PEA เปิดตัวแพลตฟอร์ม CARBONFORM นวัตกรรมช่วยบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มู่งสู่ Net Zero

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นภัยคุกคามต่อโลก สะท้อนจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทั่วโลก ภัยพิบัติธรรมทางธรรมชาติ เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนและต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ กฟภ. มีภารกิจในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสู่ความยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “Net Zero” และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายในปี 2580 ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)

ที่ผ่านมา PEA ได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และล่าสุดได้พัฒนาแพลตฟอร์ม CARBONFORM เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทเพียง 0.05% ของบริษัททั้งหมดในประเทศที่มีการประเมิน Carbon Footprint อย่างจริงจัง แพลตฟอร์ม CARBONFORM จะเข้ามาส่งเสริมผู้ประกอบการในการประเมินคาร์บอนได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

พร้อมเชิญชวนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคลในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA 74 จังหวัด (ยกเว้น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ) ที่สนใจหรือจำเป็นต้องประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM สามารถประเมินและบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกองค์กร ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและครอบคลุม สามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างละเอียด ตั้งแต่การใช้พลังงาน การขนส่ง จนถึงห่วงโซ่อุปทาน ติดตามความคืบหน้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเรียลไทม์ วิเคราะห์แหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วางแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรายงานที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการขององค์กร ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แพลตฟอร์ม CARBONFORM เป็นนวัตกรรมของ PEA เหมาะสำหรับองค์กรทุกขนาด ใช้งานง่าย ปรับแต่งได้ สามารถทดลองใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM ฟรี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด) ได้ที่ https://bufferbox.pea.co.th/ มี Feature การใช้งานที่สำคัญ ดังนี้

1.ระบบแสดงผลแบบ REAL -TIME พร้อม Dashboard Infographic

2.ข้อมูล Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ถูกซื้อมา) แบบอัตโนมัติ รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ (เฉพาะลูกค้าที่มิเตอร์อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ PEA)

3.สามารถสร้างขอบเขตการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ได้ตามโครงสร้างขององค์กร

4.การใช้งานสะดวก และคำนวณได้ถูกต้อง แม่นยำ

5.ออกรายงานได้อัตโนมัติตามมาตรฐาน อบก. Green Office

6.เริ่มต้นได้ง่ายโดยมี template ให้เลือกตามความเหมาะสมตามขอบเขตขององค์กร

7.คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามหลักการมาตราฐาน ISO 14064-1 CFO และ อบก.

ขณะที่นายบุญรอด เยาวพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ ครีเอจี้จำกัด และคณะผู้จัดทำแผน PEA Carbon Neutrality Roadmap เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 5 หมื่นล้านตัน โดยประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลกได้แก่ จีน สหรัฐ และอินเดีย ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 19 ปัจจุบันปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 370 ล้านตันและในปี 68 คาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 388 ล้านตัน โดยกลุ่มที่มีการปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือกลุ่มพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้ไฟฟ้าหรือการใช้น้ำมัน ดังนั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงานเป็นส่วนสำคัญในการช่วยส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจ Net Zero

ทั้งนี้จากความตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือความร่วมมือของคนส่วนใหญ่ในโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยในหลายประเทศเริ่มมีกฎหมายต่าง ๆ ตามมา ซึ่งไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าวและตั้งเป้าว่าลดการปล่อยคาร์บอน 30% ในปี 2573 และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 จึงต้องมีมาตรการและกลไกลกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายได้

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้มี Thailand Taxonomy มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมสำหรับประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้ภาคส่วนในไทยเห็นชัดขึ้นว่ากิจกรรมอะไรที่นำพาไปสู่ Net Zero ได้ และ Taxonomy ถูกผนวกออกมาอยู่ในร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมอนุคณะกรรมการกฎหมายและคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในอีก 2 เดือน

ซึ่งร่างพ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีทั้งหมด 14 หมวด โดยมีประเด็นสำคัญคือการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในหมวดนี้จะมีการระบุว่าโรงงานและอาคารที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องมีการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นภาคบังคับ และหากปฏิบัติไม่ได้จะมีบทลงโทษ เป็นความเสี่ยงกับบริษัทที่ไม่ได้ปรับตัวขณะเดียวกันเป็นโอกาสใหกับบริษัทที่สามารถให้ความช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ในการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 67)

Tags: , , , , ,