาฬสินธุ์

– เขตสุขภาพที่ 8 นครพนม, บึงกาฬ, เลย, อุดรธานี

– เขตสุขภาพที่ 10 อุบลราชธานี

– เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการดำเนินการ ดังนี้

1. สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ หอบหืด และถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง โดยพิจารณาชนิดหน้ากาก ตามที่กรมควบคุมโรคแนะนำ

2. ออกประกาศ Work from home / ทำงานผ่านระบบออนไลน์ และงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง

3. จัดทำศูนย์รองรับการอพยพประชาชนกลุ่มเปราะบาง และผู้ป่วยติดเตียง ให้เข้าพักคอยจนกว่าสถานการณ์จะปกติ

4. ขอความร่วมมือเกษตรกร เจ้าของสถานประกอบกิจการ และผู้ประกอบการขนส่ง ดำเนินการลดฝุ่น ในส่วนของโรงพยาบาล ให้จัดทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องเด็กแรกคลอด ห้องพักหลังคลอด เป็นต้น และแจ้งการพบผู้ป่วยโรคจากฝุ่น PM2.5 และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ใช้กลไกทางกฎหมาย ในการแจ้ง รายงาน และสอบสวนโรคจากฝุ่น PM2.5

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 68)

Tags: , , , , , ,