INTERVIEW: LPN จับเทรนด์ “สายมู” ปรับลุคเอาใจ Gen Y ทวงคืนรายได้พีค 1.5 หมื่นลบ.ใน 5 ปี

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) ประกาศเป้าหมาย 5 ปี ผลักดันรายได้ LPN ให้ฟื้นกลับไปเท่ากับในปี 58 หรือ 59 ที่มีรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจุดพีคของรายได้ LPN มุ่งหน้าเดินตามแผนงานท่ามกลางอุปสรรคที่ยังท้าทายค่อนข้างมาก พร้อมปรับความสมดุลพอร์ตคอนโด-แนวราบในมือให้สอดคล้องกัน รวมถึงการวางแผนซื้อที่ดินอย่างเหมาะสม

นายโอภาส กล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์ของไทยบอบช้ำมาพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 เศรษฐกิจย่ำแย่ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง อีกทั้งความหวังว่าปีนี้จะดีขึ้นจากปี 65 หลังได้รัฐบาลใหม่ แต่กลับกลายเป็นว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นมากอย่างที่หวัง ยังคงต้องว่าลุ้นปี 67 จะดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปได้หรือไม่

แม้จะมองว่าอสังหาริมทรัพย์ไทยยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว เพราะคนไทยยังคงมีความต้องการซื้อบ้านอีกมาก แต่ส่วนใหญ่ 80-90% ซื้อด้วยเงินผ่อน จะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ยอดขายที่เกิดขึ้นของบริษัทอสังหาฯทุกเจ้ามาสะดุดที่ยอดโอน ลูกค้ากู้ไม่ผ่าน อย่างกรณีของ LPN ยอดขายทำได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท แต่กู้ไม่ผ่านถึง 50% เหมือนเป็นการเทกระจาด และทุกเจ้าก็เจอแบบนี้เหมือนๆ กัน สะท้อนภาพว่าคนมีความต้องการซื้อแต่แหล่งเงินทุนจำกัด และเผชิญความเข้มงวดของการขอสินเชื่อ กลายเป็นปัญหาหลักของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในยุคนี้

นายโอภาส กล่าวว่า LPN ยังคงเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน วิสัยทัศน์องค์กรนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินธุรกิจที่ทำแบบพอประมาณตนเอง รวมถึงการดูแลบริหารความเสี่ยง ทำให้ LPN เดินหน้าอย่างยั่งยืนได้

แต่ยอมรับว่าไซส์ของ LPN ถือว่าเล็กลง เรากลับมาเริ่มพัฒนาโครงการที่ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงเหมือนเมื่อในอดีต และไม่ได้เดินตามผู้ประกอบการรายอื่น แต่ปรับลดมูลค่าการเปิดโครงการลงมาเหลือ 1 หมื่นล้านบาท/ปี จำนวนยูนิตที่ลดลงเหลือ 300-500 ยูนิต/โครงการ ทำให้ใช้เงินลงทุนไม่ได้สูงมากเหมือนในอดีต และสามารถรกะจายความเสี่ยงได้ดีขึ้น

“LPN เราหันมาทำในสิ่งที่เล็กที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และต้องทำประโยชน์เพื่อสัมคมให้ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน” นายโอภาส กล่าว

ปรับลุค-ปรับแบรนด์อิง”สายมู”เอาใจคนรุ่นใหม่

นายโอภาส เล่าอีกว่า การเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้พฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยของคนแต่ละ Gen เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการปรับกลยุทธ์อีกด้าน คือ จากเดิม LPN เน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เน้นความคุ้มค่าเพื่อเจาะกลุ่มคน Gen B และ Gen X ที่เกิดมาในยุคข้าวยากหมากแพง ทำให้เน้นการซื้อที่อยู่อาศัยแบบ Value for money

แต่ยุคปัจจุบัน กลุ่มผู้ซื้อหลักเปลี่ยนมาสู่ Gen Y ซึ่งความคุ้มค่าเป็นสิ่งที่คนใน Gen นี้จะไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่ต้องการสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์และความเป็นปัจเจกที่บ่งบอกตัวตนมากขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาโครงการของ LPN ที่แต่ละโครงการมีความแตกต่างและไม่ซ้ำกัน ต่างจากนอดีตที่คอนโดมิเนียมของ LPN จะเป็นโมเดลที่เหมือนกันในทุกโครงการ

พร้อมกันนั้น LPN ยังได้ปรับแบรนด์โครงการเป็นเลข 168 ซึ่งยอมรับว่าเป็นทาง “สายมู” ให้สอดคล้องกับกระแสความนิยมของคนในยุคนี้ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภคได้ตรงจุด โดยเลข 168 มาจาก “ฮก ลก ซิ่ว” ที่หมายถึงความสำเร็จ ความมั่งมีเงินทอง และความเป็นมงคล และอีกนัยหนึ่ง 168 เป็นผลคูณของ 24×7 มาจากหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง และทุกวันใน 1 สัปดาห์มี 7 วัน

“จุดเริ่มต้นของ LPN คือ เลข 168 เป็นบ้านเลขที่ของ LPN อาคารแรกที่ลุมพินีทาวเวอร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบให้ 168 เป็น Master Brand ใหม่ของ LPN ที่มีความเป็นมงคล และเป็นจุดเริ่มต้นของ LPN และทำให้ LPN ยังเฉิดฉายในอุตสาหกรรมได้ในทุกวันนี้”นายโอภาส กล่าว

นอกจากนั้น LPN ยังมีแบรนด์ EARN ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองการซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนไปในตัวด้วย นอกเหนือจากซื้อเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าที่ซื้อโครงการของ LPN ในสัดส่วน 20% ของ LPN ซื้อเพื่อลงทุน เพราะโครงการของ LPN อยู่ในทำเลที่ดี ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ให้ผลตอบแทนสูง ทำให้แบรนด์ EARN เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เข้ามาตอบสนองกลุ่มนักลงทุน

“การปรับเปลี่ยนด้านการใช้คำในการสื่อสารการตลาดใหม่เป็น LPN น่าอยู่ จากชุมชนน่าอยู่ และการนำเสนอแบบใหม่ที่มีแฮชแท็ก #สารภาพว่าติดบ้าน ที่เปรียบเสมือนบ้านเป็นทุกอย่างของชีวิต และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าบ้านของ LPN ให้อะไรมากกว่า และบ่งบอกถึงมีการขยับพัฒนาโครงการที่มียูนิตน้อยลง และมีการพัฒนาแนวราบมากขึ้น จากอดีตเน้นการพัฒนาคอนโดมิเนียมหลักพันยูนิต”นายโอภาส กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , ,