นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่าบริษัทได้พิจารณาปรับลดเป้ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 64 ลงเหลือเติบโต 5% จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 8% จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ที่ยังไม่คลี่คลายลง กระทบต่อการชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งมีโอกาสลากยาวมาถึงไตรมาส 3/64 ทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังไม่ฟื้นกลับมาได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตราว 4% จากหมวกการใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ประกันภัย 2.น้ำมัน 3.วาไรตี้ สโตร์ เช่น Shopee และ Lazada 4.ซูเปอร์มาร์เก็ต และ 5.โรงพยาบาล และเฟอร์นิเจอร์
สำหรับหมวดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ยังคงชะลอตัวมาต่อเนื่องยังคงเป็นหมวดการท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบันไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ รวมถึงในช่วงต้นปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวในประเทศก็ชะลอตัวไปบ้าง จากการที่คนยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และอีกหมวดที่ยังชะลอตัว คือ หมวดช้อปปิ้งเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น จากการที่คนระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น ทำให้การจับจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าหากในช่วงไตรมาส 4/64 สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศสามารถคลี่คลายลงได้ การจับจ่ายใช้สอยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้น และในช่วงปลายปีเป็นช่วงเทศกาลและเป็นช่วงไฮซีซั่นของการจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีโอกาสที่ยอดการจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตจะฟื้นกลับมาได้
จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับที่สูง กระทบต่อยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิที่ชะลอตัวไปบ้างนั้น ทางบริษัทก็ได้ชะลอการออกแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายตามไปด้วย จากการที่มองว่าเมื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านแคมเปญไปแล้วก็ยังไม่สามารถที่จะดึงดูดให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันได้ เพราะความมั่นใจยังไม่กลับมา ส่งผลให้บริษัทยังอั้นการออกแคมเปญมากระตุ้นเพื่อรอโอกาสที่เหมาะสมในช่วงที่ตลาดมีความพร้อมในการกลับมาฟื้นตัวชัดเจนแล้ว
ส่วนจำนวนลูกค้าบัตรเครดิตใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 95,000 ใบ ถือว่ายังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังคงเป้าหมายลูกค้าบัตรเครดิตใหม่ทั้งปีไว้ที่ 230,000 ใบ จากปัจจุบันมีจำนวนฐานลูกค้าบัตรเครดิตอยู่ที่ 2.5 ล้านใบ โดยมองว่าคนยังมีความต้องการใช้บัตรเครดิตอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันบริษัทได้หันมาให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของลูกค้าใหม่มากขึ้น ส่งผลให้การพิจารณาอนุมัติจะเข้มงวดมากขึ้น จะเห็นได้จากอัตราการอนุมัติบัตรเครดิตใหม่ลดลงมาอยู่ที่ 36% จากก่อนหน้าที่ 40% และกลุ่มเป้าหมายหลักได้หันมาเน้นกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท/เดือน ขึ้นไปมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารมองว่ามีศักยภาพทั้งการใช้จ่ายและความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่ดี
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธุรกิจบัตรเครดิต KTC ในเดือนพ.ค. 64 ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 1.5% จากไตรมาส 1/64 ที่ 1.4% แต่ยังถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าระบบที่ 2.3% โดยที่บริษัทยังมั่นใจว่ายังคงสามารถควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่องได้ จากการที่บริษัทได้หันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพของลูกค้ามากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 64)
Tags: KTC, บัตรกรุงไทย, บัตรเครดิต, พิทยา วรปัญญาสกุล, สินเชื่อบัตรเครดิต, หุ้นไทย