นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะกลับเข้าสู่เส้นทางของการฟื้นตัว หรือ “Recovery Path” ชัดเจนขึ้น การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรในสัดส่วนที่สูงขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการปรับพฤติกรรมของคนให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 จะช่วยรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ส่งออกไทยโตได้ต่อเนื่อง
ด้านอุปสงค์ในประเทศของไทย คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวเป็นลำดับ นับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2564 อย่างไรก็ดี มีหลายปัจจัยท้าทายที่ทำให้การกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ของเศรษฐกิจไทยต้องล่าช้าไปเป็นปี 2566
“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากปีก่อน แต่ก็เป็นการเติบโตหลังจากที่เศรษฐกิจต้องสะดุดลงจากการแพร่ระบาดใหญ่ มีความเปราะบางทั้งจากการฟื้นตัวที่ไม่พร้อมเพรียงกัน (K-Shaped Recovery) และปริมาณหนี้ในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับเข้าสู่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และยังต้องอาศัยการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเพื่อช่วยสร้างโมเมนตัม” นายพชรพจน์ ระบุ
นายพชรพจน์ ระบุ
ด้านมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการลงเม็ดเงินเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติมใน 3 มิติหลัก ได้แก่ “กลบหลุมเดิม-เติมกำลังซื้อ-รื้อโครงสร้างธุรกิจ” เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขาดหายรายได้ของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานแรงงานในภาคบริการ ที่คาดว่าจะยังฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น รวมไปถึงการผสมผสานมาตรการที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในรูปแบบของการช่วยออกค่าใช้จ่าย หรือ Co-payment ที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง ตลอดจนการช่วยเหลือและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจสามารถรองรับความเสี่ยง และแข่งขันได้ในยุค New Normal
ด้านนโยบายการเงิน คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้สัญญาณที่ชัดเจนว่าจะใช้นโยบายการเงินสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 0.5% ตลอดทั้งปี
นายกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจจะทบทวนกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัว และก้าวไปสู่ความเป็น winner ในอนาคต ด้วยการต่อยอดจากกระแสการพัฒนาในโลกยุค New Normal นำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการลงทุนรองรับ Green Economy การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวมูลค่าสูงและยั่งยืนรองรับการเปิดประเทศ การยกระดับ Productivity ด้วยการปรับกลยุทธ์การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ท่ามกลางกระแสการแย่งชิง Talent โลกที่เข้มข้นขึ้น การลงทุนต่อยอดจากเทคโนโลยีแห่งอนาคต
นอกจากนี้ ธุรกิจดูแลสุขภาพอาจต้องปรับโมเดลกิจการให้รองรับสถานการณ์การอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในระยะยาว หากธุรกิจสามารถจับกระแสและใช้ประโยชน์จากทิศทางดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ก็จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้เร็วขึ้น และจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัจจัยความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่อาจเข้ามากระทบเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 64)
Tags: lifestyle, New Normal, กิตติศักดิ์ กวีกิจมณี, ธนาคารกรุงไทย, พชรพจน์ นันทรามาศ, มานะ นิมิตรวานิช, ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS, เศรษฐกิจไทย