IPOInsight: “นำพล”นำทัพ SCGD เดินเครื่อง 5 กลยุทธ์ โชว์แกร่งผู้นำกระเบื้อง-สุขภัณฑ์ตลาดอาเซียน

บมจ.เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) ตัวท๊อปบริษัทกระเบื้องและสุขภัณฑ์เจ้าใหญ่ เสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 439,100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 11.50 บาท เดินหน้าขยายกำลังผลิต-หาโอกาส M&A เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ภายในเดือนธันวาคม 2566

SCGD ประกอบธุรกิจผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวมถึงยังมีธุรกิจผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย นอกจากนี้ SCGD ยังมีการจัดหาผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่าย และมีร้านค้าปลีกเพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระเบื้องเซรามิก สุขภัณฑ์ และวัสดุปิดผิว รวมถึงสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันสินค้าของบริษัทส่งออกไป 57 ประเทศทั่วโลก

นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCGD เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า เงินระดมทุนที่ได้มาแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ๆ คือ 1) ใช้เพื่อลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตและขยายช่องทางจำหน่าย และ 2) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกรณีที่มีโอกาสเกิดความร่วมมือทางธุรกิจ (M&A)

“ในธุรกิจตกแต่งพื้นผิว เราเน้นการขยายที่เวียดนาม ล่าสุดเราอนุมัติเงินลงทุน 700 กว่าล้านบาท ขยายไลน์การผลิตใหม่ที่เวียดนาม เพราะฉะนั้นเราจะใช้เวียดนามเป็นฐานในการผลิตและส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ ขณะที่ในไทย เราขึ้นโรงงานผลิตกระเบื้องไวนิล Stone Plastic Composite (SPC) ทดแทนที่เรานำเข้ามาจากจีนและเกาหลี ซึ่งการขยายกำลังการผลิตทั้งหมด จะทำให้กำลังการผลิตรวมของ SCGD ช่วงปลายปี 67 ขึ้นไปแตะใกล้ 190 ล้านตารางเมตร/ต่อปี จากตอนนี้ 187 ล้านตารางเมตร/ปี” นายนำพล กล่าว

แผนธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี บริษัทกำหนด 5 กลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน โดยกลยุทธ์แรก จะขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ให้เป็นที่ 1 ในภูมิภาคอาเซียน จากที่ปัจจุบันธุรกิจสุขภัณฑ์เราเข้มแข็งมากในไทย เราก็จะนำบทเรียนที่ได้มาไปทำให้ธุรกิจสุขภัณฑ์เติบโตเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน เหมือนกับธุรกิจตกแต่งพื้นผิวที่เราประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยจะขยายการส่งออกสุขภัณฑ์ไปในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนมากขึ้น พร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

กลยุทธ์ที่สองคือ เราจะต่อยอดความเป็นที่ 1 ในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นจุดไหนที่เรายังไม่มีโรงงาน หรือว่ามาร์เก็ตแชร์น้อย เราก็จะไปขยายตลาดในส่วนนั้น อาทิ เวียดนามตอนใต้ ที่ยังไม่มีโรงงาน ก็มีโอกาสที่เราจะขยายไปในอนาคต หรืออย่างฟิลิปปินส์ตอนกลางและล่าง ที่เรามีมาร์เก็ตแชร์น้อย เราก็จะใช้ฐานการผลิตที่เวียดนามส่งสินค้าลงไปทำตลาดที่ฟิลลิปปินส์

นอกจากนี้ในกลยุทธ์ดังกล่าว เรายังต่อยอดไปในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวอื่น ๆ ซึ่งล่าสุดเราลงทุนโรงงาน SPC ในไทย เราก็จะใช้โรงงานนี้เป็นฐานในการเข้าสู่ธุรกิจตกแต่งพื้นผิวอื่น ๆ และก็จะขยายตัวไปในเมืองไทยและอาเซียนต่อไป

ส่วนกลยุทธ์ที่สาม จากการมีเครือข่ายที่ครอบคลุมและทีมงานที่เข้มแข็งใน 4 ประเทศ ดังนั้นธุรกิจใดก็ตามที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจตกแต่ง และต้องการมาเปิดตลาดในอาเซียนก็สามารถมาพูดคุยกับเรา ร่วมมือกับเรา มาใช้สิ่งที่เรามีให้เป็นประโยชน์ เช่น ช่องทางจำหน่าย หรือแบรนด์ของเรา ก็จะทำให้ธุรกิจของเราและธุรกิจที่มาร่วมมือกันเติบโตมากยิ่งขึ้น

สำหรับกลยุทธ์ที่สี่ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้บริษัท ด้วยการที่เรามีโรงงานหลายแห่ง เราเองก็จะทำการ Optimization บริหารฐานการผลิตที่มีอยู่ในแต่ละประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตหลัก ในสินค้ากระเบื้องเซรามิกที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากกระบวนการผลิตครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำและควบคุมคุณภาพของสินค้าได้ดี สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

และกลยุทธ์ที่ห้า เป็นกลยุทธ์แห่งความยั่งยืน โดยบริษัทมีแผนปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ผ่านการดำเนินงานสองด้านคือ 1) Green Product ผลิตสินค้าที่มีความยั่งยืน ใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น และ 2) Green Process ปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการผลิตของบริษัทให้มีการปล่อยคาร์บอนลดลงในแต่ละขั้นตอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , ,