บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ใกล้จุดพลิกผันครั้งใหญ่ โดยเฉพาะจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มคาดหวังเซ็นสัญญาได้ภายในปีนี้เชื่อคดีที่เหลืออีกเพียงคดีเดียวน่าจะได้ข้อยุติเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ดีลร่วมลงทุนทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) และเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้สรุปเจรจาปี 68 ดันสินทรัพย์เพิ่มเท่าตัว นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
ทั้งนี้ BEM วางเป้าช่วง 5 ปี (ปี 67-71) รายได้โตเฉลี่ย 5% กำไรโตเฉลี่ย 3% จากปี 67 มั่นใจกำไรนิวไฮต่อเนื่องกว่า 3,600 ล้านบาท จากปีก่อนปิดที่ 3,479 ล้านบาท จากรายได้รวมแตะ 1.8 หมื่นล้านบาท
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยเฉพาะจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) คาดว่าจะสามารเซ็นสัญญาได้ภายในปีนี้ จากที่ปัจจุบัน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รอคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุด คาดว่าคดีใกล้จะสิ้นสุดแล้ว หากผ่านไปได้ก็จะนำเสนอครม.อนุมัติโดยเร็ว
สำหรับโครงการนี้ บริษัทวางแผนลงทุนตัวรถไฟฟ้าและติดตั้งระบบเดินรถราว 3 หมื่นล้านบาท ส่วนงานโยธา 9 หมื่นล้านบาทรัฐเป็นผู้ลงทุน แต่ให้เอกชนจ่ายเงินไปก่อน รวมวงเงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท อายุสัมปทาน 30 ปี
นายสมบัติ กล่าวว่า คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มเหลือรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอีกเพียง 1 คดี คือ คดีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กับ รฟม.กรณีออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน และออกเอกสารคัดเลือกเอกชน ที่มีลักษณะกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
ส่วนอีกสัญญารออยู่ เป็นสัญญาเดินรถรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ราษฎรบูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือ สายสีม่วงใต้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง BEM คาดว่า รฟม.จะเจรจาให้ BEM ซึ่งเป็นผู้เดินรถสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ อยู่แล้วเพื่อให้การเดินรถเกิดความต่อเนื่อง คาดว่าจะสรุปการเจรจาภายในสิ้นปี 68 แต่ยังต้องใช้เวลาจัดหาและติดตั้งรถไฟฟ้าราว 3 ปี โดยขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นสัญญาแบบใด
ปัจจุบัน BEM เป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ หรือ PPP แบบ Gross Cost ที่มีระยะเวลา 30 ปี รับค่าจ้าง 2,400 ล้านบาทต่อปี และรับรู้กำไร 10%
นอกจากนี้ BEM ยังมีโครงการทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) อยู่ระหว่างเจรจากับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 68 หรืออย่างเร็วภายในปีนี้ โดย BEM จะเป็นผู้ลงทุนสร้าง Double Deck วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท และจะได้สัมปทานบริหารจัดการ Double Deck ระยะทาง 16-17 กม. พร้อมกับต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนเส้นทางเดิมที่จะหมดอายุในปี 78 เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนเส้นทางใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 68 ใช้เวลาราว 4 ปี
“หาก BEM ได้ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะเป็นจุดเปลี่ยนของ BEM ทำให้พอร์ตสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า และทางด่วนเพิ่มขึ้น ทำให้ฐาน Asset ของเราเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยจะรู้ผลทั้งหมดในปีนี้ปีหน้า และจะส่งผลให้กับบริษัทไป 30 ปี และระหว่างทาง 30 ปีก็อาจจะมีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาอีก”นายสมบัติ กล่าว
ณ สิ้นเดือน มี.ค.67 สินทรัพย์รวมของ BEM อยู่ที่ 118,313 ล้านบาท
นอกจากนั้น โครงการใหม่ ๆ ที่จะได้รับเข้ามายังจะช่วยให้บริษัทส่งต่องานก่อสร้างให้กับ บมจ.ช.การช่าง (CK) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ช่วยหนุนให้งานในมือ (Backlog) ของ CK ทะลุไปมากกว่า 2 แสนล้านบาท
- กำไรปี 67 ทำนิวไฮต่อเนื่อง
กรรมการผู้จัดการ BEM คาดในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า (ปี 67-71) รายได้จะเติบโตเฉลี่ย 5% ส่วนกำไรจะเติบโตเฉลี่ย 3%
สำหรับปี 67 คาดรายได้รวม 18,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่มีรายได้ 17,000 ล้านบาท ส่วนกำไรปกติ ตั้งเป้าทะลุ 3,600 ล้านบาท จากทุกส่วนงานจะทำกำไรมากขึ้น และการเดินรถสายสีน้ำเงินก็จะขาดทุนน้อยลง ขณะที่ในอดีตปี 62 เคยมีกำไรปกติที่ 3,100 ล้านบาท ก่อนจะลดลงไปในช่วงโควิด และในปี 66 กำไรฟื้นจากโควิดมาที่ 3,479 ล้านบาท
ในปี 67 BEM ตั้งเป้าผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เฉลี่ย 440,000 เที่ยว/วัน จากปีก่อน 390,000 เที่ยว/วัน เติบโตกว่า 10% แต่ในเดือน ก.พ.67 ทำนิวไฮแตะ 559,600 เที่ยว/วันไปแล้ว และหากมีการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม อาจช่วยให้ผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินเพิ่มแตะ 700,000 เที่ยว/วัน
ส่วนธุรกิจทางด่วนคาดปริมาณการจราจรทั้งปีนี้อยู่ที่ 1.17 ล้านเที่ยว/วัน จากปีก่อน 1.12 ล้านเที่ยว/วัน
นายสมบัติ กล่าวว่า รถไฟฟ้า ตัวที่มีกำไร คือ สายสีม่วง ที่ BEM รับจ้างเดินรถ แต่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังไม่ Break even โดยคาดว่าจะ Break even ได้เมื่อสายสีส้มเปิดแค่เพียงส่วนเดียว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี
แม้ว่าเส้นทางโดยรอบของรถไฟฟ้าสีน้ำเงินจะมีโครงการขนาดใหญ่เปิดเพิ่มขึ้น อาทิ วันแบงคอก แต่คงทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่มากเท่ากับการเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพราะจะช่วยส่งผู้โดยสารจากนอกเมืองเข้ามาในระบบรถไฟฟ้าในเมืองได้มากกว่า ซึ่งเชื่อว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาเป็นหลักแสนคน
และ ถึงแม้ว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะยังไม่ Break even แต่ขณะนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภาพรวมของ BEM ดีขึ้นจาก Asset ที่ดี โดยจำนวนผู้โดยสารทำนิวไฮอย่างต่อเนื่อง วันปกติในขณะนี้ทะลุ 5 แสนไปแล้ว คาดว่าถ้าเปิดเทอมและวันแบงคอกเปิดให้บริการก็น่าจะเห็นตัวเลขผู้โดยสารทำนิวไฮต่อเนื่อง และหากเซ็นทรัลดุสิตปาร์คเริ่มเปิดบางส่วนใน ก.ย.นี้ ก็จะช่วยทำให้ยอดผู้โดยสารทำนิวไฮต่อไปได้อีก
นอกจากนี้ บริษัทยังคุมค่าใช้จ่ายได้ดี รวมถึงต้นทุนการเงินที่ควบคุมได้ดี เชื่อว่าจะทำให้กำไรของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น S-Curve ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ BEM ยังคาดว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารงาน O&M มอเตอร์เวย์ อย่างน้อย 1 เส้นทาง ซึ่งจะมี CK เป็นพาร์ทเนอร์หลัก
“ขณะที่เราจะขยาย ตัวกำไรของเราจะไม่มีการหดตัว แต่กำไรจะเพิ่มทันทีไม่ได้ ตัวใหม่ต้องรอ Break even แต่ตัวเก่า (สายสีน้ำเงิน) ก็จะ Break even ส่วนสายสีส้ม คาดว่าจะใช้เวลา 7-8 ปี กว่าจะถึง Break even”
ปัจจุบัน โครงสร้างรายได้ของ BEM มาจากธุรกิจทางด่วน 60% รถไฟฟ้าและพื้นที่เชิงพาณิชย์ 35% เละงินปันผลจากการลงทุนบริษัทในกลุ่ม CK สัดส่วน 5%
“มองไปข้างหน้า เราก็ยังเดินรถไฟฟ้าไปพร้อมกับการพัฒนา การให้บริการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เอาเทคโนโลยีมาใช้ ใช้คนให้มีประสิทธิภาพ และจะสร้างกำไรเป็น S-Curve อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน บริษัทก็มีขีดความสามารถให้รับงานใหม่ ๆ เข้ามา รวมถึงงานที่ต่อเนื่องกับเราโดยตรง”นายสมบัติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 67)
Tags: BEM, INTERVIEW, SCOOP, Turning Point, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, รถไฟฟ้าสายสีม่วง, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม