KTAM ปักธงปี 68 อัพ AUM แตะ 1 ล้านลบ.ให้เป้า SET ที่ 1,450 จุดมองโอกาสลงทุนหุ้นปันผล

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 68 ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) แตะระดับ 1 ล้านล้านบาท จากปี 67 ที่มี AUM 951,000 ล้านบาท เนื่องจากการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ ทั้งระยะสั้นและระยะกลาง ได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง และยังมุ่งเน้นการเติบโตของกองทุนประเภท Asset Allocation รวมทั้งจากกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) มีทั้งมีเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่อง

*หุ้นไทยยังมีอัพไซด์ ชี้เป้าหุ้นดีราคาถูก

ทั้งนี้มองเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 68 ที่ 1,450 จุด EPS ประมาณ 90 บาทต่อหุ้น จากฐานปีก่อนที่ต่ำ ส่วนแนวรับต่ำสุดคาดว่าไม่หลุด 1,100 จุด โดยดัชนียังมีอัพไซด์อีกพอสมควร หลังโบรกเกอร์ต่างชาติมีการปรับคำแนะนำหุ้นไทยขึ้น อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ปรับเพิ่มอันดับการแนะนำตลาดหุ้นไทยเป็น Overweight ล่าสุด JP Morgan ปรับมุมมองหุ้นไทยขึ้น กลับเข้ามาซื้อได้ระยะสั้น จาก Underweight

โดยหุ้นไทยปรับตัวลดลงเทียบเท่ากับช่วงโควิด-19 ดาวน์ไซด์เริ่มจำกัด ประกอบกับทุกภาคส่วนพยายามกระตุ้นตลาดหุ้น ภาครัฐมีมาตรการ ๆ กระตุ้น อาทิ โครงการ Financial Hub โครงการ Entertainment Complex แม้โครงการอาจเกิดขึ้นใน 3 ปี แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการลงทุนรอบถัดไปของประเทศเรา นอกจากนี้ยังคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้

ขณะที่ภาคตลาดทุน มีการจัดตั้งกองทุน Thai ESGX รองรับเม็ดเงินจากกองทุน LTF ที่ครบกำหนดรวมทั้งเม็ดเงินใหม่ การปรับเกณฑ์ในตลาดทุน อีกทั้งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเพิ่มอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สืบสวนสอบสวนทำให้ระยะเวลาในการตรวจสอบดำเนินการรวดเร็วขึ้น

สำหรับตลาดหุ้นไทย เรามองว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะยังต่ำกว่าระดับศักยภาพเล็กน้อย โดยคาดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 2.8% ในปี 2568 และ 3.0% ในปี 2569

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยทำให้หุ้นหลายตัวมีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างมาก จึงถือเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาวได้เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ อาจจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 20% หลังจากที่หดตัวไปที่ประมาณ -6% ในปีก่อนหน้า จึงแนะนำ กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นทุนปันผล (KTSF) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนใน SET ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีมีความมั่นคง ให้ผลตอบแทนที่ดี และกองทุนเปิดกรุงไทย หุ้นไฮดิวิเดนด์ (KT-HiDiv) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนใน SET ที่มีปัจจัยพื้นฐานผลการดำเนินงานที่ดี มีประวัติการจ่ายเงินปันผลที่ดีสม่ำเสมอ และ/หรือมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลในอนาคต นอกจากนี้ กองทุน KT-HiDiv-D ยังได้รับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยมจาก Morningstar Awards for Investing Excellence ในกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มา 2 ปีติดต่อกัน คือ ปี 2024 และปี 2025

สำหรับตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ ในปี 2567 ค่อนข้างผันผวนไปตามมุมมองทิศทางดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งได้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงครึ่งหลังของปี แต่กลับมาคงดอกเบี้ยในช่วงต้นปี 2568 นี้ เพื่อรอความชัดเจนจากนโยบายด้านต่างๆ ของสหรัฐฯ และประเมินผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เรายังคงมองว่าเฟดและธนาคารกลางอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลงต่อในปีนี้ เราจึงมีมุมมองค่อนข้างเชิงบวกสำหรับตราสารหนี้ต่างประเทศ

ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทย ผลตอบแทนของพันธบัตรรุ่นต่างๆ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลงได้อีกในปีนี้ จากการประเมินดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ณ สิ้นปี 2568 จึงอาจยังมีโอกาสที่ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยยังสามารถปรับตัวลดลงได้อีกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนได้รับรู้การลดดอกเบี้ยของ กนง. ในอนาคตไปค่อนข้างมากแล้ว เราจึงมีมุมมองเป็นกลางสำหรับตราสารหนี้ไทย จึงแนะนำ

กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ พลัส (KTFIXPLUS) (ความเสี่ยงระดับ 4) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ โดยลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของ NAV ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายจัดการอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในพอร์ตโฟลิโอที่ยืดหยุ่นเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะตลาด และกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ระยะสั้นพลัส (KTSTPLUS) (ความเสี่ยงระดับ 4) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก และ/หรือตราสารทางการเงินซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ โดยเฉลี่ยอายุตราสารไม่เกิน 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการลงทุนในปีนี้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะชะลอลงจากปีก่อนหน้า และที่สำคัญคือมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนทั้ง 4 ด้านข้างต้น อาจจะเป็นตัวช่วยในการลงทุนในปีนี้ได้เป็นอย่างดี

การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เราได้แนะนำ กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ อิควิตี้ ฟันด์ (KT-WEQ) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่มีความผันผวนต่ำ และมีความเสี่ยงในการปรับตัวลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในระดับที่ต่ำ ซึ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว (DM) เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วย กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ (KT-CHINA) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน BGF China Fund (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีภูมิลำเนาหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในจีน และ กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เฮลธ์แคร์ ฟันด์ (KT-Healthcare) (ความเสี่ยงระดับ 7) เน้นลงทุนใน Janus Henderson Global Life Sciences Fund (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยยังคงมีอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยังคงมีเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเรื่อยๆ เราจึงคาดว่ากลุ่ม Health care จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนดีขึ้นจากที่เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive

นางชวินดา เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกในปี 2568 นี้ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ถึงแม้ยังเผชิญกับความเสี่ยงในหลายด้าน อาทิ นโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Tariff) ท่าทีของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ มุมมองของนักลงทุนจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคอสังหาฯ ของจีน ที่รัฐบาลได้ส่งสัญญาณว่าจะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจ AI ในจีนก็ทำให้หุ้นเทคโนโลยีของจีนปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องภาษีจากสหรัฐฯ ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ยังคงต้องติดตามว่าจะมีพัฒนาการไปในด้านใด

นอกจากนี้ เศรษฐกิจในหลาย ๆ ภูมิภาคเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น โดยประเทศในยุโรปเริ่มคลายความกดดันจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงก่อนหน้านี้ รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่มองว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางตรงต่อภาคการส่งออกของไทย และส่งผลทางอ้อมที่อาจเข้ามากระทบภาคการท่องเที่ยวไทยหากเศรษฐกิจของประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวอ่อนแอลงจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม เรายังมองว่าระดับปัจจุบันเป็นโอกาสในการลงทุนของนักลงทุนระยะยาว

*แนะกระจายความเสี่ยง- Stay Invested

จากท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ทำให้นักลงทุนหันมาใช้กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง ลดการกระจุกตัว ประกอบกับความไม่แน่นอนในเชิงนโยบายของสหรัฐฯ จึงเห็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจากสหรัฐฯ ที่เคยโดดเด่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยในช่วงต้นปี 2025 นี้ เราจึงแนะนำกลยุทธ์ในการลงทุน 4 ด้าน ประกอบด้วย

(1) ลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้มักจะผันผวนไปในทิศทางเดียวกัน การถือเงินสดจึงเป็นทางเลือกในการลดความเสี่ยงของพอร์ต แต่เมื่อผ่านพ้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไป สินทรัพย์หลักสองประเภทนี้จะผันผวนไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน ทำให้พอร์ตที่มีกระจายความเสี่ยงที่ดีจะช่วยลดความผันผวนได้อยู่แล้ว ความจำเป็นการถือเงินสดจึงลดลง

(2) มองหาการป้องกันความเสี่ยง (Seek Hedging) ตลาดการลงทุนอาจมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้น การป้องกันความเสี่ยงให้กับพอร์ตจึงมีความจำเป็น โดยการป้องกันความเสี่ยงสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ทั้งการกระจายความเสี่ยง การลดการกระจุกตัวในการลงทุน การลงทุนบางส่วนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ หรือการถือสินทรัพย์ปลอดภัย

(3) นโยบายใหม่ โอกาสใหม่ (New Policies, New Opportunities) การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในหลายประเทศ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเกิดขึ้น ซึ่งเปิดให้มีโอกาสลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น ไมว่าจะเป็นการจัดสรรผลประโยชน์เศรษฐกิจโลกใหม่ การลดกฎระเบียบในการควบคุมดูแลธุรกิจซึ่งอาจจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐในกลุ่มประเทศที่รัดเข็มขัด และ (4) มุ่งการเติบโตระยะยาว (Long-term Growth Oriented) กระแสการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในมิติต่างๆ ทำให้เกิดแรงผลักดันสำหรับการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกจากนี้ มิติสุขภาพ ก็ยังมีความสำคัญในสังคมที่มีความสูงวัยขึ้นต่อเนื่อง

การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เราได้แนะนำ กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ อิควิตี้ ฟันด์ (KT-WEQ) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่มีความผันผวนต่ำ และมีความเสี่ยงในการปรับตัวลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในระดับที่ต่ำ ซึ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว (DM) เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วย กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ (KT-CHINA) (ความเสี่ยงระดับ 6) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน BGF China Fund (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีภูมิลำเนาหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในจีน และ กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เฮลธ์แคร์ ฟันด์ (KT-Healthcare) (ความเสี่ยงระดับ 7) เน้นลงทุนใน Janus Henderson Global Life Sciences Fund (กองทุนหลัก) โดยกองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยยังคงมีอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยังคงมีเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเรื่อยๆ เราจึงคาดว่ากลุ่ม Health care จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนดีขึ้นจากที่เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 68)

Tags: , , ,