นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) เปิดเผยว่า กลยุทธ์การดำเนินงานของกลุ่ม LHFG ในปี 65 จะนำศักยภาพด้าน Digital Banking และความเชี่ยวชาญในการให้บริการด้วยแพลตฟอร์มโซลูชันทางการเงินที่ครบวงจรของ CTBC Bank ที่จะร่วมพัฒนา Digital Infrastructure และแพลตฟอร์ม เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าภายใต้แนวคิด Customer Centric และเร่งขยายธุรกิจที่มีมาร์จินสูง
ขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจยังทำควบคู่ไปกับการมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีและมุ่งเน้นการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอย่างมืออาชีพ รวมทั้งเร่งขยายฐานลูกค้าโดยส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เงินฝาก ธุรกรรมด้านต่างประเทศ ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย การลงทุน ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการและมีผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด
สำหรับแผนงานในส่วนของของธุรกิจธนาคาร LH BANK ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 6-7% โดยจะเน้นขยายตลาดกลุ่มสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลาง (Mid corporate) ซึ่งเล็กลงกว่ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนในพอร์ตมากกว่า 50% เนื่องจากกลุ่มบริษัทขนาดกลางดังกล่าวเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในซัพพลายเชนของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ จึงเป็นการต่อยอดขยายฐานลูกค้าและสินเชื่อจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่
นายฉี ชิง-ฟู่ กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการบริษัทขนาดกลาง ถือเป็นกลุ่มบริษัทที่ยังมีความแข็งแกร่ง และจากการที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ทำให้ควาต้องการสินค้าต่างๆก็กลับมาด้วย ส่งผลบวกต่อกลุ่มธุรกิจที่เป็นซัพพลายเชนกลับมาฟื้นตัวตามไปด้วย อีกทั้งยังเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ธนาคารสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นมากกว่ากลุ่มสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ
ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ยังเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มสินเชื่อ Trade Finance ที่เห็นการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากการนำเข้า-ส่งออกที่ขยายตัวได้ค่อนข้างดี ทำให้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อในกลุ่ม Trade Finance ในปี 65 ไว้ที่ 4 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ 3 พันล้านบาท โดยที่หนึ่งในกลยุทธ์ของบริการ Trade Finance ที่สำคัญ คือ การขยายฐานกลุ่มลูกค้าธุรกิจจากไต้หวัน ซึ่งทาง CTBC ผู้ถือหุ้นใหญ่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว โดย CTBC จะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเกี่ยวกับ Trade Finance ให้กับฐานลูกค้าธุรกิจจากไต้หวันเชื่อมโยงเข้ามาการใช้บริการกับ LH BANK โดยตั้งเป้าในช่วง 5 ปีนี้จะขยายฐานกลุ่มลูกค้าธุรกิจจากไต้หวันเพิ่มเป็น 500 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของฐานลูกค้าธุรกิจทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สำหรับสินเชื่อรายย่อยของธนาคารยังคงเป็นกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 20% โดยรจะขยายกลุ่มลูกค้าลงไปที่กลุ่มบ้านระดับกลางเพิ่มขึ้น รวมถึงขยายการให้สินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยนอกกลุ่ม บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) มากขึ้น ประกอบกับการขยายกลุ่มที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด ซึ่งจะทำให้บริษัทสารถขยายฐานลูกค้าและฐานสินเชื่อรายย่อยได้มากขึ้น พร้อมกับการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นๆของธนาคาร
ด้านการควบคุมคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารมองว่าหลังจากภาวะเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น ถือเป็นสัญญาณบวกต่อแนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมีการติดตามลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ที่พักชำระหนี้ไปก็เริ่มกลับมาชำระคืนหนี้ได้มากขึ้น ทำให้ธนาคารลดความกังวลด้านคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มดีขึ้น และยังคงควบคุมระดับ NPL ให้ไม่เกิน 3% จากปีก่อนที่ NPL อยู่ที่ 2.44% ซึ่งคาดว่าปีนี้จะยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารในปี 65 ตั้งเป้าเติบโต 20% โดยที่ธนาคารได้มีการปรับการปรับภาพลักษณ์สาขาให้มีความ Premium ซึ่งได้มีการรีโนเวทสาขาไปแล้ว 7 สาขา เพื่อยกระดับการให้บริการพร้อมกับการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอย่างมืออาชีพ เพื่อทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บริการด้านประกันและการลงทุนในสาขาควบคู่ไปกับช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาหนุนต่อการดึงดูดลุกค้าเข้ามาใช้บริการด้านผลิตภัณฑ์ประกันและการลงทุนมากขึ้น
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มการบริการด้าน Digital lending ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนกลุ่มสินเชื่อรายย่อยในปี 66 ได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมมือกีบพันธมิตรในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเข้ามาเสริมบริการใหม่ๆของกลุ่ม LHFG ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงปลายไตรมาส 2/65
นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทยังคงเน้นการเติบโตของสินทรัพย์โดยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่แบบ Asset Allocation ในปี 65 มากกว่าที่จะเน้นเป็นรายสินทรัพย์ (Single Asset) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีพฤติกรรมการลงทุนไม่เหมือนกัน รวมทั้งการเพิ่มฐานลูกค้าประเภทสถาบัน และเน้นกลุ่มลูกค้า Ultra High Net Worth รวมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่ายรูปแบบใหม่ๆ ผ่าน Digital Platform เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น
โดยภาพรวมการบริหารจัดการกองทุนในปี 64 บริษัทมีขนาดกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ นับรวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) มีมูลค่ากว่า 6.38 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% สำหรับกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) มีขนาดกองทุน 9.41 พันล้านบาท เติบโต 12% และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มีขนาดกองทุน 5.8 พันล้านบาท เติบโต 56%
นายกานต์ อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า บริษัทยังคงมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และจากเครือข่ายความเชี่ยวชาญระดับโลกของ CTBC Bank รวมถึงการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน การเพิ่มช่องทางบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การเปิดบัญชีและยืนยันตัวตนแบบออนไลน์ การขยายลูกค้าในกลุ่ม Mass ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เติบโตอย่างโดดเด่นในตลาดการเงินของไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มี.ค. 65)
Tags: Digital Banking, LHFG, แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป