หุ้นน้องใหม่ที่ได้รับกระแสการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายบุคคลสำหรับ บมจ.ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี (SVT) ผู้ครองตลาดอันดับหนึ่งของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ในประเทศไทย สะท้อนได้จากยอดจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่มีเข้ามาจำนวนมาก ที่มีการเสนอขายจำนวนไม่เกิน 200 ล้านหุ้น กำหนดราคาหุ้นละ 2.54 บาท ภายหลังจากช่วงเปิดจองระหว่างวันที่ 22-23 และ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในกลุ่ม Commerce วันที่ 5 ต.ค.นี้ *เนื้อหอมสถาบันไทย-เทศสนใจเพียบ
นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวานิชธนกิจ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า หุ้น SVT ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากราคาหุ้น IPO ที่ระดับ 2.54 บาท กำหนดจากผลสำรวจความต้องการของนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Bookbuild) ที่ต้องการยอดจองซื้อในราคาสูงสุดของกรอบช่วงราคา
โดยเสียงสะท้อนส่วนใหญ่มองว่า SVT เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีกเติบโตตามการบริโภคของประชาชนในประเทศ และข้อโดดเด่นต่อมาคือเป็นธุรกิจ “Vending Machine” เป็นตลาดที่เพิ่งเริ่มเติบโตในประเทศไทย สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาลดการสัมผัสภายหลังเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
และที่สำคัญคือสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี เพราะใช้พื้นที่น้อย แตกต่างกับการตั้งร้านค้าจำหน่ายสินค้า ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการบริหารจัดการผ่านระบบ Vending Machine System (VMS) เสริมความสามารถด้านศักยภาพทำกำไรและรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต *ผ่าโครงสร้างเจ้าตลาด Vending Machine ของไทย
นายพิศณุ โชควัฒนา กรรมการรองผู้อำนวยการสายงานการผลิต SVT เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า โครงสร้างรายได้หลักของบริษัท ประกอบด้วย 3 ช่องทาง ได้แก่
1) รายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ซึ่งมีสัดส่วนราว 98% ของรายได้ทั้งหมด
2) รายได้จากโรงงาน Refurbished ที่สามารถเปลี่ยนและปรับปรุงตู้จำหน่ายสินค้าเก่าให้กลายเป็นตู้สภาพใหม่ รวมถึงการเป็นตัวแทนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั้งจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้เริ่มมีโมเดลให้เช่าตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอีกด้วย และ
3) รายได้จากการขายโฆษณาผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ปัจจุบันมีทั้งหมดราว 14,000 ตู้กระจายทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 1%
“โรงงาน Refurbished ของเราก่อตั้งมาตั้งแต่ในปี 55 ซึ่งตรงตามวิสัยทัศน์ของคุณอาภัสสรา กรรมการผู้อำนวยการของ SVT ที่มองเห็นว่าการนำตู้แบบ Non-Refurbished เข้ามาจะเป็นการลดต้นทุนของตู้ได้มากกว่า 50% ทำให้เรามีต้นทุนของตู้ที่ต่ำ อีกทั้งเมื่อนำตู้ออกไปใช้งานตามจุดต่าง ๆ จะมีสภาพเสื่อมโทรมค่อนข้างเร็ว ถ้าเรามีโรงงานเปลี่ยนและปรับปรุงตู้ของตัวเอง เราก็สามารถทำให้ตู้มีสภาพดูดี ดูใหม่ และน่าใช้งาน”
นายพิศณุ กล่าว
สำหรับตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 14,000 ตู้กระจายในหลายพื้นที่ในประเทศไทย แบ่งเป็นบริการ 4 รูปแบบหลัก คือ 1. เครื่องจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่ม (Can & Bottle) 2. เครื่องจำหน่ายสินค้าแบบบานกระจก ( Glass Front ) 3. เครื่องจำหน่ายสินค้าประเภทถ้วยแบบร้อนเย็น (Cup Hot and Cold) และ 4.เครื่องสำหรับขายอาหารกึ่งสำเร็จรูป ( Noodle)
สินค้าที่จำหน่ายผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องดื่ม, ขนมขบเคี้ยว, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ขนมปังเบอเกอรี่,อุปกรณ์เสริมสำหรับมือถือ และหน้ากาก เป็นต้น
“เราเลือกวางทำเลที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก อาทิ หน่วยงานราชการ โรงแรม โรงเรียน สถานีบริการน้ำมัน แต่หลัก ๆ จะอยู่ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมกว่า 70% ตู้ส่วนมากครอบคลุมโซนภาคกลางเป็นหลักทั้ง 26 จังหวัด และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามหัวเมืองใหญ่ เช่น จังหวัดนครราชศรีมาและขอนแก่น ตามแผนช่วง 2 ปีข้างหน้าตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 35 จังหวัดมุ่งเน้นจังหวัดในภาคเหนือที่มีนิคมอุตสาหกรรม, จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ จังหวัดในภาคใต้ใกล้โรงงานยางพารา”
นายพิศณุ กล่าว
เปิดแผนเข้าตลาดหุ้น ขยายสู่ 20,000 เครื่องเพิ่มมูลค่า “Vending Machine”
แผนเสนอขายหุ้น IPO ของ SVT ครั้งนี้ บริษัทมีแผนจะนำไปใช้ในการจัดหาเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เพื่อขยายการติดตั้งให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะซื้อเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เพื่อขยายการติดตั้งการให้บริการเป็น 20,000 เครื่อง ในปี 2566 ซึ่งคาดหวังว่าจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังจะขยายการติดตั้งเครื่องอัตโนมัติด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ในรูปแบบ Franchise คาดว่าจะเริ่มเห็นชัดเจนได้ในช่วงปลายไตรมาส 4/64 โดยมองว่าการทำความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมกันขยายเครือข่ายตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติได้รวดเร็วครอบคลุมทั่วประเทศไทย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะใช้พัฒนาระบบและจัดหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบบ Smart โดยการติดตั้งจอสัมผัสบนเครื่องอัตโนมัติ, การติดตั้งระบบ Vending Machine Control (VMC), การติดตั้งระบบ Vending Machine management (VMM) และการพัฒนาโปรแกรม เพื่อให้รองรับกับความต้องการของลูกค้า และทิศทางขององค์กร สำหรับเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติแบบออนไลน์
“ตามแผน 2 ปีข้างหน้าบริษัทวางเป้าขยาย “Vending Machine” เป็น 20,000 ตู้ แต่จะอัพเกรดเป็นตู้แบบ Smart ทั้งหมด 15,000 ตู้จากปัจจุบันมีเพียง 1,600 ตู้หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนตู้ทั้งหมด จะมีความโดดเด่นด้วยหน้าจอแบบ Touch Screen ที่สามารแสดงสินค้าได้หลากหลาย เป็นตู้ที่มีระบบออนไลน์สามารถรับการจ่ายเงินระบบ E-payment ได้เกือบทุกรูปแบบ และยังสามารถส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ในการจำหน่ายสินค้า ทั้งยอดขาย สต็อกสินค้าภายในตู้ รวมถึงสภาพของตู้ในปัจจุบันด้วย เมื่อข้อมูลดังกล่าวถูกส่งกลับมายังส่วนกลางอย่างรวดเร็ว บริษัทจะสามารถบริหารจัดการต่อยอดไปเรื่องระบบโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ศักยภาพทำกำไรบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
นายพิศณุ กล่าว
ส่องเทรนด์ “Vending Machine” มาแรงสู่แผนขยายตลาด CLMV
นายพิศณุ กล่าวต่อว่า ภาพรวมตลาดตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติปัจจุบันยังมีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูงมากในประเทศไทย ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่ประชาชนมีพฤติกรรมคุ้นชินกับการใช้บริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ สะท้อนจากข้อมูลที่พบว่าประเทศญี่ปุ่นมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 1 ตู้ต่อประชากร 23 คน ขณะที่ประเทศไทยมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอยู่ประมาณ 30,000 ตู้ทั่วประเทศ เทียบกับจำนวนประชากรประมาณ 69 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1 ตู้ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติต่อประชากร 2,300 คน สอดคล้องกับสภาพของสังคมไทยในวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านระบบ E-payment ต่างๆ ด้านความเร่งรีบในการดำเนินชีวิตก็สูงขึ้น นับเป็นการสะท้อนถึงโอกาสการเติบโตของตลาดตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในไทยที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก
ส่วนภาวะการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น บริษัทมีมุมมองว่าในตลาดไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง แต่จะให้ความสำคัญการแข่งขันกับตัวเองมากกว่า อีกทั้งบริษัทเป็นผู้จำหน่าย/เช่าตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ รวมไปถึงให้บริการ Refurbished ตู้ ดังนั้นหากมีผู้ประกอบการที่สนใจประกอบธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติมากขึ้น ก็กลับยิ่งเป็นโอกาสสร้างการเติบโตในมุมของการให้บริการได้เช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนการขยายการให้บริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเข้าสู่ประเทศกลุ่ม CLMV เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตที่วางไว้เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องชะลอแผนดังกล่าวไว้ก่อน และหลังจากนี้เมื่อสถานการณ์ต่างๆเริ่มดีขึ้นก็จะเริ่มขยายการให้บริการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเข้าสู่ประเทศกลุ่ม CLMV อย่างเป็นรูปธรรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 64)
Tags: SVT, ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี, พิศณุ โชควัฒนา, วิชา โตมานะ