นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่าจะขยายตัวได้ 3.7% โดยภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 28.5 ล้านคน ส่วนการส่งออก คาดว่าจะหดตัว -1.2% การนำเข้าหดตัว -2.4% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลที่ 6 พันล้านดอลลาร์
ในขณะที่การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนอาจจะยังขยายตัวได้ไม่มากนัก โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่เป็นการลงทุนเพียงแค่การชดเชยค่าเสื่อม ทำให้กำลังการผลิตทรงตัวอยู่กับที่ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัด สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8%
“เศรษฐกิจของไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิดในปี 2019 คาดว่าต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ตอนนี้เรายังโตต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ 5%” นายกอบสิทธิ์ กล่าว และเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องเมื่อเทียบรายไตรมาส
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้สูงหรือต่ำกว่า 3.7% นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยหลักใหญ่ของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ คือพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนสถานการณ์ทางการเมือง ไมว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาล หรือความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล คงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย เพียงแต่อาจเป็นคลื่นรบกวนในช่วงสั้นๆ เท่านั้น เว้นแต่จะมีสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญซ้ำรอยประวัติศาสตร์ มีการออกมาชุมนุมประท้วงใหญ่ กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกระทบความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาประเทศไทย แต่มองว่ามีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี มองว่าสิ่งที่ควรกังวลมากกว่า คือตัวแปรใหม่ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาถึงภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
“ความกังวลทางการเมือง ไม่ได้เป็นตัวหลัก เว้นแต่จะประวัติศาสตร์ซ้ำรอย มีม็อบใหญ่ แต่เรามองว่าโอกาสเป็นไปได้น้อย เชื่อว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เอกชนจะรับมือได้” นายกอบสิทธิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ต้องติดตามว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว จะสามารถผลักดันหลายเรื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากในมุมมองของต่างชาติเห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็จะเป็นมุมมองในเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และเป็นอานิสงส์ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 67
“ถ้าต่างชาติมองว่าประเทศเรามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็อาจจะมีผลดีต่อ GDP แต่คงไม่ได้ส่งผลทันในปีนี้ น่าจะเป็นอานิสงส์สำหรับปี 67 ซึ่งจะทำให้เกิดการเจรจา FTA เพิ่มมากขึ้น ช่วยปลดล็อกอุปสรรคทางการค้า ทำให้การส่งออกดีขึ้น ต้องรอดูผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น” นายกอบสิทธิ์ กล่าว
นายกอบสิทธิ์ ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2566 คาดว่าจะไปแตะที่ระดับ 2.00% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 31 พ.ค.นี้ มีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ กนง. เคยออกมาระบุว่ายังมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มสูงขึ้น จากผลของต้นทุนสินค้าที่ผู้ประกอบการยังส่งผ่านมาถึงผู้บริโภคไม่เต็มที่ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเห็นการทยอยส่งผ่านต้นทุนมาที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในปีนี้ และมีผลให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น
“เราคาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ทำให้ ณ สิ้นปี ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้คงต้องดูผลจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงด้วย” นายกอบสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงที่พรรคร่วมรัฐบาลใช้เป็นนโยบายการหาเสียงนั้น คงต้องติดตามว่าเมื่อเป็นรัฐบาลจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการไตรภาคี และต้องไม่ลืมว่าการปรับขึ้นค่าแรง จะมีผลอื่นๆ ตามมา เช่น การปรับลดคนงาน การเลิกจ้าง การปรับขึ้นราคาสินค้า และการสูงขึ้นของเงินเฟ้อ
นายกอบสิทธิ์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาท โดยประเมินว่าในช่วง 1 เดือนจากนี้ ให้กรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.80 – 35.04 บาท/ดอลลาร์ และสิ้นปี 66 คาดว่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33.80 บาท/ดอลลาร์
ขณะที่การเคลื่อนย้ายเงินทุนของต่างชาตินั้น คงต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงเดือนมิ.ย.ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะส่งสัญญาณอย่างไรในเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งหลังจากนั้นจะเริ่มเห็นความชัดเจนของเงินทุนจากต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะไหลกลับเข้ามาในไทยอีกครั้งในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 66)
Tags: GDP, KBANK, ธนาคารกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย