KTB แนะจับตาผลกระทบนโยบาย “ทรัมป์” ระยะยาว หลังวันแรกแค่จุดเริ่มต้น เตรียมพร้อมตั้งรับ

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Cheif Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) มองผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯว่า จำเป็นต้องดูกันยาว ๆ เนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมาเป็นแค่ช็อตแรกเท่านั้น และหลาย ๆ เรื่อง หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้บ้างแล้ว ดังนั้น ผลกระทบจะมากหรือน้อยจะต้องดูในระยะยาวมากกว่านี้

ส่วนที่ทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติ เพื่อลดราคาพลังงานในสหรัฐฯ มองว่า อาจจะมีผลกระทบต่อไทยได้ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ซึ่ง market fundamental ก็ค่อนข้างสำคัญ อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนหน้านี้ ราคาพลังงานได้ปรับขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว จากความไม่แน่นอนในตะวันออกกลาง ที่แม้เหตุการณ์จะดูสงบลง แต่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ ดังนั้น มีหลายปัจจัยเกิดขึ้นในตลาด สิ่งที่ทรัมป์ประกาศออกมาอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียว และไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบได้ยาวมากนัก

ส่วนนโยบายกีดกันทางการค้า มองว่า น่าจะใช้เวลาในการเข้ามาส่งผลกระทบกับประเทศไทย ในส่วนของประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ อย่างจีน เม็กซิโก และแคนาดา ที่ได้รับผลกระทบ อาจส่งผลกระทบทางอ้อมมายังไทยได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ข้อสำคัญของปีนี้ คือไทยต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะหลาย ๆ อย่างที่ทรัมป์เร่งประกาศนโยบายในวันแรก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากมั่นใจว่า ตลาด และคู่ค้าของสหรัฐฯ เห็นว่าสหรัฐฯ เอาจริง เพราะก่อนหน้านี้หลายประเทศได้ถกกันว่านโยบายทรัมป์จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน และหลายประเทศเองก็มีความพร้อมในการเตรียมรับมืออยู่แล้ว

“ในช็อตแรกคือการติดตามนโยบายที่ทรัมป์ประกาศไว้ แต่ในระยะยาว ต้องติดตามดูอีกครั้ง ซึ่งมองว่าไม่น่าจะต่างจากครั้งแรกที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผลกระทบจะเกิดขึ้นในช่วงปีหลัง ๆ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าผลกระทบจริง ๆ จะเกิดขึ้นต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเป็นต้นไป ผลกระทบต่อไทยในทางตรงยังไม่เยอะ และยังเห็นไม่ชัดในเร็ววัน แต่เราควรเตรียมตัวรับความเสี่ยง ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ว่า ถ้าทุกอย่างดำเนินไปตามที่สหรัฐฯ เตรียมไว้จริง ๆ สินค้ากลุ่มใดบ้างที่อาจต้องเร่งเจรจากับคู่ค้า รวมถึงสหรัฐฯ เองตั้งแต่วันนี้” นายพชรพจน์ กล่าว

สำหรับการแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีน นายพชรพจน์ มองว่า ในมิติของการที่ไทยเป็นประเทศเปิด เป็นประเทศส่งออก น่าจะอยากรักษาความเป็นกลางระหว่างจีน และสหรัฐฯ ไว้ให้ได้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนควรมีการพูดคุยกัน เนื่องจากการเจรจากับสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า หากไปเพียงลำพังคงจะมีน้ำหนักน้อยมาก ถ้ารวมตัวกับกลุ่มอาเซียนอาจมีภาษีมากกว่า อย่างไรก็ดี หากมีการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ จริง สหรัฐฯ น่าจะมองผลประโยชน์ของประเทศเขาเป็นหลักเหมือนเดิม

นายพชรพจน์ กล่าวว่า ในระยะสั้น ภาครัฐต้องหาจุดร่วมในการเจรจา ส่วนภาคเอกชนถ้าอยู่ในข่ายที่โดนผลกระทบ ก็ต้องเร่งเตรียมตัวเรื่องต้นทุน และหาพันธมิตรต่าง ๆ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องเตรียมตัวต่อไป คือต้องสำรวจสินค้าของประเทศไทย ว่ามีสินค้าใดบ้างที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเข้าข่ายสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบในอนาคต หากสหรัฐฯ ตัดสินใจขยายวงเก็บภาษีออกไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 68)

Tags: , , ,