นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) บริษัทในเครือบมจ.เจ มาร์ท (JMART) กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์ม JNFT Marketplace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม NFT ที่อยู่ในรูปแบบของตลาดรอง (Secondary Martlet) ซึ่งได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันที่ 25 ธ.ค. 64 โดยจะเป็พลตฟอร์ม NFT แห่งแรกในประเทศไทยที่สามารถซื้อ ขาย ประมูล ผลงานศิลปะที่เป็นดิจิทัล บนระบบบล็อกเชนแบบไร้ศูนย์ (Decentralized) ผ่านการยืนยันสิทธิ์แทนการเป็นเจ้าของด้วยเหรียญที่ไม่สามารถแทนค่าหรือทำซ้ำได้ (Non-Fungible Token) รองรับงานศิลปะที่เป็นไฟล์ดิจิทัล ได้แก่ รูปภาพความละเอียดสูงที่เป็นฟอร์แมต JPG หรือ PNG รูปภาพเคลื่อนไหวในฟอร์แมต GIF หรือ MP4
โดยจุดเด่นของแพลตฟอร์ม JNFT ได้แก่ การเป็น Local Community Global Buyer ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตลาดกลางของคนไทย ศิลปินไทย และผู้ชื่นชอบที่จะสะสมงานศิลปะ รวมไปถึงนักลงทุนจากทั่วโลก เข้ามามีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนการขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลงานศิลปะได้อย่างกว้างขวาง การเป็นProfessional Listing ด้วยการทำงานบนมาตรฐาน ERC721 เทียบเท่ากับแพลตฟอร์ม NFT ระดับโลก และLow network Fee เนื่องจากแพลตฟอร์มพัฒนาบนบล็อกเชนของ Binance Smart Chain ที่มีความรวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมในการใช้งานราคาถูก
สำหรับการซื้อ ขาย และประมูลผลงาน NFT ในแพลตฟอร์ม JNFT จะใช้ Cryptocurrency 3 สกุลในการซื้อ ขาย และประมูล NFT ได้แก่ Jfin coin, BNB และ BUSD และใช้สกุล BNB ในการชำระค่าธรรมเนียมในการ Mint NFT ผ่านระบบบล็อกเชนของ Binance Smart Chain โดยที่ในช่วงแรกบริษัทจะเน้นการผลักดันผลงานศิลปะต่างๆของนักสร้างสรรค์ในประเทศไทยทั้งที่เป็นบุคคลและภาคองค์กรต่างๆ รวมถึงการสร้างชุมชน (Community) ของนักสะสม (Collector) NFT เพื่อทำให้ NFT ของไทยและแพลตฟอร์ม JNFT ได้รับความนิยมมากขึ้น และหลังจากนั้นจะมองหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากแพลตฟอร์ม JNFT เข้ามามากขึ้น
โดยที่บริษัทมองว่า NFT จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในโลกดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทและสร้างโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์ในประเทศที่สามารถนำผลงานออกมาสร้างรายได้ในโลกดิจิทัลได้มากขึ้น และเป็นโอกาสของกลุ่มนักสะสมที่สนใจสะสม NFT ได้มีพี้นที่ในการเข้ามาถึงการซื้อ ขาย และประมูล NFT มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะมีความสอดคล้องและเกี่ยวโยงกับการพัฒนาไปสู่ Metaverse ซึ่ง NFT จะเปรียบเสมือนสิ่งของที่จะต้องมีในโลกของ Metaverse
ขณะเดียวกันการพัฒนาของ เจ เวนเจอร์ส ยังคงมีการเดินหน้าในการพัฒนาแพลตฟอร์มและการบริการด้านดิจิทัลต่างๆ โดยเฉพาะการนำ Jfin coin มาใช้ในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานกระเป๋า Jfin coin อยู่จำนวน 500,000 กระเป๋า ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มของ JMART และในปี 65 จะนำ Jfin coin เริ่มมาใช้กับ BTS ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม JMART ทำให้การใช้ Jfin coin จะมีการใช้มากขึ้น อีกทั้งยังจะเตรียมในเรื่องการนำบริการและการพัฒนาระบบของเจ เวนเจอร์ส ออกไปให้บริการนอกกลุ่ม JMART เพิ่มเติม โดยเฉพาะในด้านธุรกิจ Digitization ในการพัฒนาระบบ Fintech ที่ในปัจจุบันมีการทำระบบให้กับกลุ่ม JMART ในเรื่องการชำระเงินและการกู้ยืม
นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจที่ปรึกษาการพัฒนาระบบในด้านบล็อกเชน จะเริ่มมองหาโอกาสในการเข้ารับงานพัฒนาระบบให้กับผู้ประกอบการอื่นๆนอกกลุ่ม JMART ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุริกจในอนาคต ซึ่งบริษัทเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายๆรายจะเริ่มหันมาลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม
สำหรับ Corporate NFT เป็นการร่วมมือระหว่าง JNFT กับองค์กรธุรกิจที่จะสร้างสรรค์งาน NFT ระดับองค์กร ไม่ว่าจะเป็น บริษัท BECI Corporation จำกัด บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) บมจ. โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป (MODERN) บมจ. สหพัฒนพิบูล (SPC) และ The Moon : Crypto & NFT Cafe ซีคอนสแควร์
ปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทยังคงมาจากการให้บริการต่างๆในกลุ่ม JMART เป็นหลัก ซึ่งเป็นรายได้หลักที่ทำให้ผลงานของบริษัทในปี 64 จะเริ่มมีกำไร และเตรียมความพร้อมในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 65
โดยที่ปัจจุบันธุรกิจของเจ เวนเจอร์ส ประกอบด้วย 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจการลงทุนในดิจิทัล (Digital Venture) ธุรกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจการพัฒนา Digitization และธุรกิจที่ปรึกษาด้านดิจิทัล โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปในการพัฒนาธุรกิจราว 80 ล้านบาท จากเงินที่ได้จากบริษัทแม่และเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่าน ICO รวม 300 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 64)
Tags: JNFT, JVC, ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์, หุ้นไทย, เจ เวนเจอร์ส