MTL เริ่มใช้เกณฑ์ Copayment 20 มี.ค.กับกรมธรรม์ใหม่ ปี 68 เทรนประกันสุขภาพแรงต่อ

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) เปิดเผยถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) เมืองไทยประกันชีวิตจะมีการบังคับใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. เป็นต้นไป โดยมีผลเฉพาะลูกค้าใหม่ และกรมธรรม์ใหม่เท่านั้น ขณะที่ลูกค้าเดิม และการต่ออายุกรมธรรม์เก่าจะไม่มีผลบังคับใช้ Co-Payment ทั้งนี้รายละเอียดเงื่อนไข Co-Payment จะมีการแถลงข่าวโดยสมาคมประกันชีวิตไทยในวันที่ 6 ก.พ. 68

ขณะที่ในปี 2567 เมืองไทยประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 71,800 ล้านบาท เติบโต 1.6% จากปีก่อน เบี้ยประกันภัยรับใหม่เติบโต 13% ซึ่งเป็นการเติบโตในกลุ่มสินค้าหลัก อาทิ Shield Life (ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบภายในระยะเวลาและประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์) เติบโต 42% และแบบประกันคุ้มครอง โรคร้ายแรง (รายเดี่ยว) เติบโต 24% เป็นต้น ด้านคะแนน NPS (Net Promoter Score) สูงขึ้นจาก 58 คะแนน เป็น 75 คะแนน ขณะที่ภาพรวมปี 68 คาดจะรักษาระดับเบี้ยรับรวมใกล้เคียงจากปี 67

สำหรับแนวโน้มประกันสุขภาพในปี 68 ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจอาจชะลอตัวแต่มองว่าเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงทั้งช่วงที่เติบโตดีและไม่ดี แต่ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ได้มีการยกเลิกกรมธรรม์ เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้ามีความสนใจประกันสุขภาพมากขึ้น โดยเป็นการเข้าหาตัวแทนเพื่อซื้อประกัน ต่างจากประกันอื่น ๆ ที่ตัวแทนจะเสนอขายกับลูกค้าก่อน โดยในปี 67 เมืองไทยประกันชีวิตมีการเติบโตทั้งประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง และเชื่อว่าในปีนี้อย่างน้อยเทียบเท่ากับการขยายตัวของ GDP ประเทศ

ขณะที่ธุรกิจในภูมิภาค CLMV ยังมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งเน้นการเติบโตระดับภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีการขยายการลงทุนใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย และประกันชีวิตที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ขณะที่สปป.ลาว ได้มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบธุรกิจธนาคาร ST Bank ในลาว มีส่วนแบ่งการตลาดของประกันชีวิตเป็นอันดับ 1 ในประเทศ และในเวียดนาม ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัท MB Ageas Life ในเวียดนาม และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของ อุตสาหกรรมธุรกิจประกันภัยโดยธนาคารพาณิชย์

โดยบริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ณ สิ้นปี 2567 มากกว่า 350% ซึ่งสูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดที่ 140% บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และความแข็งแกร่งทางการเงินจาก S&P Global Ratings ที่ระดับ BBB+ (Stable Outlook) และ Fitch Ratings ที่ระดับ A- และ AAA(tha) (Stable Outlook)

สำหรับในปี 2568 นี้ เมืองไทยประกันชีวิตยังคงตอกย้ำตัวตนในการเป็นแบรนด์แห่งการสร้างความสุขและรอยยิ้มที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับการส่งมอบความสุขผ่านกลยุทธ์ “Boost Your Happiness by Our People” บูสท์ความสุขของคุณด้วยคนของเมืองไทยประกันชีวิต ด้วยการเดินหน้าพัฒนาองค์กรในทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการส่งมอบความสุขให้กับลูกค้าทุกท่านด้วยความเป็นมืออาชีพ (Professionalism & Expertise) ความโปร่งใสและความสะดวกสบาย (Transparency & Convenience) และความไว้วางใจ (Commitment & Trust) ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ในทุกช่วงชีวิต ประสบการณ์การบริการแบบไร้รอยต่อ (Seamless Experience) และคำมั่นสัญญาตลอดชีวิต (Lifelong Commitment) ผสานกันอย่างลงตัวเพื่อตอบโจทย์ในทุกความเป็นคุณ

ทั้งนี้ บริษัทฯ เดินหน้าพัฒนาองค์กรทุกภาคส่วน ด้วยการพัฒนาพนักงาน และฝ่ายขายให้มีความสามารถรอบด้าน เพิ่มทักษะการใช้ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ผสมผสานอยู่ในทุกกระบวนการทำงาน (Data & AI Literacy) ทักษะด้านการสื่อสารและการบริหาร (Soft Skills) ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Expert Knowledge) และความเชี่ยวชาญในหลายมิติ (Cross-Domain Expert Knowledge) ควบคู่ไปกับสร้างความสุขจากภายในองค์กร ให้กับ “คนของเรา” ที่มีความหลากหลายให้ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ “การส่งมอบความสุขให้กับลูกค้าคนสำคัญ”

โดยคนของเรา…พร้อมส่งมอบความสุขให้แก่ลูกค้าผ่านการวางแผนสำหรับทุกช่วงของชีวิต ทั้งการวางแผนทางการเงิน การวางแผนเกษียณ การวางแผนสุขภาพ และการวางแผนมรดก ด้วยความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ และประกันชีวิตควบการลงทุน รวมถึงฟีเจอร์พิเศษทั้งความยืดหยุ่นด้วยรูปแบบความคุ้มครองที่ปรับแต่งได้ (Modular Design) ความคุ้มครองที่ปรับได้ตามช่วงชีวิตของลูกค้า (Convertible Option) และการเติมเต็มความคุ้มครองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น (Plus)

นายสาระ กล่าวว่า ธุรกิจประกันชีวิต เป็นธุรกิจที่ให้ความคุ้มครองแก่ลูกค้าในระยะยาว ดังนั้น เมืองไทยประกันชีวิตจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกก้าว ภายใต้การกำกับดูแลกิจการ และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการสร้างสมดุลทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติบรรษัทภิบาล (ESG) โดยเฉพาะในส่วนของมิติสังคม บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการพัฒนาแบบประกันภัยที่ช่วยตอบโจทย์การเข้าถึงได้ของประกันชีวิตให้กับทุกคน (Democratize Insurance) พร้อมสร้างความรู้ด้านการวางแผนการเงินและประกันภัย (Financial & Insurance Literacy) ให้กับประชาชนทั่วไป และการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน

ด้านมิติสิ่งแวดล้อม เมืองไทยประกันชีวิตในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ได้ร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านโลกของเรา ประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของบริษัทฯ (ขอบแขตที่ 1 และ 2)* ภายในปี 2573 (2030) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานภายในบริษัทฯ

“ในปีนี้เราตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นปีที่ สีบานเย็นจะบานสะพรั่งทั่วประเทศ โดยเมืองไทยประกันชีวิตจะยกระดับความสุขให้กับทุกคน ทั้งลูกค้า พาร์ทเนอร์ พนักงานและฝ่ายขายของเรา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ผ่านผลิตภัณฑ์ บริการ และช่องทางการขายต่าง ๆ สีบานเย็นจะรวมพลังกันอย่างแข็งแกร่ง เพื่อส่งมอบความสุขและรอยยิ้มให้ลูกค้าคนสำคัญของเราทุกคน” นายสาระ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 68)

Tags: , ,