ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (21-25 ส.ค.) ที่ระดับ 35.00-35.60 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และปัจจัยทางการเมืองของไทย สัญญาณเศรษฐกิจและค่าเงินหยวนของจีน และสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากงานประชุมสัมมนาประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่น และตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนส.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และข้อมูล PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-18 ส.ค.) เงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.60 บาท/ดอลลาร์ฯ เงินบาทเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง ตามภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย นำโดยเงินหยวนที่ถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน หลังข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค. ออกมาอ่อนแอ ประกอบกับมีสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับโครงการเงินกู้ระยะกลางอายุ 1 ปีลง นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ในระหว่างรอความชัดเจนของประเด็นทางการเมืองในประเทศ
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขยับแข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยมีแรงหนุนจากบันทึกการประชุมเฟด ที่สะท้อนสัญญาณกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินหยวนฟื้นตัวขึ้นบางส่วน ตามการส่งสัญญาณผ่านการกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนของธนาคารกลางจีน
ในวันศุกร์ที่ 18 ส.ค.66 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.36 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.09 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ส.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 15-18 ส.ค.66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,305 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 12,096 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 8,384 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 3,712 ล้านบาท)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 66)
Tags: Forex, KBANK, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท