นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจของ OR จากนี้ไป จะรุกขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น ผ่านการจับมือกับพาร์ทเนอร์ในท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญ และชำนาญ เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน หลังประเทศไทยเริ่มทรงตัว
ปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศ หลักๆ มาจากประเทศกัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว โดยมองประเทศกัมพูชา มีศักยภาพการเติบโตมากที่สุดในขณะนี้ ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรที่มาก ส่วนในเมียนมา มองยังมีแรงกดดันจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งหากไม่มีความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว ก็เชื่อว่าเมียนมาจะเป็นหมุดหมาย หรือมองเป็นโอกาสของ OR
สำหรับเวียดนาม ปัจจุบันมีการลงทุนธุรกิจร้านคาเฟ่ อเมซอน จำนวน 25 สาขา และอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนคลัง LNG เพื่อเจาะตลาดอุตสาหกรรมในเวียดนาม โดยจะเป็นการเข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรในท้องถิ่น
นอกจากนี้บริษัทฯ เตรียมพาคณะกรรมการบริษัทไปเยี่ยมชมพื้นที่ ที่จะทำอเมซอน พาร์ค จ.ลำปาง โดยคาดจะขออนุมัติการลงทุนในช่วงเดือนต.ค.นี้ โดยมองโครงการดังกล่าวเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ ในการดำเนินธุรกิจของอเมซอน ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เพื่อมุ่งหวังเป็นสตอรี่ขยายตลาดไปในต่างประเทศ รวมถึงผลักดันในเกิดหาสัมมนา World Coffee ด้วย
นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ OR กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของ OR ในสปป.ลาว ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยกลยุทธ์ระยะสั้นมุ่งเน้นประคองธุรกิจให้อยู่รอดในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งยอมรับว่าเงินเฟ้อค่อนข้างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในสปป.ลาว ในระดับหนึ่ง แต่บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือ ผ่านการบริหารเงินตราภายในองค์กร หรือบริหารรายรับ รายจ่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนในระยะยาวเน้นกลยุทธ์ Explore มองหาโอกาสการเติบโตที่ก้าวกระโดดได้ จากความต้องการที่หลากหลาย เช่นที่ผ่านมา OR ได้ร่วมกับพันธมิตร เริ่มโครงการใช้ระบบวนเกษตรในการพัฒนาไร่กาแฟต้นแบบให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟใน สปป.ลาว (Agroforestry Coffee Plantation) เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจส่งออกเมล็ดกาแฟ (Roasted Coffee and Green Bean Coffee) ให้แก่บริษัทในเครือของ OR ในต่างประเทศ รวมทั้งยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ในกลุ่ม OR อีกด้วย เป็นต้น
“สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และยังมีโอกาสเติบโตได้อีก OR จึงได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility ได้แก่ การจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น คลังเก็บผลิตภัณฑ์ ธุรกิจหล่อลื่น พีทีที ลูบริแคนทส์ (PTT Lubricants) และศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ (FIT Auto) และ ฟิต เอ็กซ์เพรส (FIT Express) รวมถึงการรุกตลาดธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยสถานีชาร์จไฟฟ้า อีวี สเตชั่น พลัส (EV station PluZ) และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีการดำเนินธุรกิจอย่างหลากหลาย ได้แก่ ร้าน Café Amazon ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหารข้าวเปียกปู”
OR ได้จัดสรรงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global ไว้ที่ 8,007 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของงบลงทุนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดสากล
ขณะที่การลงทุนในสปป.ลาว ปีนี้ จะมุ่งเน้นการปรับปรุงคลังน้ำมัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ คาดใช้งบราว 40 ล้านบาท, การปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน ราว 50 ล้านบาท และการขยายร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที ลาว จำนวน 30 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในร้านคาเฟ่ อเมซอน คาดใช้งบลงทุนไม่มาก
นายพีรเวท ณ ระนอง Managing Director บริษัท พีทีที(ลาว) จำกัด (PTTLAO) กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ Mobility PTTLAO มีเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 7 แห่ง รองรับการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยความจุโดยรวมกว่า 7 ล้านลิตร รวมทั้งยังมีสถานีบริการ PTT Station รวม 56 แห่ง แบ่งเป็น COCO 17 แห่ง และ DODO 39 แห่ง ครอบคลุมตลอดเส้นทางการเดินทางในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับเป็นสถานีบริการน้ำมันที่ผู้บริโภคของ สปป.ลาว นิยมใช้มากที่สุด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 -2566 โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายสถานีบริการเพิ่มเป็น 63 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นเป็น 71 แห่งในปี 2573
ธุรกิจหล่อลื่น PTT Lubricants สามารถกระจายสินค้าไปยังโรงซ่อมรถและโรงงานทั่วได้ทั่วประเทศ โดยมียอดจำหน่ายปี 2566 ที่ 4.2 ล้านลิตร และตั้งเป้าในปี 67 ไว้ที่ 5 ล้านลิตร ส่วนศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto และ FIT Express ปัจจุบันมีทั้งหมด จำนวน 9 สาขา
กลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีความโดดเด่นด้วยร้าน Cafe Amazon เป็นร้านแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 94 สาขา และตั้งเป้าขยายสาขาให้ครบ 110 สาขา ภายในปี 2567 และเพิ่มเป็น 150 สาขา ภายในปี 2573 โดย OR ได้เปิดร้านคาเฟ่ อเมซอน คอนเซ็ป สโตร์ (Cafe Amazon Concept Store) สาขาโรงกายะสิน ณ เมืองจันทะบูลี นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งนับเป็น Cafe Amazon Concept Store แห่งแรกในต่างประเทศ ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวลาวเป็นอย่างดี และยังมีร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาหลวงพระบาง ณ แหล่งมรดกโลก ที่มีความโดดเด่น ด้วยการผสานแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์วัตนธรรมประเพณีท้องถิ่นไว้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Jiffy รวม 35 สาขา แบ่งเป็น COCO 10 สาขา และ DODO 17 สาขา รวมถึงเตรียมนำเอาร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น มาเปิดให้บริการในสถานีบริการน้ำมันของบริษัทภายในปี 2567 โดยมีแผนเปิดให้บริการสาขาแรกที่ปั๊มน้ำมัน ที่แขวงสะหวันนะเขตในต้นเดือนส.ค.67 และจะทยอยขยายสาขาไปยังแต่ละสถานีบริการน้ำมันเพิ่มอีก 3 สาขา ภายในไตรมาส 4 นี้ รวมเป็น 4 สาขาในปีนี้ และตั้งเป้าหมายจะขยายสาขาปีละ 5 สาขา เพื่อให้ครอบคุมความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในสถานีบริการน้ำมัน ครบถ้วนสมบูรณ์เหมือนกับมาตรฐานอันเดียวกันในประเทศไทย
ธุรกิจร้านอาหาร ได้มีการจัดหาและคัดเลือกร้านอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อให้บริการในสถานีน้ำมัน จึงเลือกร้านอาหารข้าวเปียกปู ปากเซ ที่ PTTLAO พัฒนาขึ้นเป็นแบรนด์ใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในสถานีบริการ PTT Station อีกทั้ง ยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบของผู้บริโภคที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EV Station PluZ จำนวน 6 แห่ง ในสถานีบริการ PTT Station เป็นต้น
PTTLAO ยังให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโต ใน 3 มิติ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย OR 2030 อีกทั้ง ยังเป็นไปตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด OR SDG ในทุกมิติ ทั้งในด้าน “S” หรือ “SMALL” เสริมสร้างโอกาสเพื่อคนตัวเล็ก “D” หรือ “DIVERSIFIED” การโอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ “G” หรือ “GREEN” ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment)
นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ OR เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยอมรับปริมาณการขายน้ำมันปีนี้ทรงตัว เมื่อเทียบกับปีก่อน จากเดิมคาดว่าจะเติบโตราว 3-4% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ยังได้แรงหนุนจากการเติบโตของยอดขายน้ำมันอากาศยาน (Jet A1) ที่คาดโตในระดับตัวเลข 2 หลัก และการขยายสาขาทั้งสถานีบริการน้ำมันและร้านคาเฟ่ อเมซอน ยังทำได้ตามเป้าหมาย
ขณะที่บริษัทฯ คาดแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังนี้ น่าจะทำได้ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก แม้ไตรมาส 3/67 จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น หรือเป็นช่วงฤดูฝน แต่คาดหวังไตรมาส 4/67 จะฟื้นตัว จากเข้าสู่ไฮซีซั่น หรือฤดูท่องเที่ยว รวมถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่จะเข้ามาหนุนกำลังซื้อในโค้งท้ายปี
นายดิษทัต กล่าวว่า บริษัทฯ มีความสนใจร่วมกับพันธมิตร เช่น ธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนก.ย.นี้ โดยมองเป็นโอกาส เนื่องจาก OR มีความได้เปรียบเรื่อง Data platform
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 67)
Tags: OR, ดิษทัต ปันยารชุน, ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก, พีรเวท ณ ระนอง, รชา อุทัยจันทร์, สุชาติ ระมาศ, หุ้นไทย