NTSB เผย เหตุประตูโบอิ้ง 737 MAX 9 หลุดกลางอากาศนั้น พบสลักเกลียวหาย 4 ตัว

คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ (NTSB) เปิดเผยรายงานเบื้องต้นเมื่อวานนี้ (6 ก.พ.) ว่า แผงประตูบริเวณผนังเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 9 ของสายการบินอลาสก้า แอร์ไลน์ ที่หลุดกลางอากาศเมื่อวันที่ 5 ม.ค.นั้น พบว่ามีสลักเกลียวสำคัญหายไปถึง 4 ตัว

รายงานดังกล่าวมุ่งตรวจสอบว่าแผงประตูในเครื่องบินรุ่น MAX 9 หลุดออกจากเครื่องบินได้อย่างไร โดยแผงประตูดังกล่าว (Door plug) ควรจะถูกยึดไว้ด้วยสลักเกลียว 4 ตัว จากนั้นยึดด้วย “สต็อปฟิตติง” (stop fittings) 12 จุดรอบขอบแผงและกรอบประตู

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รายงานดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่สายการบินอลาสก้า แอร์ไลน์ ประสบเหตุชิ้นส่วนบริเวณผนังเครื่องบินหลุดกลางอากาศเมื่อวันที่ 5 ม.ค. หลังออกเดินทางจากสนามบินในเมืองพอร์ตแลนด์ของรัฐออริกอนได้ไม่นาน ส่งผลให้เกิดให้ช่องโหว่ใหญ่บริเวณลำตัวเครื่องบินและต้องร่อนลงจอดฉุกเฉิน

หลังเกิดเหตุ สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ได้สั่งระงับการบินเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX 9 จำนวน 171 ลำ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย โดยเครื่องบินรุ่นดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้งานโดยสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ และอลาสก้า แอร์ไลน์ ต่อมาในช่วงปลายเดือนม.ค. เครื่องบินเหล่านี้ได้รับอนุมัติให้กลับมาให้บริการได้อีกครั้ง และเกือบทุกลำกลับมาบินอีกครั้งแล้ว

เหตุการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลและฝ่ายนิติบัญญัติเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมดูแลโบอิ้ง โดยในช่วงปลายเดือนม.ค. FAA ได้สั่งห้ามโบอิ้งขยายการผลิตเครื่องบิน 737 MAX เนื่องจากปัญหาด้านคุณภาพ นั่นหมายความว่าบริษัทฯ ยังคงสามารถผลิตเครื่องบิน MAX ในอัตราเดิมได้ แต่ไม่สามารถเพิ่มอัตราการผลิตได้

ทั้งนี้ แผงประตูดังกล่าวผลิตโดยบริษัทสปิริต แอโรซิสเต็มส์ ซึ่งเคยเป็นบริษัทลูกของโบอิ้ง ผลิตที่โรงงานของสปิริตในประเทศมาเลเซีย และส่งไปยังโรงงานในเมืองวิชิตา รัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐ เมื่อเดือนพ.ค. 2566 จากนั้นจึงถูกส่งต่อไปยังโรงงานประกอบเครื่องบินของโบอิ้งในเมืองเรนตัน รัฐวอชิงตัน เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566

รายงานระบุว่า แผงประตูนี้ต้องถอดออกที่โรงงานของโบอิ้งก่อนที่จะติดตั้งกลับเข้าไปใหม่อีกครั้ง โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้นรวมถึงหลักฐานภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่า สลักเกลียวที่ต้องใช้ยึดแผงให้เข้าที่นั้นดูเหมือนจะหายไป

รายงานระบุว่า แผงประตูนี้ถูกถอดออกเป็นครั้งแรกเพื่อซ่อมแซมหมุดย้ำ (rivet) ที่เสียหาย ซึ่งพนักงานของโบอิ้งบันทึกไว้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 เพียงวันเดียวหลังจากที่แผงประตูนี้มาถึงโรงงานในเรนตัน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่กำลังสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีการใช้เอกสารอะไรบ้างเพื่ออนุญาตให้เปิดและปิดแผงดังกล่าวขณะซ่อมแซมหมุดย้ำ

นายจอห์น ค็อกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านการบินของสหรัฐ กล่าวว่า รายงานนี้ทำให้เกิดคำถามว่าใครเป็นผู้ติดตั้งสลักเกลียวในตอนแรก และทำไมการเปิดแผงประตูออกที่เรนตันเพื่อซ่อมแซมหมุดย้ำจึงไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้อย่างถูกต้อง

“สลักเกลียวเหล่านั้นติดตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อไร สปิริตไม่ได้ติดตั้งไว้หรือ แล้วเมื่อโบอิ้งเปิดแผง พนักงานไม่ได้สังเกตเห็นเลยหรือว่ามันไม่มีสลักเกลียว หรือโบอิ้งไม่ได้ติดตั้งเอง นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเรายังไม่มีคำตอบ” นายค็อกซ์กล่าว

โบอิ้งกล่าวว่า บริษัทได้ “ดำเนินการตามแผนควบคุมเพื่อให้แน่ใจว่าแผงประตูทางออกฉุกเฉินกลางลำของเครื่องบิน 737-9 ทั้งหมดได้รับการติดตั้งตามข้อกำหนด”

แผงประตูดังกล่าวถูกพบบริเวณสนามหลังบ้านแห่งหนึ่งแถบชานเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน อย่างไรก็ตาม NTSB ไม่สามารถกู้คืนสลักเกลียวได้ นอกจากนี้ NTSB ยังคงดำเนินการทดสอบและวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อหาคำตอบว่า สลักเกลียวดังกล่าวมีอยู่ก่อนเกิดเหตุหรือหลุดออกระหว่างเกิดเหตุ

ในรายงาน มีภาพถ่ายแสดงจุดที่สลักเกลียวหายไป 3 จุด ส่วนจุดที่ 4 หุ้มด้วยฉนวน

“เอกสารภาพถ่ายที่ได้รับจากโบอิ้งแสดงให้เห็นหลักฐานว่า แผง MED (แผงประตูทางออกฉุกเฉินกลางลำ) ด้านซ้ายมือปิดอยู่โดยไม่มีอุปกรณ์ยึด (สลักเกลียว) ใน 3 จุดที่มองเห็นได้” รายงานระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 67)

Tags: , , , ,