In Focus: “โมลนูพิราเวียร์” ยาต้านโควิดพลิกเกม จุดประกายความหวังทั่วโลก

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจนทะลุ 236 ล้านราย และยอดผู้เสียชีวิตกว่า 4.8 ล้านราย ทำให้ทั่วโลกแทบมองไม่เห็นทางออกว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่ล่าสุดก็มีแสงสว่างปลายอุโมงค์ส่องให้เห็นรำไร เมื่อบริษัท เมอร์ค แอนด์ โค บริษัทยารายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกับบริษัท ริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ ในการพัฒนายาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดที่มีชื่อว่า “โมลนูพิราเวียร์” (Molnupiravir) โดยระบุว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์เดลตา แกมมา และมิว

ผลการทดลองบ่งชี้ประสิทธิภาพ

ในการทดลองระยะที่ 3 ของยาโมลนูพิราเวียร์ อาสาสมัคร 775 คนที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ได้ถูกสุ่มให้ยาโมลนูพิราเวียร์หรือยาหลอก (Placebo) ภายในเวลา 5 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์มีเพียง 7.3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายใน 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใด ๆ จากการรับยาโมลนูพิราเวียร์ ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกมี 14.1% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายใน 29 วัน และเสียชีวิต 8 ราย ผู้ป่วยทุกคนที่เข้าร่วมการทดลองยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เมอร์คระบุว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ผิดปกติจนไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อได้รับยาเร็วที่สุดหลังจากเริ่มแสดงอาการของโรค

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่ายาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50% ซึ่งแม้ว่าจะต่ำกว่าโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody: mAb) ที่ช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 85% แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะมีประโยชน์ในวงกว้างมากกว่าเพราะยาเม็ดสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้มากกว่า ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจส่งผลให้เมอร์คประกาศว่าจะยื่นขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉินในสหรัฐโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะยื่นขออนุมัติการใช้ยากับหน่วยงานทั่วโลกด้วย โดยคาดการณ์ว่าจะผ่านการรับรองก่อนสิ้นปีนี้

หลายประเทศรีบจองยาใหม่

แม้ว่าขณะนี้ยาโมลนูพิราเวียร์ยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ได้เริ่มเจรจาเพื่อสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คแล้ว โดยรัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว 1.7 ล้านคอร์ส หรือรักษาได้ 1.7 ล้านคน และมีแผนให้ยาดังกล่าวฟรีสำหรับประชาชนชาวอเมริกัน ด้านออสเตรเลียเตรียมสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 300,000 คอร์ส ในขณะที่เตรียมเปิดพรมแดนการเดินทางในเดือนหน้า ส่วนทางด้านฮ่องกงมีแผนสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 500 คอร์สในเบื้องต้น และคาดว่าจะซื้อเพิ่มอีกในอนาคต สำหรับประเทศไทยเองก็เตรียมสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 200,000 คอร์ส และคาดว่าจะได้รับยาในเดือนธ.ค. ขณะที่สิงคโปร์ได้ลงนามซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นก็กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับเมอร์คเพื่อซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ ด้านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียก็เปิดเผยว่ากำลังเจรจากับเมอร์คเช่นกัน

หุ้นบริษัทวัคซีนร่วงหนัก

หลังจากที่เมอร์คเปิดเผยประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ ราคาหุ้นของบริษัทก็พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สวนทางกับหุ้นของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ร่วงลงถ้วนหน้า โดยเฉพาะไฟเซอร์ อิงค์ และ โมเดอร์นา อิงค์ ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ รวมถึง Fosun Pharma ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ของไบออนเทค-ไฟเซอร์ในจีนแผ่นดินใหญ่ และบริษัทญี่ปุ่นอย่าง JCR Pharmaceuticals ซึ่งทำสัญญาผลิตวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจะลดความต้องการฉีดวัคซีนเมื่อมียาเม็ดที่กินง่ายในการรักษาโควิด-19

นอกจากหุ้นบริษัทเมอร์คจะพุ่งขึ้นแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ว่าเมอร์คจะกวาดรายได้มหาศาลจากการจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์ ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ด (ผู้ป่วยต้องรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน) โดยเมอร์คคาดว่าจะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้ 10 ล้านคอร์สภายในสิ้นปีนี้ และเมื่อพิจารณาจากการที่เมอร์คคิดค่ายาโมลนูพิราเวียร์จากสหรัฐในราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ นั่นหมายความว่าเมอร์คจะมีรายได้จากการจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์สูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

วัคซีนยังจำเป็น

นายแพทย์แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาว กล่าวว่า ยาตัวใหม่ของเมอร์คมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่เขาเตือนว่าชาวอเมริกันไม่ควรรีรอที่จะฉีดวัคซีนเพราะคิดว่ามียาเม็ดให้กินแล้ว เพราะวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องตนเองคือการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ขณะเดียวกัน นายแพทย์สก็อต ก็อตลีบ อดีตกรรมาธิการของ FDA กล่าวว่า การที่รัฐบาลสหรัฐสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 1.7 ล้านคอร์สนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน

มีการคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลากว่าที่ยาโมลนูพิราเวียร์จะกระจายอย่างทั่วถึง โดยผู้ป่วยกลุ่มแรกที่จะได้รับยาคือกลุ่มที่มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุ ก่อนที่จะกระจายไปสู่กลุ่มอื่น และแม้ว่าจะมีอีกหลายบริษัทที่กำลังพัฒนายาในลักษณะเดียวกันกับโมลนูพิราเวียร์ เช่น ไฟเซอร์ อิงค์ จากสหรัฐ และ โรช โฮลดิ้ง เอจี จากสวิตเซอร์แลนด์ แต่คาดว่าต้องใช้เวลา 2-3 เดือนกว่าจะทราบผลการทดลองทางคลินิก ดังนั้นจึงไม่น่าจะผลิตยาออกมาได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ หากได้รับการอนุมัติจาก FDA ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาเม็ดต้านโควิด-19 ชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติในสหรัฐ และจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับหลายประเทศที่ตอนนี้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ของญี่ปุ่น ซึ่งยังมีข้อกังขาเรื่องประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ต.ค. 64)

Tags: , , , ,