OECD เตือนความตึงเครียดในทะเลแดงส่อแววดันเงินเฟ้อพุ่งสูง

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งล่าสุดซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (5 ก.พ.) ว่า ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลพวงของความตึงเครียดในทะเลแดงจะขัดขวางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่กำลังต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ OECD ประเมินว่า อัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น 100% เมื่อไม่นานมานี้จะทำให้เงินเฟ้อจากราคานำเข้าใน 38 ประเทศสมาชิกของ OECD เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบ 5 จุดเปอร์เซ็นต์ (percentage points) หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ซึ่งเท่ากับว่าจะเพิ่มเงินเฟ้อโดยรวม 0.4 จุดเปอร์เซ็นต์หลังเวลาผ่านไปหนึ่งปี

ในช่วงปลายปี 2566 บริษัทขนส่งรายใหญ่เริ่มเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือโดยเลี่ยงใช้คลองสุเอซของอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปและเอเชียที่รวดเร็วที่สุด เนื่องจากกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนซึ่งได้รับการหนุนหลังจากอิหร่านนั้นก่อเหตุโจมตีเรือพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยความตึงเครียดดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับสูง และกองทัพของประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐ ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เรือพาณิชย์ต้องอ้อมไกลไปถึงแหลมกู๊ดโฮปรอบ ๆ ชายฝั่งตอนใต้ของแอฟริกา ซึ่งเพิ่มระยะเวลาเดินทางระหว่าง 30%-50% ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณเรือขนส่งสินค้าในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม OECD เน้นย้ำว่า อุตสาหกรรมการขนส่งนั้นมีเรือขนส่งสินค้าเหลือเฟือในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการสั่งเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ ๆ ซึ่งจะลดแรงกดดันด้านต้นทุนลง

นางแคลร์ ลอมบาร์เดลลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD กล่าวต่อสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่องจากผลพวงของวิกฤตในทะเลแดงถือเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่ไม่ใช่กรณีพื้นฐานของ OECD

“วิกฤตในทะเลแดงเป็นสิ่งที่เรากำลังจับตาอย่างใกล้ชิด เราเห็นราคาขนส่งสินค้าแพงขึ้น หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เงินเฟ้อจากราคาผู้บริโภคสูงขึ้น แต่ในเวลานี้ เรายังไม่คิดเช่นนั้น”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 67)

Tags: , , ,