JPARK ปิดท้ายโรดโชว์ กทม.นับถ้อยหลังเข้า mai ชูศักยภาพความเชี่ยวชาญบริหารที่จอดรถ

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.เจนก้องไกล (JPARK) เปิดเผยว่า บริษัทนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุน (โรดโชว์) ก่อนจะเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 110 ล้านหุ้นเป็นจุดสุดท้าใน กทม.วันนี้ หลังจากเดินทางโรดโชว์มาแล้ว 7 จังหวัด คือ ชลบุรี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, เชียงใหม่, นครสวรรค์, สุราษฎร์ธานี และ อ.หาดใหญ่ สงขลา ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความมั่นใจในพื้นฐานธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และความเชื่อมั่นต่อ JPARK โดยหลังจากนี้จะเตรียมกำหนดวันเสนอขายหุ้น IPO และคาดว่าจะนำ JPARK เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในเร็วๆ นี้

นายสุพล ค้าพลอยดี กรรมการผู้จัดการ APM กล่าวว่า นักลงทุนทุกจังหวัดให้ความสนใจในการเข้ารับฟังข้อมูลของ JPARK อย่างคึกคัก โดยบริษัทมีจุดเด่นสำคัญคือความเชี่ยวชาญในธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่จอดรถมามากกว่า 20 ปี สามารถนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละประเภทได้อย่างครบวงจร

ภายหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 110 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 27.50% ของจำนวนหุ้นภายหลัง IPO จะรวมเป็นทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยการเข้าระดมทุนและเข้าตลาด mai จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ JPARK เดินหน้าขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสในการเติบโตในอนาคต ด้วยการพัฒนานวัตกรรม ทีมงานที่มีความพร้อมและประสบการณ์ รวมถึงความเชี่ยวชาญมากขึ้น

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะแกนนำการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้น JPARK เปิดเผยว่า JPARK ประกอบธุรกิจด้านการให้บริหารที่จอดรถ ด้วยทีมงานด้านการบริหารงานที่มีประสบการณ์สูงครอบคลุมในทุกลักษณะงาน โดยเฉพาะงานด้านการจัดการจราจร การจัดเก็บเงินค่าจอดรถ ระบบและอุปกรณ์ควบคุมที่จอดรถที่ทันสมัยและการบริการดูแล บำรุงรักษา สถานที่จอดรถ อาคารจอดรถ ลานจอดรถ เพิ่มการใช้พื้นที่จอดรถให้มีประสิทธิภาพสูง

ธุรกิจของ JPARK สร้างรายได้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย รายได้งานบริหารที่จอดรถมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้มาใช้บริการที่ทยอยฟื้นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงรายได้จากการรับจ้างบริหารพื้นที่จอดรถเติบโตขึ้นด้วย ทั้งจากโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และโครงการที่บริษัทให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ ซึ่งเมื่อติดตั้งเสร็จแล้วส่วนใหญ่ก็จะจ้างบริษัทให้บริหารจัดการ ซึ่งสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้กับบริษัทอีกทางหนึ่ง

นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JPARK เปิดเผยว่า บริษัทให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่จอดรถ โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลักคือ 1.ธุรกิจให้บริการที่จอดรถ (Parking Service Business: PS) 2.ธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Parking Management Service Business: PMS) และ 3.ธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ (Consultant and Installation Parking System Business: CIPS)

ปัจจุบันบริษัทมีช่องจอดภายใต้การดูแลกว่า 28,000 ช่องจอด ทั้งบริเวณจุดเชื่อมต่อ-จุดเปลี่ยนผ่านกับระบบรถไฟฟ้า ศูนย์การค้าแหล่ง CBD บริเวณโรงพยาบาล สถานศึกษา สนามบิน ซึ่งพื้นที่ให้บริการส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ภายหลังจากการระดมทุน JPARK มีแผนจะลงทุนขยายโครงการอาคารจอดรถโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจำนวน 6 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 532 คัน และรองรับรถจักรยานยนต์ได้ 72 คัน โดยมีพื้นที่ใช้สอย 18,242 ตารางเมตร พื้นที่พาณิชย์ 2,049 ตารางเมตร คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์กลางปี 67 รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

“หลังจากที่เราได้นำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนทั่วประเทศก็ได้เห็นกระแสตอบรับที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ต้องขอบคุณนักลงทุนที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ทำให้เรามีความมั่นใจยิ่งขึ้นในการเดินหน้านำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งด้วยพื้นฐานของธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และโอกาสในการเติบโตในอนาคตด้วยศักยภาพ และการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการให้บริการ รวมถึงบริหารพื้นที่จอดรถด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง” นายสันติพล กล่าว

สำหรับผลประกอบการของ JPARK ในปี 63-65 บริษัทฯ มีรายได้รวม 286.17 ล้านบาท 243.61 ล้านบาท และ 455.09 ล้านบาทตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 6.51 ล้านบาท ขาดทุน 10.99 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 55.05 ล้านบาท ตามลำดับ

ในช่วงปี 63 จนถึงกลางปี 65 รายได้และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่ำกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown สถานการณ์ COVID-19 จึงทำให้รายได้ธุรกิจให้บริการที่จอดรถลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ช่วงปลายปี 65 เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ ธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมในปี 65 รายได้และความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 66)

Tags: , , , , , , , , ,