KTB คาดกนง.ยังไม่ปรับทิศทางนโยบายการเงินในระยะใกล้นี้ เหตุศก.ยังมีแนวโน้มขยายตัว

Krungthai Compass ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่ปรับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะอันใกล้ หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ.67 มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 : 2 เสียง ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50%

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งล่าสุด กนง. มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง สะท้อนจากการจากปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ลงจากเดิมที่ 3.2% (ณ พ.ย.66) ลงสู่ช่วง 2.5-3.0% (ค่ากลาง 2.8%) จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและจีนซึ่งฟื้นช้ากว่าคาด รวมทั้ง “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ซึ่งเป็นอุปสรรคที่จำกัดการเติบโต และเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนระยะข้างหน้า

ในด้านอัตราเงินเฟ้อ กนง.ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 โดยมองว่ามีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำที่ 1.0% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.0% (ณ พ.ย.66) พร้อมทั้งระบุว่าเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันยังไม่สะท้อนภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาไม่ได้ปรับลดเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ กนง. ยังส่งสัญญาณปรับท่าทีที่ผ่อนคลายขึ้น สะท้อนจากผลการลงมติที่มีกรรมการจำนวน 2 ใน 5 เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า กนง. จะยังไม่เร่งปรับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินและจำเป็นต้องรอความชัดเจนของข้อมูลต่าง ๆ ในระยะต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางขยายตัว ขณะที่มีความเสี่ยงซึ่งอาจกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ในอนาคต อีกทั้งยังต้องติดตามการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักในต่างประเทศ นอกจากนี้ กนง. ยังสื่อสารว่า การลดดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ได้

Krungthai COMPASS คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อไป ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยนั้น มีความเป็นไปได้มากขึ้น และจำเป็นต้องติดตามท่าที กนง. และพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่อไปอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญจากมติที่ประชุม กนง. มีดังนี้

– เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าคาด ตามอุปสงค์ของโลก และเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นได้ช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวมากกว่าที่เคยประเมินไว้

– อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงกว่าที่ประเมินไว้ แต่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบัน ไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ

– มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

– ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 67)

Tags: , ,