ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (18-22 ธ.ค.66) ที่ระดับ 34.40-35.00 บาท/ดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของ ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC)
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนธ.ค. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนพ.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของยูโรโซนและอังกฤษด้วยเช่นกัน
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-15 ธ.ค.) เงินบาทพลิกแข็งค่าผ่านระดับ 35.00 บาท/ดอลลาร์ฯ จากที่อ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ หลังจากที่รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ (CPI ขยับขึ้น 0.1% MoM แต่ตลาดคาด 0.0% MoM) กระตุ้นการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะไม่รีบส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน โดยจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และการร่วงลงอย่างหนักของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังผลการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดอาจจบรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ Dot plot บ่งชี้ว่า อาจมีการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปี 2567
นอกจากนี้ สัญญาณตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ก็เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินบาทได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวกลับขึ้นมาของราคาทองคำในตลาดโลก และการขยับแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินในภูมิภาค
โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 ธ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.84 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.33 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ธ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค.66 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 5,363 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 1,623 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 1,663 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 40 ล้านบาท)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 66)
Tags: KBANK, ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท