In Focus: ไวรัสสายพันธุ์เดลตา vs การเปิดเศรษฐกิจ-พรมแดน ต่างประเทศรับมือกันอย่างไร

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นแล้ว แต่กลับต้องเผชิญกับอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่มีชื่อว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา จนส่งผลกระทบต่อการทำงานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางได้อย่างอิสระ, โครงการทราเวล บับเบิล หรือแม้แต่การแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิกที่ต้องออกประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นพัลวันหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น

In Focus ในสัปดาห์นี้จึงจะหยิบยกผลกระทบของไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่มีต่อแนวทางควบคุมการแพร่ระบาดในหลายๆ ประเทศมาพิจารณาเพื่อเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ซึ่งน่าจะใช้เป็นกรณีศึกษาของแนวทางการรับมือวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้ได้

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา

เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาตรวจพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อปลายปี 2563 และสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 40-60% โดยเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียพบกรณีการแพร่ระบาดที่เกิดในเวลาเพียง 5-10 วินาที หลังจากประชาชนรายหนึ่งเดินผ่านผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายหนึ่งในขณะจับจ่ายซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า

อย่างไรก็ดี หน่วยงานสาธารณสุขของหลายประเทศได้ออกมายืนยันว่า วัคซีนของไฟเซอร์/บิออนเทคและวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนักจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ หลังจากได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว นอกจากนี้ บริษัทโมเดอร์นา และบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันเองก็ได้เปิดเผยว่า วัคซีนของบริษัทสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน

ออสเตรเลีย

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด เมื่อยอดผู้ติดเชื้อในออสเตรเลียเริ่มลดลง และสถานการณ์เริ่มฟื้นคืนสู่สภาวะปกติ รัฐบาลออสเตรเลียจึงได้ยกเลิกมาตรการจำกัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง รวมถึงวางแผนเปิดพรมแดนระหว่างประเทศอีกด้วย

แต่แล้วในช่วงปลายเดือนพ.ค.ก็เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในรัฐวิกตอเรีย ก่อนกระจายสู่หลายพื้นที่ในเวลาต่อมา รวมถึงซิดนีย์ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย จนทำให้ต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนหลายล้านคน และแสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของรัฐบาลในการหยุดการแพร่ระบาดในชุมชน

นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียยังประกาศเลื่อนโครงการทราเวล บับเบิลระหว่างออสเตรเลียและสิงคโปร์ออกไปเป็นช่วงสิ้นปี โดยก่อนหน้านี้นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เผยว่า การเปิดโครงการทราเวล บับเบิลต้องขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งส่งสัญญาณไม่ดีนักสำหรับออสเตรเลียที่ขณะนี้มีประชาชนเพียง 26% ที่ได้รับวัคซีนโดสแรก เทียบกับสิงคโปร์ที่มีประชาชนได้รับวัคซีนโดสแรกแล้วราว 70% ทั้งยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วส่วนใหญ่อยู่มาก

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพโอลิมปิกในปีนี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาไปไม่น้อยกว่ากัน โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในญี่ปุ่นที่พุ่งสูงขึ้นนั้น มีสัดส่วนของสายพันธุ์เดลตามากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นจากราว 7% สู่ระดับ 70% ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน (จากข้อมูลของ Our World in Data วันที่ 14 มิ.ย.-12 ก.ค.) ในขณะที่มีประชาชนชาวญี่ปุ่นราว 30% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนโดสแรก

นอกจากการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว โตเกียวโอลิมปิกยังทำให้หน่วยงานสาธารณสุขของญี่ปุ่นต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดที่อาจมาจากนักกีฬาผู้ที่เดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขัน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้นักกีฬาต่างประเทศต้องผ่านการทดสอบเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 4 วันก่อนออกเดินทาง และตรวจทุกวันหลังจากมาถึงญี่ปุ่น หลังเกิดกรณีนักกีฬาจากยูกันดามีผลตรวจเชื้อเป็นบวก

ขณะนี้เหลือเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนที่การแข่งขันโอลิมปิกจะเปิดฉากขึ้นในกรุงโตเกียว แต่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. กรุงโตเกียวได้ประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 4 ไปจนถึงวันที่ 22 ส.ค. ขณะที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีมติให้จัดการแข่งขันกีฬาโดยปราศจากผู้ชมในเกือบทุกสนามแข่งขัน ซึ่งเป็นการยกระดับจากการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันเพียงบางส่วนในช่วงก่อนหน้านี้

เมื่อการหยุดยั้งการแพร่ระบาดโดยสมบูรณ์นั้นดูจะเป็นไปได้ยากยิ่ง บางประเทศจึงเลือกเปลี่ยนไปใช้แนวทางอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสแทน เสมือนว่าโควิด-19 นั้นเป็นเพียงโรคประจำท้องถิ่นโรคหนึ่งซึ่งระบบสาธารณสุขจะรับมือได้ เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและผลกระทบทางเศรษฐกิจ

อังกฤษ

ประเทศอังกฤษมียอดผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในหลักหลายหมื่น และมีสัดส่วนของสายพันธุ์เดลตาเกือบ 100% แต่กลับมีความมั่นใจมากพอที่จะกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยรัฐบาลอังกฤษให้เหตุผลว่า แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่ยอดผู้เสียชีวิตและผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 ลดลงอย่างมาก ทั้งยังมีหลักฐานบ่งชี้ว่า วัคซีนสามารถช่วยชีวิตคนและช่วยให้การกลับมาเปิดเศรษฐกิจมีความปลอดภัยมากขึ้น

ความมั่นใจส่วนหนึ่งของอังกฤษนั้น มาจากการมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยรัฐบาลอังกฤษอนุมัติใช้วัคซีนของโมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และประชาชนอังกฤษราว 70% ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว ซึ่งความสำเร็จในด้านนี้ ทำให้นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษรับปากว่า จะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ตามกำหนด

นอกจากนี้ คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันของอังกฤษ (JCVI) ยังให้คำแนะนำว่า รัฐบาลอังกฤษควรเตรียมแผนระดมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 อีกครั้งในเดือนก.ย.นี้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยนายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษระบุว่า “เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเชื้อไวรัสตัวนี้ แผนระดมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครั้งแรกของเรากำลังช่วยให้ประชาชนในประเทศใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ และแผนระดมฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิจะช่วยรักษาอิสรภาพนี้ไว้”

สิงคโปร์

ในทางเดียวกัน นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสิงคโปร์กล่าวถึงแนวทางการควบคุมโควิด-19 ว่า “ผมคิดว่าขณะนี้มีอยู่ 2 แนวทาง แนวทางหนึ่งคือเราควรจะเลื่อนการเปิดเศรษฐกิจออกไปจนกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเป็น 0 อย่างต่อเนื่องหลายวัน แต่คงเกิดขึ้นได้ยาก และอาจเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำเมื่อคำนึงถึงความเร็วในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา”

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 75% ของประชากรทั้งหมดภายในเดือนต.ค.นี้ เพื่อให้สามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดนการเดินทางได้ เมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำท้องถิ่นชนิดหนึ่งในอนาคต

ทางด้านนายกาน คิม ยอง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์กล่าวว่า วัคซีนสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงช่วยลดอาการรุนแรงของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลและสถานบริการด้านสุขภาพของสิงคโปร์สามารถรองรับผู้ป่วยได้โดยไม่เกินขีดจำกัด และทำให้สิงคโปร์สามารถอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสต่อไปได้

ทั้งนี้ แม้สิงคโปร์จะไม่ได้บังคับให้ประชาชนต้องฉีดวัคซีนของบริษัทใดโดยเฉพาะ แต่กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ก็ได้ประกาศว่าจะไม่นับรวมผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคในจำนวนประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวควรมาจากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนตามแผนของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งใช้วัคซีน mRNA ของโมเดอร์นาและของไฟเซอร์/บิออนเทคเท่านั้น

ทั้งผลงานความสำเร็จและความล้มเหลวของประเทศเหล่านี้ ต่างก็เป็นกรณีศึกษาได้อย่างดีสำหรับประเทศไทยในการรับมือกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นในแง่การระดมฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว การเลือกใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการวางแผนรับมือที่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อยอดผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศยังอยู่ในหลักเฉียดหมื่น ทั้งยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย แนวทางเหล่านี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,