เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ หลังการก่อกบฏของนายเยฟเกนี ปริโกซิน ผู้นำกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ อดีตพันธมิตรคนสนิทของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งเกิดขึ้นและจบลงภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง โดยวิกฤตครั้งนี้ไม่เพียงแต่สั่นคลอนอำนาจของผู้นำรัสเซียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ยังก่อให้เกิดคำถามเป็นวงกว้างต่อทิศทางในอนาคตของรัสเซียและของปธน.ปูติน
เกิดอะไรขึ้นที่รัสเซีย
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 มิ.ย.) นายเยฟเกนี ปริโกซิน หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ (Wagner Group) อดีตพันธมิตรคนสนิทของปธน.ปูติน ได้เคลื่อนพลข้ามพรมแดนจากยูเครนเข้ามายึดเมืองรอสตอฟ ออนดอน ฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์ทางตอนใต้ของรัสเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เพียง 200 กิโลเมตร และเคลื่อนทัพเกือบประชิดกรุงมอสโก โดยอ้างว่า “มิใช่การก่อรัฐประหาร แต่เป็นการเดินขบวนเพื่อความยุติธรรม”
ความโกลาหลที่สร้างความแตกตื่นให้รัสเซียจบลงในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น หลังนายปริโกซินออกมาระบุว่า ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส และได้สั่งถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุบานปลาย และแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีข้อหากบฏ พร้อมประกาศลี้ภัยไปยังเบลารุส
ผ่านไปไม่นาน เมื่อวันจันทร์ (26 มิ.ย.) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย กล่าวแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกหลังเหตุจลาจล โดยยืนยันจะนำตัวนายปริโกซิน ผู้นำก่อกบฏวากเนอร์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเน้นย้ำว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ แม้ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า รัสเซียจะไม่ดำเนินคดีกับนายปริโกซินเพื่อแลกกับการถอนกำลังทหารรับจ้างวากเนอร์ออกไปก็ตาม
ด้านสำนักข่าวเดอะวอชิงตัน โพสต์เปิดเผยว่า สหรัฐรับรู้มาก่อนหน้านี้ว่า นายปริโกซินกำลังวางแผนบางอย่างในช่วงกลางเดือนมิ.ย. หลังหัวหน้าหน่วยข่าวกรองสหรัฐเฝ้าติดตามดูความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างนายปริโกซินกับผู้นำด้านกลาโหมของรัสเซียมานานหลายเดือน
มูลเหตุของความบาดหมาง
ชนวนสำคัญของการก่อกบฏครั้งนี้เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่คุกรุ่นมาตลอดหลายเดือนระหว่างนายปริโกซิน และนายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย โดยนายปริโกซินกล่าวหาว่านายพลของรัสเซียไร้ความสามารถและไม่ยอมส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กลุ่มในการสู้รบกับยูเครน จนทำให้นักรบวากเนอร์ล้มตายในสงครามจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็อ้างชัยชนะของกลุ่มวากเนอร์ว่าเป็นของกองทัพ
สถานการณ์บานปลายมาจนถึงจุดแตกหักเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มิ.ย. โดยนายปริโกซินออกมาประณามนายซอยกูที่สั่งโจมตีค่ายทหารของกลุ่มวากเนอร์ในยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 30 ราย พร้อมประกาศว่าจะทำทุกวิถีทาง เพื่อขับไล่ผู้ครองอำนาจสูงสุดทางทหารของรัสเซีย จนนำไปสู่การก่อกบฏครั้งนี้
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ กระทรวงกลาโหมรัสเซียซึ่งนำโดยนายซอยกูประกาศกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. โดยมีคำสั่งให้กองกำลังอาสาสมัครทั้งหมด เช่น ทหารกลุ่มวากเนอร์ จะต้องลงนามในสัญญาขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหมรัสเซียภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สร้างความไม่พอใจให้กับนายปริโกซินอย่างมาก
วากเนอร์เป็นใคร ทำไมสำคัญต่อรัสเซีย
กองกำลังวากเนอร์เป็นองค์กรทหารรับจ้างที่ทรงอิทธิพลภายใต้การนำของนายปริโกซิน ซึ่งขึ้นชื่อด้านความโหดเหี้ยมและแข็งแกร่ง ทหารกลุ่มนี้ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2557 ขณะที่รัสเซียใช้กำลังทหารผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครน อีกทั้งกองกำลังวากเนอร์ยังประจำการและมีส่วนร่วมในความขัดแย้งในตะวันออกกลางและแอฟริกา
กองทหารวากเนอร์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในสงครามยูเครนนับตั้งแต่เริ่มเข้าปฏิบัติการในเดือนมี.ค. 2565 และจัดว่าเป็นกองทหารที่ถูกส่งไปรบในพื้นที่ที่มีการสู้รบกันอย่างดุเดือดที่สุดและนองเลือดที่สุด โดยเฉพาะในเมืองบัคมุต ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งรัสเซียต้องการยึดครอง
เมื่อเดือนธ.ค. 2565 นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐคาดการณ์ว่าทหารรับจ้างวากเนอร์ประจำการอยู่ในยูเครนประมาณ 50,000 นาย โดยแบ่งเป็นทหารรับจ้างจำนวน 10,000 นาย และเป็นนักโทษที่ถูกเกณฑ์มาจากเรือนจำของรัสเซียอีก 40,000 รายเพื่อแลกกับการนิรโทษกรรม
เปิดรายละเอียดดีลลับสงบศึก
ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุสซึ่งได้รับความเห็นชอบจากปธน.ปูตินนั้น ได้เสนอตัวที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ยในความขัดแย้งครั้งนี้ โดยข้อตกลงที่ทำให้นายปริโกซินยอมสั่งถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ทั้งหมดก็คือ รัสเซียจะยกเลิกการดำเนินคดีอาญาในข้อหาก่อกบฏของนายปริโกซิน และเขาจะได้ลี้ภัยไปยังเบลารุสภายใต้การคุ้มครองความปลอดภัย
ส่วนกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ที่ได้เข้าร่วมการเดินขบวนเพื่อความยุติธรรมตามคำกล่าวของนายปริโกซินนั้น ก็จะไม่ถูกดำเนินคดีทางอาญาแต่อย่างใด เนื่องจากเคยมีคุณงามความดีจากการรับใช้ชาติก่อนหน้านี้ ส่วนกลุ่มทหารที่ไม่ได้เข้าร่วมการก่อจลาจลจะได้รับข้อเสนอให้เข้าร่วมในกองทัพรัสเซียโดยตรง
นายฟิลลิปส์ โอไบรอัน ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ศึกษาประจำมหาวิทยาลัยเซนต์ แอนดรูวส์ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นข้อตกลงที่เร่งรีบ ซึ่งออกแบบมาเพื่อปกป้องนายปริโกซิน ทรัพย์สินและครอบครัวของเขา และยังไม่มีความชัดเจนว่า เขาจะสามารถปกป้องกลุ่มนักรบวากเนอร์ได้หรือไม่
ทำไมต้อง “ลูคาเชนโก” คนกลางเจรจา
นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินกล่าวว่า ประธานาธิบดีเบลารุสรู้จักนายปริโกซินเป็นการส่วนตัวมาเป็นเวลานานประมาณ 20 ปี จึงไม่ใช่เรื่องยากที่นายปริโกซินจะยอมพูดคุยกับเขา อีกทั้งนายลูคาเชนโกเองยังได้รับความเห็นชอบจากปธน.ปูตินด้วยเช่นกัน
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ปธน.ปูตินเคยยืนหยัดช่วยเหลือนายลูคาเชนโก ผู้ได้รับฉายาผู้นำเผด็จการแห่งยุโรปคนสุดท้าย ในช่วงเวลาที่เขาเผชิญหน้ากับประชาชนนับแสนที่มาชุมนุมขับไล่ โดยปธน.ปูตินได้อนุมัติเงินกู้ 1,500 ล้านดอลลาร์แก่รัฐบาลเบลารุสเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างนายลูคาเชนโกและปูตินแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นตามกาลเวลา โดยเบลารุสให้การสนับสนุนสนุนทางการเมืองกับรัสเซียอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังอนุญาตให้ปูตินใช้เบลารุสเป็นที่ตั้งต้นสำหรับปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนในช่วงแรก และยอมถึงขนาดให้รัสเซียติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี จึงไม่แปลกที่ปธน.ลูคาเชนโกจะเข้ามาช่วยเป็นคนกลางในการเจรจา
อนาคตกองกำลังวากเนอร์
สำนักงานความมั่นคงรัฐบาลกลางรัสเซีย (FSB) เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (27 มิ.ย.) ว่า รัสเซียจะไม่ดำเนินคดีอาญากับกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ แม้พวกเขาได้ก่อการจลาจลเมื่องช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม อีกทั้งปธน.ปูตินได้กล่าวขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อการกบฏที่ตัดสินใจอย่างถูกต้องในการหลีกเลี่ยงการปะทะนองเลือดกันเอง และหยุดการกระทำของพวกเขาก่อนที่จะข้ามเส้น
นอกจากจะไม่ดำเนินคดีแล้ว ปธน.ปูตินยังเสนอ 3 ทางเลือกให้แก่กลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ โดยพวกเขาสามารถเลือกเข้าร่วมกองทัพรัสเซีย ออกจากประเทศไปยังเบลารุสเช่นเดียวกับนายปริโกซิน หรือกลับไปหาครอบครัวและมิตรสหาย
“ปูติน” กับภาพลักษณ์ที่บอบช้ำ
การก่อกบฏครั้งนี้ถือเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่ออำนาจของปธน.ปูติน นับตั้งแต่เขาขึ้นสู่อำนาจเมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้ว นักวิเคราะห์และนักการทูตต่างมองว่า ภาพลักษณ์ของปูตินในฐานะผู้นำเผด็จการที่แข็งแกร่งนั้นดูอ่อนแอและค่อนข้างจะบอบช้ำเป็นอย่างมาก
นายพาเวล สลันคิน อดีตนักการทูตและนักวิเคราะห์ประจำสมาคมความสัมพันธ์ทางการทูตในยุโรปซึ่งเป็นคลังสมองที่สำคัญของภูมิภาคยุโรปกล่าวว่า ปธน.ปูตินดูอ่อนแอในครั้งนี้ โดยเขาแสดงให้เห็นว่าระบอบของเขาอ่อนแอเพียงใด และสามารถถูกท้าทายได้อย่างง่ายดาย
สิ่งที่แย่กว่านั้น นายไมเคิล แมคฟอล อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำรัสเซียกล่าวว่า การก่อกบฏของนายปริโกชินไม่เพียงแต่ทำให้ปูตินดูอ่อนแอ แต่ยังสร้างความเคลือบแคลงสงสัยในกลุ่มผู้นำรัสเซียและชนชั้นปกครองเกี่ยวกับขีดความสามารถของปูตินในการปกครองรัสเซียต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ผลกระทบต่อสงครามยูเครน
นายแอนโทนี่ เบรนตัน อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำรัสเซียมองว่า กลุ่มนักรบวากเนอร์ทำผลงานได้ดีที่สุดในบรรดากองทหารของรัสเซียทั้งหมดในการสู้รบในยูเครน พวกเขามีส่วนร่วมอย่างมากในการยึดเมืองบัคมุตของยูเครน ดังนั้น การที่นายปริโกซินถอยออกจากสงคราม และทหารกลุ่มวากเนอร์อาจไม่เข้าร่วมรบนั้น ย่อมจะทำให้ประสิทธิภาพการทำสงครามของรัสเซียในสนามรบถดถอยลง
อย่างไรก็ดี รัสเซียอ้างว่าการก่อกบฏของนายปริโกซินที่ล้มเลิกไปแล้วจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อปฏิบัติการพิเศษทางทหารของกองทัพรัสเซียในยูเครน
นักวิเคราะห์บางรายมองว่า นี่เป็นเวลาเหมาะสมที่สุดที่ยูเครนจะเดินหน้าโจมตีกองกำลังรัสเซียที่กำลังขวัญเสีย นายบิล เทย์เลอร์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำยูเครนมองว่า กองกำลังยูเครนอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ทางยุทธวิธีที่เกิดจากการก่อกบฏอย่างกะทันหันของกลุ่มนักรบวากเนอร์
นายจอห์น บาร์รังโก นาวิกโยธินอาวุโสประจำศูนย์กลยุทธ์และความปลอดภัยสคาวครอฟท์ของสหรัฐแสดงความเห็นที่สอดคล้องกัน โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้การโจมตีเมืองรอสตอฟ ออนดอนซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญทางตอนใต้ของรัสเซีย เป็นเรื่องที่สุดบ้าบิ่น แต่ตอนนี้กลุ่มกองกำลังวากเนอร์ได้ทำให้เห็นแล้ว ดังนั้น ยูเครนจึงควรรีบใช้โอกาสจากความไม่สงบในรัสเซีย เพื่อทวงคืนดินแดนของตน
ก้าวต่อไปของ “ปูติน”
การจลาจลครั้งนี้สร้างความเสียหายถึงขั้นอัปยศอดสูอย่างมากให้กับปธน.ปูติน นายพลฟิลิปส์ บรีดเลิฟ อดีตผู้บัญชาการหน่วยทหารสหรัฐภาคพื้นยุโรปมองว่า ปธน.ปูตินกำลังพยายามทำให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติตามเดิม โดยพยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นและฐานอำนาจขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
อเล็กซานเดอร์ กาบูเยฟ ผู้อำนวยการประจำศูนย์รัสเซียคาร์เนกี้ เน้นย้ำถึงการแก้ไขจุดอ่อนด้านเสถียรภาพการเมืองภายในและคนใกล้ชิด โดยระบุว่า “ปธน.ปูตินกำลังพยายามกอบกู้ชื่อเสียง ด้วยการทำให้ระบอบการปกครองมีการปฏิบัติที่จริงจังมากขึ้น และผลที่ตามมาคือรัฐบาลคาดว่าจะเพิ่มความเข้มงวดให้แก่ระบอบการปกครองในประเทศ”
ด้านร็อบ ลี นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศในสหรัฐกล่าวว่า การจลาจลทำให้นายพลชอยกูและนายวาเลรี เกราซิมอฟ เสนาธิการกองกำลังติดอาวุธ ดูแย่ก็จริง แต่มันยังแสดงให้เห็นด้วยว่า เป็นเรื่องสำคัญเพียงใดที่ปธน.ปูตินจะมีบุคคลผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดีมาดูแลด้านการทหารและความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นายปริโกซินก่อกบฏ
หากมองในแง่ร้ายที่สุด ความอัปยศครั้งนี้อาจทำให้ปธน.ปูตินพุ่งเป้าไปที่สงครามยูเครนมากขึ้น ถ้าความขัดแย้งทางการเมืองในรัสเซียยิ่งทำลายขวัญและกำลังใจของทหารและนำไปสู่การสูญเสียในสนามรบเพิ่มขึ้น ก็อาจจะสร้างความกังวลว่า ประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์อาจยกระดับความรุนแรงของสงครามด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็เป็นได้
แม้ว่าสถานการณ์ความโกลาหลในรัสเซียจะคลี่คลาย การก่อกบฏจบลงในระยะเวลาอันสั้น เราก็ยังคงต้องจับตาสถานการณ์กันต่อไป เพราะอดีตสอนให้เราตระหนักว่า ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยจากปูตินและรัสเซีย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 66)
Tags: In Focus, รัสเซีย, วากเนอร์