นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.เกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่าการที่ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นและคงอยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนใน Global Credit โดยเฉลี่ยปรับสูงขึ้นมาที่ประมาณ 7-8% ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจลงทุน ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะฟื้นตัวดีขึ้นแต่ระดับการฟื้นตัวยังคงไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นการคัดเลือกการลงทุนในระดับประเภทหลักทรัพย์ และในระดับรายบริษัท (Bottom-up analysis) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ดี โดยเฉพาะประเด็นการผิดนัดชำระหนี้
ด้วยเหตุนี้ บลจ.เกียรตินาคินภัทร จึงได้นำเสนอกองทุน KKP GC-UI ซึ่งลงทุนในกองทุน Oaktree Global Credit ที่มีความเชี่ยวชาญในการคัดเลือกและกระจายการลงทุนใน Global Credit เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนไทย กองทุน KKP GC-UI จึงเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนใน Global Credit และสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป กำหนดการเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 14 – 21 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อเพียง 1,000 บาท
สำหรับ กองทุน KKP GC-UI ระดับความเสี่ยง 8+ เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนประเภท Feeder Fund ที่เปิดเสนอขายผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น มีนโยบายเน้นลงทุนในกองทุนหลัก Oaktree (Lux.) III – Oaktree Global Credit Fund ที่เน้นลงทุนในตราสารทั่วโลก เช่น ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield Bonds) เงินกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Loans) หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertibles) ตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Debt Securities Structured Credit) ตราสารหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets Debt) เป็นต้น
โดยกองทุนหลักมีเป้าหมายจะสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจาก (1) จัดสรรการลงทุนในแต่ละกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งนักลงทุนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (2) คัดเลือกหลักทรัพย์รายตัวจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก (3) ปรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละกลยุทธ์จากการประเมินโดยผู้จัดการกองทุน
KKP GC-UI เปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อได้ทุกวันทำการ สำหรับการขายคืนหน่วยลงทุน จะเปิดให้ทำการขายคืนทุกวันอังคาร (ในกรณีที่วันอังคารใด ๆ ตรงกับวันหยุดของกองทุน จะเลื่อนเป็นวันทำการถัดไป) โดยต้องส่งคำสั่งล่วงหน้าอย่างน้อย 5 วันทำการ โดยหน่วยลงทุนที่เปิดเสนอขายมีทั้งชนิดทั่วไป คือ KKP GC-UI และชนิดรับซื้อคืนอัตโนมัติ (Auto Redemption) คือ KKP GC-UI-R และกองทุนอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 67)
Tags: KKP, ธนาคารกลาง, ผิดนัดชำระหนี้, ยุทธพล ลาภละมูล, อัตราดอกเบี้ย, เกียรตินาคินภัทร, เศรษฐกิจโลก