Pain Point หรือจุดปวดของวงการคนสายเทคและเหล่า Tech Talent นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การหาคนมาทำงานในสายงานเป็นประเด็นที่มีปัญหามานาน นอกจากจะขาดแคลนแล้ว การรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยหรือแชร์ข้อมูลที่เคยทำผ่านโซเชียลมีเดียก็ถูกปิดกั้น ในขณะที่ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจต้องการแรงสนับสนุนจากคนสายเทคและนวัตกรรม การหาทางออกให้กับ Pin Point เหล่านี้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ที่ได้จับมือเครือข่ายพันธมิตรสายเทค เปิดตัวแพลตฟอร์ม Tech Thailand ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบของชุมชนเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและผู้ประกอบการธุรกิจแพลตฟอร์มในไทย
แพลตฟอร์ม Tech Thailand เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด และบริษัท มิสเตอร์ฟ็อกซ์ จำกัด โดยได้รับความช่วยเหลือในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มให้เกิดการใช้งานในระดับประเทศจากทาง depa
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ประเทศไทยมีความต้องการด้านบุคลากรเฉลี่ยประมาณหนึ่งแสนคนต่อปี แพลตฟอร์ม Tech Thailand จะช่วยให้บุคลากรวงการเทคสามารถมารวมตัวกัน แบ่งปันองค์ความรู้ หรือร่วมดำเนินงานผ่านฟีเจอร์ต่างๆ ที่อยู่ในแพลตฟอร์ม เราเชื่อว่าแพลตฟอร์มชุมชนนี้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล บทบาทของ depa จะเป็นบทบาทหลักของการส่งเสริมการดำเนินงานภาคเอกชนให้สามารถเติบโตต่อไปอย่างเข้มแข็ง
ทางด้านนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า แพลตฟอร์ม Tech Thailand มีจุดเริ่มต้นจาก Pain Point ของการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่ถูกปิดกั้นการมองเห็น ส่งผลให้การค้นหาเนื้อหาหรือบุคลากรในสายเทคโนโลยี ไอที นวัตกรรม รวมถึงดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก เกิดอุปสรรคในการเชื่อมโยงคนในวงการเดียวกัน ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมคนในสายเทคในรูปแบบ Content and Community Platform ให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีคุณภาพ และสร้างสรรค์ให้กับสังคม
ส่อง Pain Point คนสายเทค
ภายในงานได้มีการพูดคุยกันในหัวข้อ Tech Community เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยีได้พูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนบุคลาการสายเทคโนโลยีในไทย อุปสรรคต่าง ๆ และแนวทางแก้ไข
ที่ผ่านมา Pain Point ของวงการและคนสายเทคโนโลยีในไทย จะมีทั้งเรื่องการขาดแคลนบุคลากร ความคาดหวังเรื่องการทำงานของคนสายเทคและบริษัท การแข่งขันของคนสายเทคในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินเดีย ซึ่งมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน จึงทำให้บริษัทในไทยต้องคัดเลือกหรือสรรหาบุคลากรแข่งกับบริษัทระดับโลก ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรจึงยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น วิธีแก้ปัญหา คือ การดึงบริษัทระดับโลกและคนสายเทคที่มีความสามารถให้มาทำงานและลงทุนในไทย ชุมชุนคนสายเทคอย่าง Tech Thailand จึงเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว
ทางด้าน พงศ์วุฒิ ไพรไพศาลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิลติเวิร์ส เอ็กเปอร์ท จำกัด กล่าวถึงเรื่องบุคลากรในวงการว่า เราไม่ได้ขาดแคลนคน แต่ชาวเทคที่มีความสามารถมักจะเลือกทำงานเฉพาะทางมากกว่า โดยเฉพาะหลังจากช่วงโควิด คนสายเทคที่มีความสามารถหรือ Tech Talent ต้องการทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ใดก็ได้ ในขณะที่บริษัทก็อยากให้พนักงานเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ โดยกำหนด KPI ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้ก็ต้องมาดูว่าชาวเทคยอมรับได้หรือไม่
ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีของต่างชาติในไทย เช่น บริษัทเทคของเวียดนามนั้นไม่มีออฟฟิศ พนักงานไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ประเด็นคือเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว จะทำให้เกิดการแย่งงานหรือไม่ถ้าบริษัทไทยมีเงื่อนไขมากมาย ในขณะที่คนสายเทคของอินเดียนั้นพร้อมที่จะทลายกำแพงในเรื่องนี้
จากการที่ได้เดินสายพบปะกับบริษัทเทคโนโลยีเวียดนามชั้นนำเป็นจำนวนมากนั้น บริษัทเหล่านี้มองว่า คนสายเทคในไทยจะทำงานแบบที่ตนเองอยากจะทำ แต่อยากได้ผลตอบแทนแบบซิลิคอนวัลเลย์ ในขณะที่บริษัทในเวียดนามจะเน้นการแข่งขันกันในองค์กร แบ่งซอยโปรเจคออกมาแล้วแข่งกันทำงาน มีการประเมินผลกันทุก 6 เดือน ถ้า KPI ผ่านก็จะได้ขึ้นเงินเดือนทุก 6 เดือน ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามเองก็จริงจังกับการผลักดันบุคลากรสายเทคโนโลยีที่มีความสามารถ
การแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องการขาดแคลนบุคลากรและสภาพแวดล้อมของคนสายเทคดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คนสายเทคในไทยจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ เพราะบริษัทต่างชาติเองก็มีทั้งข้อได้เปรียบไม่น้อยไปกว่าบริษัทไทย อีกทั้งการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องรับมือ
ทำความรู้จักกับแพลตฟอร์ม Tech Thailand
เมื่อมีการร่วมมือกันเพื่อหาทางแก้ Pain Point แล้ว คนสายเทคจะสามารถใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์จาก Tech Thailand ได้อย่างไรและแพลตฟอร์มนี้มีเป้าหมายที่จะทำอะไรบ้างนั้น นายฉัตรมงคล เขมาภิรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิสเตอร์ฟ็อกซ์ ได้กล่าวถึง Tech Thailand ว่า เป็นแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาโดยบริษัทของคนไทย ให้บริการฟีเจอร์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านข้อมูลข่าวสารและการเป็นพื้นที่แบ่งปันองค์ความรู้สำหรับบุคลากรสายเทคแบบเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์สำหรับช่วยให้ครีเอเตอร์สายเทคสามารถสร้างรายได้ หรือร่วมจับมือเป็นพันธมิตรกับฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถตามหาบุคลากรตามความต้องการได้อย่างตรงจุด กระตุ้นความสำเร็จ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในไทย
เป้าหมายของ Tech Thailand
– โครงการ Tech Citizen: สร้างฐานข้อมูล เพื่อสำรวจประชากรชาวเทคทั้งหมดในประเทศ
– Tech Directory: จัดระเบียบฐานข้อมูล และหมวดหมู่ เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงภาคส่วนต่างๆ
– Community Platform: ศูนย์กลางและเชื่อมโยงผู้คนทั้งอุตสาหกรรมให้สื่อสารกันได้
– เก็บข้อมูล รวบรวมสถิติที่เกี่ยวข้องในสายเทคโนโลยี เพื่อให้ทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำไปใช้สำหรับพัฒนาอุตสาหกรรม
– เป็นแหล่งกำเนิดคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและพร้อมจะขยายออกไปสู่ผู้อ่านและผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น
– ช่วยสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอให้แก่ Tech Creator ที่มีคุณภาพจากการใช้งานแพลตฟอร์มนี้
ฟีเจอร์ของแพลตฟอร์ม Tech Thailand
1. Subscription Post ฟีเจอร์นี้จะเปิดโอกาสให้คนสายเทคได้โพสต์รูป อัลบั้ม วิดีโอแบบเอ็กซ์คลูซีฟของตนเอง หากผู้อ่านต้องการที่จะอ่านหรือดูคอนเทนต์เหล่านี้ ผู้อ่านจะต้องซื้อคอยน์และจ่ายค่าบริการตามที่ได้มีการระบุไว้โดยครีเอเตอร์
2. Unlock Post เป็นฟีเจอร์ที่เปิดให้ชาวเทคอัปโหลดรูปภาพ อัลบั้ม วิดีโอ โดยผู้อ่านสามารถซื้อคอยน์เพื่อจ่ายค่าบริการในการเข้าถึงคอนเทนต์ดังกล่าว ซึ่งครีเอเตอร์สามารถกำหนดพาสเวิร์ดและกำหนดราคาของคอนเทนต์แต่ละประเภทได้เอง
3. Create event & NFT tickets ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสามารถครีเอทอีเวนท์ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ และออกตั๋ว NFT เพื่อการเข้าถึงอีเวนท์เหล่านี้
4. Live Streaming and Live Archive ฟีเจอร์นี้จะเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วม และสามารถเลือกรูปแบบของการไลฟ์ได้
5. Access Control ฟีเจอร์ที่ควบคุมการเข้าถึงตั๋วต่าง ๆ
6. Tech Ranking ฟีเจอร์นี้จะช่วยผลักดันเหล่าครีเอเตอร์ด้วยการจัดอันดับของการมีส่วนร่วม เช่น การจัดอันดับจากยอดไลค์ คะแนนโหวต คอยน์ วิว และผู้ติดตาม ซึ่งจะมีการให้รางวัล และยังสามารถเพิ่มเลเวลได้ด้วยการให้คะแนน
Tech Thailand ให้ประโยชน์อะไรบ้าง
สำหรับชาวเทคที่มีพรสวรรค์และ Key Opinion Leader (KOL) นั้น ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม คือ การได้พูดคุยสื่อสารกัน และพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ กับชุมชน Tech Thailand นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างรายได้จากการแบ่งปันความรู้ของตนเองให้กับชุมชนบนแพลตฟอร์ม
สื่อสายเทคโนโลยี จะได้รับรายได้จากแพลตฟอร์ม รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ในขณะที่สมาชิกหรือผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเองก็จะได้คอนเทนต์เกี่ยวกับเทคโนโลยีจากบุคคลที่ตนเองติดตาม และยังสามารถเรียนรู้ เข้าร่วมอีเวนท์แบบออนไลน์ในราคาที่ดีกว่า
ในขณะที่ภาครัฐบาลเองก็จะได้ฐานข้อมูลที่ได้มีการอัปเดตเกี่ยวกับประชากรชาวเทคในไทย รวมทั้งสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้สะดวกขึ้น และใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีได้
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ณัฐพล และ ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการการส่งเสริมการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการส่งเสริมกลุ่มชุมชนเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม Tech Thailand ในประเทศไทย ที่งาน TECH THAILAND GRAND OPENING โดยมี นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ depa และนายเอกชัย สุขุมวิทยา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจ เวนเจอร์ส ร่วมเป็นพยาน เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 66)
Tags: Tech Thailand, ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์, ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์