IPOInsight: HL ไขโมเดลหุ้นร้านขายยาเร่งกำไรบนตลาดยาแสนล้าน !!

ไขโมเดลธุรกิจร้านขายยาค้าปลีกเมืองไทยรูปแบบ “Chain Store” รายแรกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) อย่าง บมจ.เฮลท์ลีด (HL) ภายใต้โครงสร้าง Holding Company ที่มีการลงทุนบริษัทอื่นและบริษัทย่อย 2 แห่ง ธุรกิจร้านขายยา จำหน่ายยา เวชภัณฑ์ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ

ล่าสุดมีความพร้อมเดินหน้าเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นวันแรก 3 ธ.ค.64 ภายหลังจากได้นำเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 72 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 9.80 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 37.57 เท่า

ประสบการณ์กว่า 20 ปี สู่โฮลดิ้งร้านขายยาเมืองไทย

เภสัชกร (ภก.) ธัชพล ชลวัฒนสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HL เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า จุดเริ่มต้นของบริษัท เริ่มตั้งแต่ ภญ.มัทยา พันธุกานนท์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เคยผ่านประสบการณ์เป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความตั้งใจที่จะก่อตั้งร้านขายยาซึ่งเป็นที่พึ่งของชุมชน และเป็นแหล่งที่เภสัชกรสามารถฝึกวิชาชีพได้อย่างแท้จริง จึงเปิดร้านขายยา “มัทยาเภสัช” ขึ้นในปี 2540 และได้จัดตั้งเป็นบริษัท ไอแคร์ เฮลท์ จำกัด ในปี 2552

ต่อมาในปี 2561 ครอบครัวของ ภญ.มัทยา ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นเดิมของ บริษัท เฮลทิเนส และกลายมาเป็น บมจ.เฮลท์ลีด (HL) ที่เป็นลักษณะ Holding Company

“ไอแคร์ เฮลท์ กับ เฮลทิเนส มีขนาดธุรกิจและยอดขายที่ใกล้เคียงกัน พอซื้อเฮลทิเนสเข้ามา เราก็เลยเติบโตเป็นสองเท่าทันที ตั้งแต่ปี 2561-2563 เราก็พัฒนาบริษัทต่อเนื่องขึ้นมาเรื่อย ๆ ทั้งการพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงระบบคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น Enterprise Resource Planning (ERP) รวมไปถึงระบบฐานข้อมูลลูกค้าเช่นกัน นอกจากนี้ยังเป็นพันธมิตรกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งการเซ็น MOU ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (GPO) หรือคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย”

ภก.ธัชพลกล่าว

ถอดรหัสอาณาจักร 4 แบรนด์ร้านขายยาครบวงจร

HL มีร้านขายยาในเครือทั้งหมด 4 แบรนด์ รวมทั้งสิ้น 25 สาขา ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน ประกอบด้วย iCare 10 สาขา เน้นความเข้าถึงง่าย ตั้งอยู่ในพื้นที่ตลาดหรือชุมชน, Pharmax 11 สาขา เน้นความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจหรือ Community Mall, Super Drug 1 สาขา ที่มีคอนเซ็ปท์เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของยาและอุปกรณ์การแพทย์แบบครบวงจร และ Vitaminclub 3 สาขา เน้นจับกลุ่มลูกค้าที่บริโภควิตามินและอาหารเสริม โดยปัจจุบันทั้ง 4 แบรนด์เปิดให้บริการในพื้นที่ กทม.

ส่วน บริษัท เฮลทิเนส จำกัด ประกอบธุรกิจคิดค้น พัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีการร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนค้นคว้าวิจัย ไปจนถึงการวิจัยตลาดกับกลุ่มผู้บริโภค โดยปัจจุบันจำหน่ายสินค้าทั้งหมด 2 แบรนด์ประกอบด้วย 1) แบรนด์ Besuto เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการฆ่าเชื้อและสลายกลิ่น และ 2) แบรนด์ PRIME ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

กุญแจความสำเร็จ พายอดขายทะลุพันล้านบาท

ภก.ธัชพล กล่าวต่อว่า ความได้เปรียบในการขยายสาขาของ HL คือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Supplier และการมีเภสัชกรประจำอย่างเพียงพอ เนื่องจากเป็นแหล่งฝึกงานให้กับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ด้วย โดยปัจจุบันมีเภสัชกรกว่า 50 คน อีกทั้งยังใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลลูกค้าในการขยายสาขาไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้ยอดขายในปี 2563 เติบโตทะลุ 1 พันล้านบาท

“ระบบฐานข้อมูลลูกค้าของเราสามารถระบุถึงพื้นที่ที่ลูกค้าอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมไปถึงกำลังซื้อของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ทำให้เราวิเคราะห์การขยายสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเจ้าของโครงการหลายรายก็ให้การตอบรับที่ดีกับเรา เพราะร้านขายยาของเราสามารถดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาในพื้นที่ได้ เราจึงได้ราคาที่ค่อนข้างดีและสัญญาระยะยาว ทำให้เราได้เปรียบในการเลือกพื้นที่ นอกจากนี้ร้านขายยาของเรายังมีครบทุกอย่างทั้ง ยา อุปกรณ์การแพทย์ และอาหารเสริม อีกทั้งยังมีเภสัชกรที่เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาอีกด้วย”

นายธัชพล กล่าว

เทรนด์เติบโตบนตลาดยามูลค่ากว่าแสนล้าน

สำหรับ HL เป็น Holding Company ธุรกิจด้านสุขภาพ สอดคล้องไปกับเทรนด์ผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และยังมีเทรนด์ยุค New Normal ที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ มีการรับประทานอาหารเสริมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็มีจำหน่ายอยู่ในร้านขายยาเช่นกัน หากประเมินมูลค่าตลาดยาในประเทศไทยจากปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นโรงพยาบาลภาครัฐ 60% โรงพยาบาลภาคเอกชน 20% และ ร้านขายยาอีก 20% มูลค่าเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่จำหน่ายผ่านร้านขายยาคิดเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท และเติบโตขึ้นทุกปี

และด้วยความเข้มงวดของกฎหมายที่มากขึ้น มีการออกกฎหมายวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน : Good Pharmacy Practice (GPP) ในปี 2562 ซึ่งระบุว่าร้านขายยาทุกร้านจะต้องมีเภสัชกรประจำเท่านั้น รวมถึงจะต้องมีสถานที่และอุณหภูมิในการเก็บรักษายาที่เหมาะสมตามข้อกฎหมายกำหนด ส่งผลให้มีร้านขายยาต้องปิดตัวลงกว่า 5 พันแห่ง ทำให้คู่แข่งลดจำนวนลงไปมาก ขณะที่ตลาดมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ศักยภาพกำไรแกร่ง ระดมทุนเพิ่มมูลค่ากิจการ

ถ้ายกตัวอย่างผลประกอบการของบริษัทในปี 2561 อยู่ที่ 791 ล้านบาท, ปี 2562 อยู่ที่ 915 ล้านบาท และ ปี 2563 อยู่ที่ 1,080 ล้านบาท สะท้อนเห็นว่าตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องราว 10% ทุกปี ด้านอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) และกำไรสุทธิ (Net Profit) ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เป็นผลมาจากการมีอำนาจต่อรองที่ดีขึ้น

ประกอบกับธุรกิจของ HL เป็นธุรกิจที่มี Fixed cost ราว 60-70% เพราะฉะนั้น เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น พวก Fixed cost ก็ยังคงที่ ขณะที่บริษัทในเครืออย่าง เฮลทิเนส จัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง หนุนให้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทก็ปรับสูงขึ้นราว 5-6%

ทั้งนี้ แผนการระดมทุนครั้งนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อการขยายสาขา ให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ราว 4-5 สาขาต่อปี รวมไปถึงใช้สำหรับการปรับปรุงสาขาเดิม อีกทั้งยังใช้เพื่อการออกผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการเข้าตลาดในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มการรับรู้ของร้านขายยาทั้ง 4 แบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น

“HL เป็นร้านขายยารายแรกที่เข้าระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยธุรกิจร้านขายยา เป็นธุรกิจที่ใกล้ตัวและทุกคนจะต้องเคยใช้บริการ ซึ่ง HL เติบโตมาด้วยความน่าเชื่อถือและการสะสมลูกค้าไปเรื่อย ๆ ทำให้ในปัจจุบันเรามีผลประกอบการที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้นักลงทุนมาร่วมเติบโตไปพร้อมกับเราด้วย

อีกทั้งยังมีเทรนด์สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาและอุปกรณ์การแพทย์เป็นที่ต้องการมากขึ้น ด้านเทรนด์รักสุขภาพก็ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจดูแลตัวเอง ผลักดันธุรกิจอาหารเสริม ซึ่งทั้งหมดเป็นธุรกิจที่เราเชี่ยวชาญ” ภก.ธัชพลกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,