Media Talk: ถอดรหัสความสำเร็จและข้อเสนอจากใจ 3 ผู้ผลิตซีรีส์ไทยสุดปัง

3 ผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ไทยได้ขึ้นเวทีในงาน 1 ทศวรรษ ทีวีดิจิทัล ในวันนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จและอนาคตของคอนเทนต์บันเทิงของไทย ไม่ว่าจะเป็นคุณณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสเตอร์ วัน วีดีโอ โปรดักชั่น จำกัด และ “คุณเต้” ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก รองประธานกรรมการบริหารด้านงานสร้างสรรค์ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รวมทั้งคุณเอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้กำกับซีรีส์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว

โดยเริ่มต้นกับ ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ที่ได้ขึ้นเวที เพื่อพูดคุยในหัวข้อ “ฝันไปว่าซีรีส์ไทยไปได้ไกลกว่าซีรีส์เกาหลี” โดยกล่าวว่า ไทยมีของดีอยู่แล้ว เช่น ละคร “บุพเพสันนิวาส” และซีรีส์วาย และล่าสุดอย่าง “สืบสันดาน” จุดเด่นอีกอย่างของซีรีส์ไทยคือ หนังผีไทย คนไทยทำหนังผีเก่งมาก อย่างซีรีส์ “อังคารคลุมโปง” ที่ทำมาจากรายการวิทยุ เรามีของเยอะมาก เพียงแต่ต้องใส่อะไรที่คนทั่วโลกสามารถเข้าใจได้ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม

กรรมการผู้จัดการมาสเตอร์วันฯ กล่าวต่อไปว่า ยุคหลัง ๆ ทั้งซีรีส์เกาหลีและซีรีส์ไทยก็จะมีการนำบริบททางวัฒนธรรมหรือสังคมมาใส่ อย่าง “SKY Castle” ของเกาหลีใต้ หรือละคร เรื่อง “วัยแสบสาแหรกขาด” ที่พูดถึงปัญหาสังคม เด็กทำร้ายตัวเอง บูลลี่ โซเชียลมีเดีย เรื่องและประเด็นเหล่านี้ก็ยังมีอยู่

“เราจะทำให้ดีพอ ๆ กับเค้าไม่ได้ เราต้องคิดให้มากกว่าเค้า อีกซีรีส์นึงคือ ‘ฆาตกรรม เดอะ มิวสิตัล’ เป็นเรื่องเกียวกับละครเวทีที่เราลองมาใส่บริบทไทยเข้าไป แม้ว่าจะ ได้ไอเดียมาจากเรื่อง Knives Out และ Phantom of the Opera ก็ตาม” คุณณิธิภัทร์ กล่าว

นอกจากนี้ คุณณิธิภัทร์ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการนำเสนอโปสเตอร์และตัวอย่างของซีรีส์หรือภาพยนตร์ โดยยกตัวอย่าง trailer 2 นาที ของภาพยนตร์เรื่อง “วิมานหนาม” ที่ตัวอย่างมาแค่ 2 นาที แต่สามารถทำให้คนดูต้องร้อง “ว้าว” พร้อมแนะว่า เราต้องตัดตัวอย่างหนังหรือซีรีส์ให้ดูอินเตอร์ ให้ต่างชาติเข้าใจต้วย การนำเสนอและ First impression สำคัญมาก

แล้วกับคำถามที่ว่าซีรีส์ไทยจะไปไกลกว่าเกาหลีได้หรือไม่ เรื่องนี้ คุณณิธิภัทร์กล่าวว่า เป็นไปได้สูง แต่ขึ้นอยู่กับเวลา ปัจจัย เงินทุน และแพลตฟอร์ม ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ต่างชาติสามารถมาดูได้ เรามีแพลตฟอร์มระดับโลกอยู่แล้ว ขอแค่คอนเทนต์ดีก็สามารถไปไกลระดับโลกได้ เมื่อทุกอย่างเท่ากันมันก็อยู่ที่คอนเทนต์แล้ว อย่างสืบสันดานไปได้ไกล ปีก่อนก็มี “Hunger คนหิว เกมกระหาย” เพียงแต่เราต้องการแรงสนับสนุนและแรงผลักดันอีกนิดนึง

ถอดรหัสความสำเร็จ “สืบสันดาน”

“คุณเต้” ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก รองประธานกรรมการบริหารด้านงานสร้างสรรค์ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของผลงานซีรีส์ฝีมือคนไทยที่ขึ้นอันดับหนึ่งของแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง NETFLIX ทั่วโลกสำหรับซีรีส์ภาษาต่างประเทศที่มีผู้ชมสูงสุดและติดท็อป 10 ใน 63 ประเทศ ได้ขึ้นเวทีเพื่อพูดคุยในหัวข้อ “กรณีศึกษา สืบสันดาน ละครไทย มาตรฐาน NETFLIX” ถึงที่มาของความสำเร็จในครั้งนี้ว่า เกิดจากการวางแผนที่ดี โดยเฉพาะการทำงานกับแพลตฟอร์มที่มีระบบ มีการวางแผนที่ดีมากตั้งแต่ถ่ายทำ โพสต์โปรดักชั่น การทำตลาด การประชาสัมพันธ์ ทำให้มีกระแสตอบรับที่ดีตั้งแต่ที่ยังไม่ได้มีการฉายออนแอร์

“ไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรจะฮิต เราต้องตั้งใจทำเต็มที่ในแบบที่เราถนัดก่อน เราเกิดมาในครอบครัวนักทำคอนเทนต์ รอวันนี้มานาน” คุณเต้ กล่าว

คุณเต้กล่าวตอบคำถามถึงเรื่องการวางแผนหรือการเลือกปมปัญหาอย่างไรว่า เขาได้ Pitch หรือนำเสนอไปหลายเรื่อง ขอบคุณ Netflix ที่เลือกเรื่องนี้ การนำเสนอเรื่องครอบครัวและความรัก ที่ทำงาน ปัญหาที่มีอยู่ในทุก ๆ ที่ในโลก บางอย่างเกิดจากประสบการณ์ตรงมานำเสนอเป็นลายเซ็นของกันตนา

นอกจากนี้ ความสำเร็จของสืบสันดานยังนำไปสู่การทำโปรเจคใหม่ คุณเต้กล่าวว่า เรื่องต่อมาถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังไม่สามารถพูดได้ แต่เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มเดิม และมีเรื่องที่เป็นลักษณะที่ถนัด แนวอิงความจริงและอิงประวัติศาสตร์ รับรองว่า แซ่บแน่ นอกจากแพลตฟอร์มปัจจุบันแล้วยังมีแพลตฟอร๋มอื่น ๆ ด้วย

คอลแลบกับต่างประเทศ

คุณเต้ กล่าวต่อไปถึงความร่วมมือกับต่างประเทศว่า จริง ๆ กันตนาทำงานผลิตทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมา 73 ปีแล้ว เต้เป็นเจนที่ 3 เราคอลแลบกับต่างประเทศมานานแล้ว ปัจจุบันเราสามารถบอกได้อย่างเต็มที่และต่างประเทศก็ให้เครดิตเรามากขึ้น ตอนนี้เป็นยุคที่เราสามารถคิดเรื่องและทำเพื่อขายต่างประเทศได้ ตอนนี้กันตนามีเปิดสอน Script writing และในปีนี้ เรามี 2 กิจกรรมที่เราโปรโมท เราเพิ่งเปิดตัว Virtual studio และในเดือนกันยายนนี้จะมี LGBT Film Festival

คุณเต้ยังได้ตอบคำถามที่ว่า ความสำเร็จของสืบสันดานมาจากการพูดความจริงที่ไม่มีใครกล้าพูดหรือไม่ว่า การทำละครจากความจริงที่ไม่มีใครกล้าพูดเป็นสิ่งที่กันตนาทำมาโดยตลอด แต่คนที่ไม่ได้ดูหรือไม่เคยดูของกันตนามาก่อน แล้วพึ่งมาดูบน Netflix ก็ทำให้คนเพิ่ง discover โดยอย่างที่ผ่านมา กันตนาก็มี ตี๋ใหญ่ ซีอุย ก็เป็นเรื่องจริงที่ทำมาก่อน

ส่วนความสำเร็จของซีรีส์ไทยในอนาคตต้องกล้าพูดกล้าทำหรือไม่นั้น คุณเต้กล่าวว่า ต้องมีความกล้าหาญ ทำอย่างไรให้มาตรฐานของการทำคอนเทนต์ทั้งหมดมีมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม แล้วก็ไปข้างหน้าด้วยกันพร้อมกัน สามัคคีไปด้วยกัน

เจ้าของผลงานสืบสันดานได้ฝากข้อคิดถึงการจะประสบความสำเร็จไว้ว่า ถ้าเป็นอาชีพที่เรารัก เราจะทำได้ดี เติมแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง ตอนนี้โลกเราเปิดกว้างมากแล้ว เราสามารถทำได้ทุกอย่างเลย

ส่อง 3 ข้อเสนอ “Supercharging” จากเจ้าของผลงานดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว

เอกชัย เอื้อครองธรรม เจ้าของผลงานดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว, Ambassador for Thailand, Asian Academy Creative Awards; Film & Series Director, Scriptwriter, Showrunner, Producer & Executive Producer ได้แชร์ความคิดเห็นในหัวข้อ “Supercharging Glocal Thai Content” ว่า อยากให้โฟกัสไปที่ Supercharging Thai content โดยเริ่มจาก Glocal Content หรือคอนเทนต์ที่มีพันธุกรรมและมีจิตวิญญาณของความเป็นไทย แต่ดันถูกใจคนทั่วโลก

คุณเอกชัย กล่าวว่า เราสามารถทำให้ปังอย่างสม่ำเสมอให้คนทั่วโลกช็อคได้ ซึ่ง Glocal Content จะเป็นตัวเร่งปฏิกริยาที่ทำให้เกิดแรงกระเพิ่อม คอนเทนต์แบบเอ็นเตอร์เทนเมนท์จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมได้มากอย่างในญี่ปุ่นและเกาหลี จากนั้น คุณเอกขัยได้เสนอ 3 วิธี Supercharging คอนเทนต์ไทยที่คิดว่าสามารถทำได้เร็วและได้ Quick Win อีกทั้งยังกระตุ้นได้ตรงจุด

1. การทำให้คนไทยมีเงินลงขันใน IP (Intellectual Property) ระดับโลก และเมื่อเกิดขึ้น จะเกิดการใช้ IP ได้แบบ 360 องศา พัฒนาต่อยอดได้ โดยยกตัวอย่าง Lion King หรือ Frozen ที่น่าจะได้รับความนิยมไปอีกนาน

“อยากให้เราคิดว่า เราอยู่ในธุรกิจที่ไม่ใช่แค่สร้างคอนเทนต์ แต่เราสร้างไอพีก่อน ถ้าเรามีไอพีดี ๆ คนไทยควรมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ อย่างสิงคโปร์จะมีเงินทุนให้โปรดิวเซอร์ ให้ทุนลงทุนในหนังที่มีศักยภาพที่จะโต global และเจ้าของหนังจะต้องเป็นเจ้าของสิทธิ IP เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดการเติบโตของ GDP ได้ มันไม่ผิดที่จะดึงความเชี่ยวชาญจากพาร์ทเนอร์ระดับโลกมาช่วยปรุง แต่ที่สำคัญคือเราต้องมีเงินไปลงขัน เพื่อที่เราจะได้เป็นเจ้าของใหญ่ของไอพีนั้น มีมาตรการให้ co production grant จากภาครัฐ นั้นคือ IP ที่จะผลิดอกออกผลจากรุ่นสู่รุ่น” คุณเอกชัย กล่าว

2. การให้ Cash Rebate แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์หรือซีรีส์ไทย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันกับของฝั่งต่างประเทศ

คุณเอกชัย กล่าวถึงการให้สิทธิประโยชน์ระหว่างผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในไทยและผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยที่แตกต่างกันด้วยว่า ในกรณีนี้ ตนเองขอเสนอให้มี Cash rebate หรือสิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย ที่ผ่านมา ไทยมีชื่อเสียงก้องโลก มีทีมงานที่ต่างชาติชอบ ทำให้มีการเข้ามาถ่ายทำภายพยนตร์ในไทย โดยมีการให้ Cash rebate แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างชาติที่เข้ามาถ่ายทำในไทยด้วย

นอกจากนี้ ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศยังมีข้อได้เปรียบเพราะมีเครือข่าย International distribution network มาก

คุณเอกชัย กล่าวว่า เมื่อคอนเทนต์ของเราเป็น Glocal Thai Content ได้แล้ว เราจึงจะสามารถดึงเครือข่าย International distributor เข้ามาได้ นี่จะเป็นการการันตีว่า Glocal Thai content จะมี distribution ได้และไม่น้อยหน้าใคร

“อย่าง Bollywood ที่ทำมาได้เพราะเค้าได้เคริอข่าย distribution มาตั้งแต่ต้น ผมจะเสนอให้ เราได้ความเท่าเทียม ขอให้ซีรีส์และหนังที่ทำโดยคนไทย ได้ Cash rebate เท่ากับภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดและต้องมี international distribution ด้วย”

3. เสนอให้ยกเว้นภาษีรายได้ประจำปีให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงในรูปแบบของ BOI (Board of Investment of Thailand) หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย

คุณเอกชัย กล่าวถึงข้อเสนอนี้ว่า ที่ผ่านมา BOI ได้ทำหน้าที่อย่างดีในการส่งเสริมการลงทุน 8 อุตสาหกรรม น่าจะเพิ่มอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นอุตสาหกรรมที่ 9 ปัจจุบัน อุตสาหกรรมบันเทิงได้กำไรเฉลี่ย 10% ต้องเสียภาษีรายได้ 20% เท่ากับว่าการยกเว้นภาษีอุตสาหกรรมบันเทิงจะทำให้เกิดการผลักดันให้อุตสาหกรรมบันเทิงเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็จะช่วยผลักดัน GDP และสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วยในที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ส.ค. 67)

Tags: , , , ,