International SOS ชี้ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ปี 67 พุ่ง แนะวางกลยุทธ์รับมือ

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทผู้ให้บริการด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยชั้นนำของโลก แนะองค์กรเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบของความเสี่ยงนี้มีผลต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

รายงานประเมินแนวโน้มความเสี่ยง ประจำปี 2567 จากอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS Risk Outlook 2024) ระบุว่า ทั้งองค์กรและความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละบุคคลได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมแบบภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต (permacrisis) โดย 65% ของผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงเห็นพ้องว่า สภาวะโลกอันตรายมากขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา และประมาณ 3 ใน 4 ของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้คาดว่าสุขภาพจิตของพนักงานจะส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้

นพ.โรดริโก โรดริเกซ-เฟอร์นันเดซ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ สุขภาวะและสุขภาพจิตระดับโลกของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส มองว่า ยุคสมัยแห่งความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์อาจจะซ้ำเติมปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานมากยิ่งขึ้น องค์กรต่าง ๆ จึงมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหานี้และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกัน หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลของพนักงานก็คือการสื่อสารที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ เพราะจะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถปลูกฝังพนักงานให้มีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้น ในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 องค์กรทั้งหลายต้องหมั่นติดตามความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคาดการณ์และวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับการหยุดชะงักที่อาจจะเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ องค์กรต่าง ๆ จึงควรมีมาตรการด้านความปลอดภัยแบบหลายชั้น โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นอันดับแรก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

การแบ่งขั้วทางการเมืองที่ลุกลามไปทั่วโลกก็เป็นอีกสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยรายงาน 2023 Edelman Trust Barometer ระบุว่า ประเทศต่าง ๆ ที่ถูกวิเคราะห์ในรายงานฉบับนี้มากกว่าครึ่ง (53%) รู้สึกได้ถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา โดยมีสาเหตุสำคัญจากความไม่ไว้วางใจในรัฐบาล และความไม่ไว้วางใจนี้ได้ขยายวงกว้างออกไปไกลกว่าเรื่องของรัฐบาลแล้ว

ข้อมูลรายงานประเมินแนวโน้มความเสี่ยงจากอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ชี้ให้เห็นว่า พนักงานในปัจจุบันไว้วางใจนายจ้างในฐานะของแหล่งข้อมูลมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ ความแตกแยกที่เพิ่มมากขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวในที่ทำงาน ส่งผลให้พฤติกรรมของพนักงานเปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มความขัดแย้งส่วนบุคคล ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ จึงควรพัฒนาโปรแกรมเพื่อปกป้องพนักงานและลดความเสี่ยงเหล่านี้ รวมถึงจัดทำโปรแกรมป้องกันความรุนแรงในที่ทำงานอย่างครอบคลุม แผนรับมือกับความขัดแย้งที่อาจบานปลาย ไปจนถึงการกำหนดนโยบายที่ระบุอย่างชัดเจนว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้ในที่ทำงาน ทั้งนี้ ความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้สามารถป้องกันไม่ให้ลุกลามบานปลายได้ด้วยการแทรกแซงตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการใช้การสื่อสารที่ชัดเจน

วงจรวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก และยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพจิตของพนักงานอีกด้วย จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิต เนื่องจากพนักงานต้องเผชิญกับความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะหมดไฟที่เพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ผลกระทบต่อค่าครองชีพ และความไม่แน่นอนเป็นเวลานาน ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงเกือบ 3 ใน 4 คาดว่า สุขภาพจิตของพนักงานจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อองค์กรในปีนี้ องค์กรต่าง ๆ จึงต้องรีบจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ทำความเข้าใจและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีหลากหลายแง่มุม

แซลลี ลูเวลลิน ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยระดับโลกของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส เน้นย้ำว่า ภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นมรสุมแห่งวิกฤตที่เชื่อมโยงถึงกัน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความมั่นคงทั่วโลก ความขัดแย้งในด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าเพียงเล็กน้อย ความไม่มั่นคงทางการเมืองก็ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรต่าง ๆ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่สูงขึ้นจากกระแสการเลือกตั้งทั่วโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยในปีนี้ประเทศทั่วโลกกว่าครึ่งหนึ่งมีกำหนดจัดการเลือกตั้งระดับประเทศ ซึ่งอาจนำไปสู่คลื่นลูกใหญ่ของข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนที่ถูกปล่อยออกมา อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส มองว่า ผู้คนตื่นตัวกับประเด็นเรื่องข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งในพื้นที่ที่เราไม่เคยเห็นความตื่นตัวเช่นนี้มาก่อน

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส แนะนำกลยุทธ์ในการรับมือกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนี้

1. การรับรู้และเท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์: องค์กรควรจะกำหนดขั้นตอนในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างครอบคลุมเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ ข่าวกรองต้องเข้าถึงได้แบบเรียลไทม์และถูกต้องแม่นยำควบคู่ไปกับข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการเป็นพันธมิตรกับองค์กรที่นำเสนอข่าวกรองในพื้นที่และหน่วยงานที่เปิดโอกาสให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เพื่อให้องค์กรมีข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปใช้รับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนและคาดการณ์ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น

2. จัดทำระบบสื่อสารในภาวะวิกฤตแบบกำหนดเป้าหมาย: จัดทำแผนการสื่อสารแบบบูรณาการหลายช่องทาง ปรับให้เข้ากับพนักงานแต่ละคน ไม่ว่าพนักงานจะอยู่ที่ใด ทำงานตำแหน่งอะไร หรือต้องการอะไรบ้างในช่วงที่เกิดวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยระบบในแผนนี้ควรรวมถึงการรับ-ส่งข้อความสั้นหรือ SMS, การแจ้งเตือนแบบพุช และช่องทางอื่น ๆ ที่เหมาะสม เพื่อรักษาความต่อเนื่องในการติดต่อสื่อสาร ยืนยันความปลอดภัยของพนักงาน พร้อมให้ความช่วยเหลือหรืออพยพออกจากพื้นที่ทันทีหากจำเป็น

3. ซ้อมรับมือทุกสถานการณ์: ฝึกซ้อมรับมือด้วยการจำลองสถานการณ์ภัยคุกคามทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจที่มีอยู่ทั่วโลกขององค์กร นอกจากนี้ควรจะใช้ระบบการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์เพื่อวางแผนรับมือสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดมากที่สุด น้อยที่สุด ดีที่สุด และเลวร้ายที่สุด การเตรียมพร้อมเช่นนี้ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และพัฒนากลยุทธ์ที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. การฝึกรับมือวิกฤต: จัดโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อรับมือวิกฤตอย่างครอบคลุม ทั้งเวิร์กช็อปแบบมีส่วนร่วม การจำลองสถานการณ์ และโมดูลอีเลิร์นนิง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และวิธีรับมือแก่พนักงาน รวมถึงการสอนวิธีติดตามข่าวสารและแยกแยะข้อมูลเท็จในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์

5. การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต: จัดบริการและโปรแกรมสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่เข้าถึงง่ายและเป็นความลับ รวมถึงสายด่วนและบริการให้คำปรึกษาสำหรับพนักงาน เพื่อช่วยจัดการความวิตกกังวล ความเครียด และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ ส่งเสริมวัฒนธรรมการสื่อสารแบบเปิดกว้าง และกระตุ้นให้พนักงานกล้าขอความช่วยเหลือเมื่อได้รับผลกระทบทางอารมณ์จากเหตุการณ์ระดับโลก

6. ปรับตัวอยู่เสมอ: หลังเกิดเหตุการณ์ ให้ทบทวนกระบวนการจัดการวิกฤตอย่างละเอียด เพื่อประเมินประสิทธิภาพของแต่ละขั้นตอน สร้างระบบรับฟังความคิดเห็นเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากพนักงานทุกระดับหลังเกิดวิกฤต เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงกลยุทธ์ในการรับมือ โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพการสื่อสารและการให้ความช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 67)

Tags: