LiVE The Series : สตาร์ทอัพสายอวกาศโอกาสไทยบนโลกแห่งอนาคต

“เศรษฐกิจอวกาศ” แม้ว่าจะเป็นคำที่ดูไกลตัวจากคนทั่วไป แต่ด้วยข่าวคราวบรรดามหาเศรษฐีระดับโลกทุ่มเงินมหาศาลท่องเที่ยวอวกาศ และทำให้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง วันนี้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมระดับโลกนี้ด้วย

สะท้อนจากข้อมูลจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พบว่าเศรษฐกิจอวกาศของไทยปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1.2-1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 0.50% เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจอวกาศทั่วโลกที่มีกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในระยะยาวเศรษฐกิจอวกาศของไทยจะยืนตรงจุดใดในอนาคตของเศรษฐกิจอวกาศของโลก และนักลงทุนจะมีโอกาสร่วมลงทุนเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของบรรดาสตาร์ทอัพเหล่านี้ได้อย่างไร ??

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ปัจจุบันลักษณะเศรษฐกิจอวกาศของไทยจะเป็นฝั่งผู้ซื้อมากกว่าผู้ผลิต โดยสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่มีศักยภาพจะเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกขั้นสูง (Deep Tech) ด้านดาวเทียมขนาดเล็ก ระบบประมวลผลข้อมูล การบริการข้อมูล และบริการด้านดาราศาสตร์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในอนาคตจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดเรื่อง “BigData” เป็นสิ่งที่ตลาดมีความต้องการเป็นอย่างมาก

สำหรับปี 65 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดรับสมัครสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy: Lifting Off 2022 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีการผนึกกำลังร่วมกับภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย

ทั้งนี้ ปีแรกมีผู้เข้าร่วม 10 ราย และปีที่สอง(2565) มีผู้เข้ามาร่วมแล้ว 12 ราย ซึ่งปัจจุบัน NIA ยังเปิดรับสมัครผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริม SPACE TECH หรือสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการทำเทคโนโลยี ระบบ หรือบริการด้านกิจการอวกาศ สามารถต่อยอดไอเดียไปสู่ธุรกิจจริงได้

“ถ้าถามว่าเราจะได้เห็นยูนิคอร์นในอุตสาหกรรมอวกาศของไทยหรือไม่ ก็ตอบว่ามีโอกาส แต่ถ้าเอาคำว่ายูนิคอร์นคือต้องมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มองว่าหากมูลค่าของเทคโนโลยีเชิงลึกด้านอวกาศถูกได้รับความสนใจมีความเป็นได้ว่าอาจจะเห็นการซื้อขายกิจการมูลค่าระดับ 3-5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืนได้เช่นกัน”

นายพันธุ์อาจ กล่าว

สำหรับมุมของผู้ลงทุนที่อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของบรรดาสตาร์ทอัพเหล่านี้ NIA จะช่วยเป็นสื่อกลางและสนับสนุนแนวทางการระดมทุนให้กับนักลงทุนรายบุคคลที่มีความสนใจก็สามารถลงทุนลักษณะที่เป็น Angel Investor รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันหรือที่เป็นกลุ่มบริษัทในเครือขององค์กรขนาดใหญ่ Corporate Venture Capital (CVC) ส่วนเมื่อถึงรอบการระดมทุนรอบลึกขั้นตอนการระดมทุนผ่านตลาดทุนอาจเป็นทางเลือกผ่านกระดาน Live Exchange และตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างใน SET และ mai ต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 65)

Tags: , , , , ,