Interview: นักวิชาการอุซเบกฯ เตือนนโยบายภาษีสหรัฐฯ บั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก

ราฟชาน นาซารอฟ (Ravshan Nazarov) นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันรัฐและกฎหมาย สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอุซเบกิสถานให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า มาตรการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงบ่อยกำลังกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลก

นาซารอฟระบุว่า ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายหรือแนวทางที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงเชิงระบบที่กระทบต่อการตัดสินใจของภาคธุรกิจ และทำให้การลงทุนทั่วโลกชะลอตัว

ความคลุมเครือในเป้าหมายของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่งไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้ ต้องเลื่อนแผนการลงทุนออกไป ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

นาซารอฟยังชี้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันกำลังทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผู้บริโภครู้สึกไม่มั่นใจในการใช้จ่าย ตลาดผันผวนมากขึ้น และคุณภาพสินค้าต่ำลง

ทั้งภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและระบบการเงินกำลังเผชิญแรงกดดันสองด้าน ซึ่งยิ่งเพิ่มความเปราะบางของตลาดโลก

ในประเด็นการค้าระหว่างประเทศ นาซารอฟแสดงความกังวลว่า สหรัฐฯ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายแบบฝ่ายเดียวมากขึ้น ซึ่งกำลังบ่อนทำลายรากฐานของความร่วมมือพหุภาคี

นาซารอฟย้ำว่า กลไกระหว่างประเทศจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อนโยบายมีความมั่นคง คาดการณ์ได้ และโปร่งใส ซึ่งการกระทำของสหรัฐฯ กำลังทำลายระบบนั้น

นอกจากนี้ นาซารอฟกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า และในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ประเทศต่างๆ ควรหันมายึดหลักผลประโยชน์ร่วมกัน และความร่วมมือที่เป็นธรรม

นาซารอฟได้เรียกร้องให้ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกกลับไปสู่การเจรจาพหุภาคี และเคารพกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ เพื่อสร้างระเบียบเศรษฐกิจโลกที่มั่นคง ยุติธรรม และครอบคลุมมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 68)

Tags: , , , , ,