ธุรกิจการบินกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ตอนนี้กลับมาเท่ากับในอดีตที่เคยเฟื่องฟู จะเห็นได้ว่า บมจ.การบินไทย (THAI) สายการบินแห่งชาติ กลับมาเทิร์นอะราวด์ได้อย่างสวยงาม หลังจากเดินเข้าแผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ปี 63 ด้วยภาระหนี้มหาศาล และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอย่างหนัก
ณ วันนี้ การบินไทย เตรียมตัวที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยทำตามเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ คือ ข้อแรก มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินในช่วง 12 เดือนเกิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันทำได้แล้ว
และ ข้อที่สอง ส่วนของผู้ถือหุ้นต้องเป็นบวก แม้ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.67 ยังติดลบอยู่ 4 หมื่นล้านบาท แต่กำลังจะปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูฯ ด้วยการออกหุ้นเพิ่มทุน 31,500 ล้านหุ้นปลายปีนี้ เตรียมยื่นไฟลิ่งช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ กระบวนการน่าจะแล้วเสร็จปลายปี 67 นี้
จากนั้น THAI คาดว่าจะยื่นขอศาลล้มละลายกลางออกจากแผนฟื้นฟูเพื่อนำหุ้นกล้บเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งในไตรมาส 2/68
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า การบริหารในช่วงแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% จึงบริหารแบบเอกชนที่มีการตัดสินใจรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ไม่มีแรงกดดันจากภายนอก ไม่มีการวิ่งเต้นตำแหน่ง ทำให้คัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงมีการปรับโครงสร้างต้นทุนให้ดีขึ้น ซึ่งแต่ก่อนการบินไทยมีจำนวนพนักงานมากถึงกว่า 30,000 คน เครื่องบิน 103 ลำ แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือแค่ 17,000 คน เครื่องบิน 77 ลำ ประกอบกับ เลือกใช้เครื่องบินใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน แต่สำหรับต้นทุนน้ำมันก็ยังเป็นต้นทุนหลักที่ผันแปรไปตามราคาตลาดโลก
อย่างไรก็ดี ในอนาคตจำนวนพนักงานของการบินไทยคงจะต้องเพิ่มขึ้นตามจำนวนเครื่องบิน แต่ก็จะควบคุมไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป ยืนยันว่าจะไม่ให้กลับไปมากเท่าเดิมแน่นอน
ขณะที่บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดด้วยการขายตั๋วแบบ Network ไม่ใช่แบบ Point to Point เหมือนเดิม ทำให้สามารถอัพราคาตั๋วได้ดีขึ้น และช่วยประคองรายได้ในช่วง Low Season ได้ ปัจจุบันแทบทุกเส้นทางมีกำไรแล้ว พลิกสถานการณ์จากที่เคยขาดทุนเกือบทุกเส้นทางในช่วงก่อนเกิดโควิด
นายปิยสวัสดิ์ เปิดเผยว่า การบินไทยได้วางอนาคตในช่วง 10 ปีจากนี้ (ปี 66-76) จะขยายจำนวนฝูงบินอย่างต่อเนื่องจากที่ปัจจุบันมีอยู่ 77 ลำ เริ่มต้นจากปลายปีนี้จะเพิ่มเป็น 79 ลำ, ปี 68 เพิ่มเป็น 88 ลำ และ ปี 69 เพิ่มขึ้นเป็น 100 ลำ
และในปี 76 การบินไทยจะมีเครื่องบินแตะ 150 ลำ โดยในจำนวนนี้จะเป็นเครื่องบินแอร์บัสเอ 321NEO และแอร์บัสเอ320 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ จำนวน 50 ลำ ที่เหลือเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างที่สวนหนึ่งได้ทำสัญญากับโบอิ้งเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำและออพชั่นซื้อเพิ่ม 35 ลำ ซึ่งทั้งหมดจะใช้วิธีการแบบเช่า
“เราต้องการทวงคืนส่วนแบ่งตลาดในไทยจากเดิมที่เคยมีอยู่ 30% ลงมาเหลือแค่ 15% ถ้าสามารถขยายฝูงบินได้จะทำให้การบินไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 22% ในรอบหลายปี” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ อธิบายว่า ตลาดหลักของการยินไทย คือ เอเชียเหนือ และ ยุโรป เครื่องบินลำตัวแคบจะมารองรับตลาดภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก โดยจะเพิ่มทั้งความถี่และจุดหมายปลายทางใหม่ อาทิ จีน โอกินาวา (ญี่ปุ่น) อินโดนีเซีย เป็นต้น
ส่วนเครื่องบินลำตัวกว้างจะรองรับตลาดยุโรปเป็นหลัก อาจจะไม่ได้เพิ่มจุดหมายปลายทางใหม่ไม่มากนัก คงจะมีแค่อย่าง เวียนนา อัมสเตอร์ดัม แต่จะเพิ่มความถี่เป็นหลัก โดยเฉพาะ ปารีส มิวนิค เป็นต้น ส่วนกรุงโรม ยังไม่มีแผนกลับไปบิน หรือ มอสโคว์ ก็ต้องกลับไปคิดดูอีกครั้งว่าคุ้มหรือไม่
นายปิยสวัสดิ์ เชื่อว่าหลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ ผลประกอบการของการบินไทยจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อได้ปรับโครงสร้างต้นทุนไปพอสมควรแล้ว ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลับไปติด Top10 สายการบินที่ดีที่สุดในโลกอีกครั้ง
นอกจากแผนกลยุทธ์ในอนาคตที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูวางไว้ให้กับการบินไทยแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ผู้บริหารแผนต้องการ คือ การบินไทย จะต้องไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าในช่วงแผนฟื้นฟูฯ ผู้บริหารสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก
หากรัฐบาลต้องการดึงการบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังก็ต้องไปซื้อหุ้น THAI ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะการปรับโครงสร้างทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น จะมีการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กระทรวงการคลัง พร้อมกับเปิดให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน หากกระทรวงการคลังใช้สิทธิเต็มก็จะมีสัดส่วนถือหุ้น THAI ไม่เกิน 41% ขณะที่กองทุนวายุภักษ์ก็ถือได้ไม่เกิน 4%
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ก่อนการบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ จะต้องเลือกกรรมการชุดใหม่ ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ซึ่งจะไม่เหมือนเดิม เพราะสมัยก่อนกระทรวงการคลังถือหุ้น 51% และวายุภักษ์อีก 16% แต่หลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้นของเจ้าหนี้หุ้นกู้ และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนสูงพอสมควร
“ฉะนั้นการบินไทยหลังออกจากแผนจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาดูแลบริษัทให้ดี เพราะผู้ถือหุ้นเหล่านี้สิ่งที่ท่านต้องไม่ลืมว่าท่านเป็นทั้งเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น โดยหนี้ที่เหลืออยู่ 75% ยังมีอยู่ต่อไปอีก 10 กว่าปี เพราะฉะนั้นก็ขึ้นกับผู้ถือหุ้นที่จะต้องช่วยดูแลบริษัทให้สามารถเดินได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ”
“สิ่งที่ผู้บริหารแผนจะส่งมอบการบินไทยในสภาพที่มีประสิทธิภาพสูง มีผลประกอบการที่ดี ก็ขอให้รักษาสภาพของบริษัทให้เป็นอย่างนั้นต่อไป” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 67)
Tags: INTERVIEW, SCOOP, THAI, การบินไทย, หุ้นไทย