นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) (MBKET) ประเมินจากการประชุม FOMC (FEDERAL OPEN MARKET COMMITTEE) เมื่อ 15-16 มิ.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังไม่มีบทสรุปจุดเริ่มต้นการไถ่ถอน QE อย่างเป็นทางการ แต่สัญญาณจาก Dot Plot บ่งชี้ว่า FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ภายในปี 2566 เร็วขึ้นจากประมาณการในครั้งก่อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดัน sentiment การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
แต่อย่างไรก็ตามในความผันผวนที่มีโอกาสเกิดขึ้นก็เป็นโอกาสสำหรับหุ้นบางกลุ่ม
- 1) EXPORT (ELECT/FOOD) ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นเร็วกว่าคาดเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ และในทางกลับกันก็กดดันเงินค่าเงินบาท ได้แก่ HANA แนวโน้มกำไรเด่น จากอุปสงค์ที่ยังแข็งแรงตามเศรษฐกิจโลก ผสานการขยายกำลังผลิตใหม่, KCE แนวโน้มกำไรขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ คำสั่งซื้อที่ยังแน่นถึงครึ่งปีหลัง และพัฒนาการขยายกำลังผลิตลูกค้าใหม่, TU อาหารทะเลแช่แข็งฟื้นตัวตามการเปิดเมือง เช่นเดียวกับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ Demand โตทั้งในประเทศและส่งออก
- 2) ENERG ภาวะ Reflation การเร่งตัวของเงินเฟ้อ เศรษฐกิจฟื้นตัว เร็วกว่าคาด เป็นบวกต่อราคาน้ำมันดิบ ได้แก่ PTTEP ได้ประโยชน์โดยตรงจากราคาน้ำมันดิบขาขึ้น Demand เร่งตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, TOP การเปิดประเทศ การเดินทางระหว่างประเทศ กระตุ้นความต้องการ Jet Fuel มากขึ้น หนุนส่วนต่างเข้าสู่รอบฟื้นตัว, SPRC การเดินทางด้วยรถยนต์ การใช้ชีวิตนอกบ้าน กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้น หลังการล็อคดาวน์ เพิ่มความต้องการ Gasoline
- 3) PROP ดอกเบี้ยขาขึ้นมาเร็วกว่าคาด จะกระตุ้น Demand การซื้ออสังหาฯให้เร่งตัวก่อนดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นตาม ได้แก่ AP มี Supply ที่รองรับความต้องการได้เพียงพอ เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังปี 64 สูงที่สุดกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท, SC เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งกำลังซื้อโดนผลกระทบจากโควิด-19 จำกัด
- 4) BANKING/INSUR ได้ประโยชน์โดยตรงจากดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ KBANK แรงกดดันจาก NIM ที่ต่ำมาเป็นระยะเวลานานจะค่อยๆผ่อนคลายลง อีกทั้งเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการฟื้นตัวของกลุ่ม SMEs ไทย หลังวิกฤตโควิด-19, BKI ได้อานิสงส์บวกในแง่ผลตอบแทนจากการลงทุน และความเสี่ยงการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) ลดลง
อีกประเด็นสำคัญ คือการแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี เรื่องการส่งสัญญาณเปิดประเทศใน 120 วัน และสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ซึ่งสะท้อนถึง
- 1) เงื่อนไขการเปิดประเทศที่ indicator คือ ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรกครบ 50 ล้านคน (หรือประมาณ 70%) ซึ่งปัจจุบันฉีดเข็มแรกทั้งสิ้นประมาณ 4.9 ล้านคน ดังนั้น ต้องฉีดให้ได้เฉลี่ยเฉพาะเข็มแรก 3.3 แสนคนต่อวัน เพื่อบรรลุเป้าหมายใน ต.ค.
- 2) ยืนยันการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมในประชุม ศบค. ชุดใหญ่ตั้งแต่ศุกร์นี้เป็นต้นไป เป็นบวกต่อกลุ่มภาคบริการ ได้แก่ CENTEL ได้อานิสงส์บวกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเร็วขึ้น และฟื้นความเชื่อมั่นคนไทย กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ, CPN Pent-up Demand การใช้ชีวิตนอกบ้าน หลังความเชื่อมั่นฟื้น ก้าวผ่านสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสาม ที่หนักที่สุด, AU Timeline การเปิดประเทศที่เร็วขึ้น บวกต่อธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งน่าจะได้รับการผ่อนคลายเป็นลำดับแรกๆและเร็วขึ้นกว่าเดิม, MAJOR ความต้องการใช้ชีวิตนอกบ้าน ดูหนัง น่าจะเร่งตัวจาก Pent-up Demand และ Supply หนังฮอลีวูดที่เข้ามามากขึ้น และ AOT ได้ประโยชน์โดยตรงจากการเปิดประเทศ ปลดล็อคเที่ยวบินระหว่างประเทศเร่งตัว และคลายแรงกดดันจากส่วนลดค่าเช่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 64)
Tags: AOT, AU, CENTEL, CPN, Fed, FOMC, HANA, KBANK, KCE, MAJOR, MBKET, PTTEP, QE, SPRC, TOP, TU, ดอกเบี้ยนโยบาย, ธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์, หุ้นไทย, เปิดประเทศ, เฟด, เมย์แบงก์ กิมเอ็ง