สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/67 ขยายตัว 1.5%YoY เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสที่ 4/66 ที่ 1.7%YoY พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 คาดว่าจะขยายตัวได้ในช่วง 2.0-3.0% มีค่ากลางที่ 2.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.2-3.2% มีค่ากลางที่ 2.7%
Krungthai COMPASS ประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้ 2.3% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ 2.7% สอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์ ที่ปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลง ซึ่งมีปัจจัยกดดันจาก 1) การส่งออกสินค้าที่อาจเติบโตได้ต่ำจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวช้าและไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และ 2) การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบของการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์
อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS มีมุมมองต่อแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่แตกต่างจากสภาพัฒน์ โดยเราประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มเติบโตได้ใกล้เคียงประมาณการเดิมราว 3% เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงอาจกดดันกำลังซื้อของภาคเอกชนในระยะข้างหน้า สะท้อนจากการใช้จ่ายสินค้าหมวดคงทนในไตรมาสที่ 1 ที่หดตัวสูงจากการซื้อยานพาหนะที่ลดลง 13.9%YoY
สำหรับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ลดทอนความสามารถในการแข่งขัน หากเทียบดัชนี Real GDP กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคแล้ว ไทยใช้เวลานานกว่าในการพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ระดับเดิมก่อนการแพร่ระบาดเมื่อปี 2562 โดยดัชนีจีดีพีของไทยเพิ่งกลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ได้เมื่อไตรมาสที่ 3/66 ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างปรับตัวได้เร็วกว่า โดยกลับสู่ระดับปกติตั้งแต่ช่วงปี 2564-2565 แล้ว กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังสามารถรักษาทิศทางการเติบโตที่สูงกว่าไทยได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไทยฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ปัจจัยสำคัญมาจากการพึ่งพาภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวของนักเดินทางชาวต่างชาติและการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งต้องเผชิญแรงกดดันจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น การฟื้นตัวที่เปราะบางของจีนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ อีกทั้งจีนยังจำเป็นต้องส่งออกสินค้าราคาถูกไปตีตลาดในหลายประเทศรวมถึงไทย นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าไทยหลายรายการเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ปัจจัยเหล่านี้ยังกระทบต่อภาคการผลิตโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยจึงทยอยฟื้นตัวอย่างจำกัดและมีแนวโน้มเติบโตได้ช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปี 67 ที่มีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่ประเมิน จึงได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวจาก 2.8% มาอยู่ที่ 2.6% จากปัจจัยดังต่อไปนี้
1. การลงทุนและการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่เคยคาด จากตัวเลขในไตรมาส 1/67 ที่หดตัวลึกกว่าคาด แม้จะมีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่คาดว่าจะไม่เร่งตัวมากพอที่จะชดเชยการหดตัวในช่วงไตรมาส 1/67 ได้
2. การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาด ตามทิศทางการค้าโลก ท่ามกลางภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังอ่อนแรง ประกอบกับมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งการส่งออกไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์ลงจาก 2.0% เป็น 1.5%
3. ภาคการผลิตยังมีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงและอุปสงค์นอกประเทศที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน
4. ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง สภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในไตรมาส 1/67 และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรบางส่วนในไตรมาส 2/67 ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังภาวะลานีญาอาจส่งผลให้เกิดฝนตกชุกและอุณหภูมิปรับลดลง แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังได้ในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้
5. ติดตามผลกระทบหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และอาจมีผลต่อไปยังการจ้างงานและการลงทุนในประเทศ
6. มาตรการกระตุ้นทางการคลังในประเทศยังมีความไม่แน่นอน โดยแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นในช่วงปลายปีนี้ แต่ผลต่อเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐไปบางส่วนแล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มทยอยขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น (YoY) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณจากทางภาครัฐที่มีทิศทางเร่งตัวขึ้นหลังจากงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 67
นอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยปีนี้ที่ 36 ล้านคน ขณะที่แม้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แต่เนื่องจากผลจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้าคงมีลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่เหลือของปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 67)
Tags: GDP, KBANK, krungthai COMPASS, KTB, คาดการณ์เศรษฐกิจ, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สภาพัฒน์, เศรษฐกิจไทย