เจาะลึกโมเดลธุรกิจของหุ้นน้องใหม่ บมจ.ซีแพนเนล (CPANEL) ผู้นำเทรนด์นวัตกรรมงานก่อสร้างการผลิตและจำหน่ายแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มลูกค้านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของเมืองไทย โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ CPANEL ครั้งนี้ด้วย
CPANEL กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 6 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาทต่อหุ้น มีจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขาย 39.50 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 26.33% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) วันแรกในวันที่ 30 ก.ย.นี้
กุญแจสู่ความสำเร็จผู้นำเทรนด์นวัตกรรมก่อสร้าง “Precast Concrete”
นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ CPANEL เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า จุดเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจของบริษัทเกิดจากการชักชวนของลูกค้านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) หลายราย เนื่องจากช่วงนั้นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มเผชิญปัญหาแรงงานทั้งด้านจำนวนและคุณภาพ ลูกค้าจึงต้องการผลิตภัณฑ์ที่จะมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งทางบริษัทเองก็อยู่ในวงการก่อสร้างอยู่แล้ว รวมไปถึงมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้อยู่เสมอ จึงเล็งเห็นเทรนด์การเติบโตของผลิตภัณฑ์แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) ซึ่งนำมาสู่การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ (Fully Automated Precast)
แม้ว่าวงการวัสดุก่อสร้างมีคู่แข่งมากมาย แต่ด้วยความแข็งแกร่งของทีมบุลคากรที่เชี่ยวชาญรวมไปถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ในมิติต่างๆ ของผู้พัฒนาอสังหาฯ โดยเฉพาะการประหยัดทั้งเรื่องเวลาและต้นทุน ทำให้ลูกค้ามีความพอใจผลิตภัณฑ์อย่างมาก ก่อให้เกิดการบอกต่อแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทในวงการอสังหาฯขยายเป็นวงกว้าง
“การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คำตอบคือทีม ซึ่งวันนี้ทุกคนคิดว่าวัสดุก่อสร้างใครก็ทำได้ มีการซื้อเครื่องจักรมาทำกันเต็มไปหมด แต่สุดท้ายก็จะเห็นว่าคนที่อยู่รอดก็คือคนที่เก่ง อีกอย่างคือเรารู้จักกับ Developer รายใหญ่ซึ่งพอเค้าเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเราแล้ว ก็ถือว่าเป็นการเปิดตัวได้ดี คนอื่นก็เริ่มเห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์เรา เพราะมีประโยชน์ทั้งประหยัดเรื่องเวลาและต้นทุน ส่งผลให้ Developer มีแต้มต่อการแข่งขันและส่งผลบวกต่อศักยภาพทำกำไร อีกอย่างคือผลิตภัณฑ์ของเราเป็น Product Service ไม่ใช่ไปโฆษณาแล้วจะเข้ามาซื้อเลย สิ่งที่สำคัญคือลูกค้าชมเรา วงการอสังหาฯเรามองว่าค่อนข้างเป็นมิตร จึงเกิดการแนะนำผลิตภัณฑ์ของเราต่อ ๆ ไป ซึ่งเราก็เริ่มเติบโตจากจุดนั้น”
นายชาคริต กล่าว
ยุคใหม่อุตสาหกรรม Precast Concrete เปลี่ยนโลกวงการอสังหาฯ
ปัจจุบันวงการพัฒนาอสังหาฯเกิดการเปลี่ยนแปลง สะท้อนจากข้อมูลของประชากร (Demographic) ที่เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นได้ว่าคนที่เป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ทั้งในไทยและต่างประเทศจะไม่นิยมการทำงานในสายก่อสร้างที่ต้องใช้แรงงานแล้ว ดังนั้นการใช้ Precast Concrete ก็เป็นการตอบโจทย์ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ช่วยผู้ประกอบการประหยัดต้นทุนในหลายๆ มิติ
ขณะเดียวกันความสำเร็จวงการวัสดุก่อสร้างทุกวันนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเป็นบริษัทขนาดใหญ่เสมอไป เนื่องจากความสำคัญที่สุดคือเรื่องคุณภาพสินค้าที่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับลูกค้าหรือผู้บริโภคได้มากที่สุด ซึ่งในวันนี้ Precast Concrete ก็สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้าทุกคน รวมไปถึงทางบริษัทยังมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกค้า เพื่อแนะนำการใช้ Precast Concrete ให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายอีกด้วย *ตุน Backlog เพียบ เติบโตสวนตลาดอสังหาฯชะลอตัว
นายชาคริต กล่าวต่อว่า ภาพรวมมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 อยู่ที่ 1,156 ล้านบาท เบื้องต้นจะทยอยรับรู้รายได้ภายในปีนี้อย่างน้อย 200 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการปีนี้จะเติบโตได้ดี และเชื่อมั่นว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปถึงปี 65 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤติทุกครั้งจะจะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด ตามแนวโน้มดีมานด์ภายในประเทศที่ถูกอั้นไว้
และขณะนี้ก็เริ่มมองว่าความกังวลเรื่องโควิด-19 ผ่อนคลายมากขึ้น ผู้บริโภคเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตเกือบแบบปกติ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยแนวราบในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯในระยะถัดไป
“ถ้าตามข้อมูลที่เผยแพร่กับนักลงทุน Backlog ณ วันที่ 30 มิ.ย. 64 อยู่ที่ 1,156 ล้านบาท แต่ตอนที่นี้เป็นเดือน ก.ย.แล้ว ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าผลประกอบการปีนี้น่าจะโตกว่าปี 62 ส่วนปี 63 เราชนะมาแล้ว ส่วนปี 65 ยังมองว่าตลาดอสังหาฯน่าจะดีขึ้น เพราะหลังเกิดวิกฤตอะไรก็ตามเศรษฐกิจมันจะบูมขึ้นมาทีนึง เพราะผู้บริโภคอั้นไว้ และตอนนี้คนก็เริ่มกลัวน้อยลง อีกอย่างคือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก เพราะมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งด้วย ทำให้คนอยากมีบ้านที่ไม่ได้อยู่ในเมือง เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็พร้อมให้ความสะดวกแม้ไม่ได้อยู่ในเมือง เช่น รถไฟความเร็วสูง เราเลยมองว่าการที่คนอยากกระจายตัวออกไปก็จะทำให้ธุรกิจอสังหาฯยังคงไปต่อได้”
นายชาคริต กล่าว
แผนเข้าตลาดทุนปลดล็อกมูลค่าธุรกิจสู่ Growth+Value
นายชาคริต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันศักยภาพทำกำไรคือระดับอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของบริษัทอยู่ที่ 37% และมีอัตรากำไรสุทธิ (Net profit Margin) อยู่ที่ราว 10% ซึ่งในอนาคตบริษัทวางแผนการเติบโตเป็นเท่าตัว เป็นผลจากแผนการใช้เงินระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งนี้นำไปก่อสร้างโรงงานผลิต Precast Concrete แห่งใหม่ จากโรงงานผลิตแห่งเดิมมีกำลังการผลิตที่ 720,000 ตารางเมตร/ปี ดังนั้น การสร้างโรงงานแห่งใหม่ก็จะมีกำลังการผลิตที่เท่ากัน ทำให้บริษัทจะมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,400,000 ตารางเมตร/ปี เบื้องต้นใช้เงินลงทุนประมาณ 100-150 ล้านบาท คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาส 2/65 และจะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องทดสอบการทำงาน (Commissioning Tests) ในช่วงไตรมาส 4/66 และคาดจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป และเงินที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน 50-100 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ 20.40 ล้านบาท เป็นต้น
“สำหรับคนเคยติดตามผลงานของเราจะรู้ว่าโรงงานแรกเรา Break event ครั้งแรกปี 59 ทั้งๆ ที่เพิ่งเดินเครื่องกำลังการผลิตเต็มที่ในปี 58 ซึ่งโรงงานที่สองเราเชื่อมั่นว่าจะทำได้ดีกว่านั้น อย่างแรกคือลูกค้าเชื่อเราแล้ว มี Backlog รอแล้ว เข้าใจเทคโนโลยี และโรงงานแห่งที่สองต้นทุนที่เป็น Fix Cost จะลดต่ำลงเรื่อยๆ เป็นไปตามหลัก Economy Of Scale พอผ่านจุด Break event ไปแล้วศักยภาพทำกำไรดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ธุรกิจของบริษัทจะมีทั้งการเติบโตที่เป็น Growth และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าคือ Value ที่ช่วยสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว”
นายชาคริต กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 64)
Tags: CPANEL, ชาคริต ทีปกรสุขเกษม, ซีแพนเนล, หุ้นไทย