OPEC+ หวั่นรัฐบาลทรัมป์ดันการผลิตน้ำมันสหรัฐฯ กังวลกระทบตลาด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ในวันนี้ (18 ธ.ค.) ว่า โอเปกพลัสกังวลว่าการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ อาจพุ่งสูงขึ้นอีก หากโดนัลด์ ทรัมป์ หวนคืนสู่ทำเนียบขาว เพราะจะยิ่งทำให้ส่วนแบ่งตลาดของโอเปกพลัสหดตัว และขัดขวางความพยายามรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน

ปัจจุบัน กลุ่มโอเปกพลัสซึ่งประกอบด้วย กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร เช่น รัสเซีย ผลิตน้ำมันราวครึ่งหนึ่งของทั้งโลก และเพิ่งเลื่อนแผนเพิ่มกำลังการผลิตออกไปเป็นเดือนเม.ย.ปีหน้า นอกจากนี้ ยังขยายเวลาลดกำลังการผลิตบางส่วนออกไปจนถึงสิ้นปี 2569 เหตุเพราะความต้องการน้ำมันยังซบเซา ประกอบกับสหรัฐฯ และผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกพลัสบางประเทศดันกำลังการผลิตขึ้นสูง

ที่ผ่านมา กลุ่มโอเปกเคยประเมินศักยภาพการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ต่ำเกินไป นับตั้งแต่ยุคตื่นน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็น 1 ใน 5 ของปริมาณน้ำมันทั้งโลก

ผู้แทนบางส่วนในโอเปกพลัสมองว่า ยุคทรัมป์จะดันการผลิตน้ำมันสหรัฐฯ ให้พุ่งสูงขึ้น เพราะทีมงานของทรัมป์วางแผนผ่อนคลายกฎระเบียบด้านพลังงาน หลังการหาเสียงชูประเด็นเศรษฐกิจและค่าครองชีพเป็นหลัก

“เรามองว่าการกลับมาของทรัมป์เป็นเรื่องดีสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมัน เพราะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะเข้มงวดน้อยลง” ผู้แทนจากประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในกลุ่มโอเปกพลัสให้ความเห็น “แต่เราอาจเห็นการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีสำหรับพวกเรา”

การผลิตที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแผนการของโอเปกพลัสที่จะเริ่มทยอยเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่เดือนเม.ย. 2568 เพราะหากสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นมากจนเกินไป อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกร่วงลง และส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศโอเปกพลัสที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก

ด้านว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เองก็ต้องการเพิ่มกำลังการผลิต แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป เพราะเขาหาเสียงไว้ว่าจะลดราคาพลังงานและแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

“สถานการณ์นี้สร้างความลำบากใจให้กับทั้งสองฝ่าย การผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ สร้างความท้าทายใหญ่หลวงให้กับโอเปกพลัส เพราะมันลดทอนอิทธิพลของกลุ่มลงไป”

ริชาร์ด บรอนซ์ หัวหน้าฝ่ายภูมิรัฐศาสตร์จากเอเนอร์จี แอสเปกส์ (Energy Aspects) ให้ความเห็น

ปัจจุบัน โอเปกพลัสยังคงลดกำลังการผลิตรวมกันอยู่ที่ 5.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากที่ได้มีการตกลงลดกำลังการผลิตมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2565 ในขณะที่การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2565-2567 กลับเพิ่มขึ้นถึง 11% อยู่ที่ 21.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามข้อมูลจากโอเปก

แหล่งข่าวอีกรายในโอเปกพลัสกล่าวว่า แม้นโยบายของทรัมป์อาจจะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมัน ซึ่งเป็นผลดีต่อกลุ่มผู้ผลิต แต่แนวโน้มที่สหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล

“ภัยคุกคามหลักต่อโอเปกพลัสก็คือการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ เพราะจะทำให้สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันน้อยลง และส่งออกได้มากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 3.5% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของโอเปก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และผู้บริหารในอุตสาหกรรมพลังงานบางส่วนยังไม่เชื่อว่า การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใต้รัฐบาลของทรัมป์ โดยผู้บริหารระดับสูงของเอ็กซอน (Exxon) ฝ่ายกิจการต้นน้ำ (upstream) ชี้ว่า ผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดานในปัจจุบันให้ความสำคัญกับวินัยด้านเงินทุน และจะเพิ่มกำลังการผลิตก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าจะทำกำไรได้เท่านั้น

สถานการณ์นี้ยิ่งเป็นไปได้ยากหากราคาน้ำมันตกต่ำลง นอกจากนี้ การพัฒนาแหล่งน้ำมันใหม่ ๆ ต้องใช้เวลานานหลายปี ดังนั้น การที่ทรัมป์สัญญาว่าจะอนุมัติใบอนุญาตขุดเจาะในพื้นที่ใหม่ ๆ จึงไม่น่าจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้

“สหรัฐฯ ไม่มีกำลังการผลิตสำรองเหลือแล้ว ปริมาณการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในเวียนนา (สำนักงานใหญ่ของโอเปก) มากกว่าที่วอชิงตัน”

บ็อบ แมคเนลลี ประธานบริษัทแรพิแดน เอเนอร์จี กรุ๊ป (Rapidan Energy Group) และอดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,