รายงานข่าวจากบมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ระบุว่า ผ่านมา3 ไตรมาส หลังจากมีการควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการระหว่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 เป็น บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom Public Company Limited :NT) เร่งบูรณาการทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรบุคคลที่เปี่ยมประสิทธิภาพและประสบการณ์ด้านดิจิทัลและศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (Organizational Transformation) ท่ามกลางความท้าทายรูปแบบใหม่จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค ภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น และผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
กระบวนการควบรวมองค์กรขนาดใหญ่ ต้องอาศัยเวลาและการขับเคลื่อนในการดำเนินการในการหลอมรวมสองหน่วยงานในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ การลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน การใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน การกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยกระดับหน่วยงานภาครัฐด้านโทรคมนาคมสื่อสารให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นกลไกหลักสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)
จากการผนึกกำลังกันของสององค์กร ส่งผลให้ NT กลายเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ครบวงจรมากที่สุด โดยมีทรัพยากรหลัก ไม่ว่าจะเป็น เสาโทรคมนาคมทั่วประเทศ กว่า 25,000 ต้น เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่สามารถเชื่อมต่อไปยังทุกทวีปทั่วโลก ท่อร้อยสายใต้ดินกว่า 4,000 กิโลเมตร สายเคเบิลใยแก้วน แสงจ นวน 4 ล้านคอร์กิโลเมตร ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ โดยมีจำนวน 13 แห่งให้บริการครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ คลื่น 5G ที่ให้บริการ 6 ย่านความถี่ ปริมาณรวม 600 MHz และระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้ จึงมั่นใจว่า NT มีศักยภาพพร้อมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และโทรคมนาคม โดยได้วางโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจหลัก อาทิ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจบรอดแบนด์ ธุรกิจสื่อสาร ไร้สาย และธุรกิจดิจิทัล
ปัจจุบัน NT เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโครงข่ายสื่อสารข้อมูลส่วนบุคคลความเร็วสูงรายใหญ่ในประเทศไทย ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมรวมถึงระบบโครงข่ายครอบคลุมมากที่สุด การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา NT เร่งเดินหน้าบูรณาการทรัพย์สินร่วมกัน โดยเฉพาะโครงข่ายบรอดแบนด์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น สายไฟเบอร์ออฟติก อุปกรณ์โครงข่าย ทีมช่าง ตลอดจนศูนย์บริการลูกค้า โดยริเริ่ม”ราชบุรีโมเดล”ภายใต้โครงการ Dual Network Solution ซึ่งเป็นการรวม 2 บริการบรอดแบนด์ให้เป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ ช่วยเพิ่มฐานลูกค้า ลดความซ้ำซ้อนการลงทุน และมีประสิทธิภาพในการบริการดียิ่งขึ้น
คณะทำงานบรอดแบนด์ได้ศึกษารูปแบบโครงข่าย และการให้บริการ รวมถึงเรื่องมาตรฐานด้านโครงข่าย อุปกรณ์ ตลอดจนมาตรฐานงานติดตั้งและการแก้ไขเหตุเสียขัดข้องเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน และทำให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด “ราชบุรีโมเดล” จึงนับเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมแรกของ NT หลังจากควบรวมกิจการ ซึ่งความสำเร็จในการผสานการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทำให้ NT มีความเชื่อมั่นที่จะขยายผลต่อเนื่องไปสู่ศูนย์บริการกว่า 500 แห่งทั่วประเทศโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ NT มีการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีเป็นแผนเดียวกัน ทำงานบน KPI เดียวกัน และมีการนำเสนอขายบริการร่วมกันภายใต้แบรนด์ NT เพื่อเป็นอาวุธสำคัญในการเป็นที่หนึ่งเหนือคู่แข่งในตลาดให้ได้
นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจดิจิทัล NT ยังเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนนโยบายภาครัฐด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น โครงการพัฒนาเทศบาลตำบลบ้านฉาง ให้กลายเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยการสร้างชุมชนปลอดภัย สิ่งแวดล้อมชุมชนยั่งยืน ตลอดจนบริการด้านสาธารณสุขและระบบสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชนด้วยเทคโนโลยี 5G แห่งแรกของประเทศไทย
โครงการพัฒนาบริการคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service : GDCC) เป็นอีกโครงการใหญ่เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐบาลดิจิทัล (Government Transformation) และการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) โดยบริการคลาวด์ของ NT ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ (Health Link) ระบบหมอชนะ รวมถึงโครงการ Phuket Sandbox
ในส่วนของการสร้างสรรค์บริการโทรคมนาคมและดิจิทัลที่มีคุณภาพในการให้บริการ NT ไม่ละเลยที่จะสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลและการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีการดำเนินงานเพื่อสังคมในกระบวนการทำงานขององค์กร (CSR in process) ผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โครงการ Green NT และโครงการนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ NT ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการนำศักยภาพองค์กรไปพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์แก่ชุมชน (CSR after process) ผ่านโครงการบริการโทรคมนาคมเพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสุขศาลาพระราชทาน การสนับสนุนห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” และโครงการเพาะพันธุ์ดี NT Youth Club ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมองค์ความรู้ในการบริหารจัดการการเกษตรอัจฉริยะในรูปแบบ IoT Digital farming อีกทั้งสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีตั้งแต่ระดับเยาวชนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things และนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชนในยุคดิจิทัลที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ NT จึงไม่เพียงแต่มีพันธกิจในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเท่านั้น หากยังมีบทบาทช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีโทรคมนาคมสื่อสารของคนไทยทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและมั่นคงในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 64)
Tags: NT, ดิจิทัล, โทรคมนาคมแห่งชาติ