KTB ออกมาตรการลดค่างวด-ดอกเบี้ยช่วยผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย [KTB] เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และการดำรงชีพของลูกค้าประชาชน ซึ่งครอบคลุมการลดภาระทางการเงิน ทั้งปรับลดค่างวดการผ่อนชำระ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการให้วงเงินเสริมสภาพคล่องในการดำรงชีพ รวมถึงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย ดังนี้

มาตรการแบ่งเบาภาระลูกค้าสินเชื่อปัจจุบัน

  • สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อธุรกิจ SSME ลดค่างวดลง 75% ของค่างวดปัจจุบันนาน 1 ปี และลดดอกเบี้ยเป็น 0% ต่อปี นาน 3 เดือน และหลังจากนั้น ดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ต่อปี นาน 33 เดือน (รวมเป็นระยะเวลา ดอกเบี้ยพิเศษนาน 3 ปี)
  • สินเชื่อส่วนบุคคล ลดค่างวดลง 75% ของค่างวดปัจจุบัน นาน 1 ปี และลดดอกเบี้ยเป็น ดอกเบี้ยคงที่ 4.5% ต่อปี นาน 3 ปี
  • สินเชื่อธุรกิจ SME ให้ความช่วยเหลือครอบคลุม ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่างวดการชำระหนี้ พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ย หรือพักชำระเงินต้น และ/หรือ พักชำระดอกเบี้ยบางส่วน ขยายระยะเวลาสัญญา/ปรับตารางผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น โดยเงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาลูกค้าแต่ละรายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ซึ่งธนาคารจะพิจารณาให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย เพื่อลดภาระทางการเงินและให้สอดรับกับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและรายได้ของธุรกิจที่น่าจะฟื้นตัวในอนาคต
  • สำหรับลูกค้าธุรกิจ สามารถติดต่อผู้ดูแลธุรกิจสัมพันธ์ของท่าน (RM) เพื่อประสานงานให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม โดยธนาคารจะพิจารณาความช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย

มาตรการสำหรับสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการและซ่อมบ้าน

  • สินเชื่อบ้าน Top up สินเชื่อบ้านแลกเงิน และสินเชื่อธุรกิจ SSME (Term Loan) ดอกเบี้ยคงที่ 0% ต่อปี นาน 3 เดือน หลังจากนั้น ดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ต่อปี นาน 33 เดือน (รวมเป็นระยะเวลา ดอกเบี้ยพิเศษนาน 3 ปี กรณีสินเชื่อบ้าน ฟรีค่าประเมินและค่าจดจำนอง)
  • สินเชื่อส่วนบุคคล (Term Loan) ดอกเบี้ยคงที่ 4.5% ต่อปี นาน 3 ปี
  • สินเชื่อธุรกิจ SME (Term Loan) ระยะเวลา 7 ปี ดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี นาน 2 ปี หลังจากนั้น MLR-1% ต่อปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 68)

Tags: , , ,