นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศมองว่า หากสหรัฐและอิหร่านยังไม่สามารถรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างกันได้ ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพในตะวันออกกลางและความปลอดภัยของโลก เพราะอิหร่านจะยังคงละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้ในปี 2558 ต่อไป และเดินหน้าเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่สามารถจะนำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์
ด้านนักวิเคราะห์ตลาดพลังงานโลกก็กำลังเฝ้าติดตามท่าทีของสหรัฐและอิหร่านที่มีต่อการปัดฝุ่นข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยคาดว่า หากทั้งสองฝ่ายสามารถกลับมาปฏิบัติตามข้อตกลงได้ สหรัฐก็จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และอิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง ซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างแน่นอน
In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปวิเคราะห์กันว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่สหรัฐและอิหร่านจะสามารถกลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์อีกครั้ง
ข้อตกลงนิวเคลียร์ – ต้องยื่นหมูยื่นแมวเท่านั้น
ข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015 (2558) หรือ แผนปฏิบัติการร่วมแบบเบ็ดเสร็จ (Joint Comprehensive Plan of Action) เป็นการตกลงกันระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจ 6 ชาติซึ่งได้แก่จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์โดยแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ, สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ โดยข้อตกลงดังกล่าวจัดทำขึ้นในปี 2558 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
แต่ในเดือนพ.ค. 2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สั่งถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงดังกล่าว และเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรขั้นสูงสุดด้วยการอ้างแบบไม่มีหลักฐานว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลง และเมื่อมาถึงยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน รัฐบาลสหรัฐก็กำลังพยายามที่จะเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อีกครั้ง โดยสหรัฐได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับอิหร่านที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียขณะที่มีสหภาพยุโรปเป็นคนกลางนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการเจรจามีความคืบหน้าบางส่วนโดยมีการจัดตั้งคณะทำงาน 2 ชุดเพื่อดูแลด้านนิวเคลียร์ และอีกชุดหนึ่งดูแลเรื่องการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
อย่างไรก็ตาม สหรัฐและอิหร่านยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของข้อตกลง โดยอิหร่านเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดเสียก่อนเพื่อแสดงความจริงใจในการเจรจา ขณะที่สหรัฐก็สวนกลับอย่างทันควันว่า จะไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร หากอิหร่านไม่หยุดการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม
“ไรซี” ว่าที่ประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ เมิน “ไบเดน”
อิบราฮิม ไรซี ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนส.ค.นี้นั้น นับเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อการรื้อฟื้นข้อตกลงใหม่ เพราะผู้นำหัวอนุรักษ์นิยมสุดโต่งคนนี้ได้ประกาศกร้าวในการแถลงข่าวหลังคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธบดีอิหร่านในเดือนนี้ว่า เขาจะไม่ยอมพบปะเจรจาตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐโดยเด็ดขาด
ไรซียืนยันว่า อิหร่านสนับสนุนการเจรจาตามหลักการกับคู่กรณีทุกฝ่ายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้น สหรัฐซึ่งเป็นฝ่ายถอนตัวออกไปก็จะต้องกลับเข้ามาร่วมข้อตกลงและปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงอย่างเคร่งครัด ขณะที่อิหร่านเองแม้จะยังร่วมอยู่ในข้อตกลงปี 2558 ก็ละเมิดข้อตกลงเช่นกัน โดยหลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกไป อิหร่านก็เดินหน้าเสริมสมรรถนะยูเรเนียมจนเกินกว่าเกณฑ์ที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กำหนดไว้
ไรซีกล่าวว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของอิหร่านจะไม่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอิหร่านด้วย แต่เมื่อนักข่าวถามว่า หากสหรัฐยอมยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด ไรซียินดีจะพบปะหารือแบบตัวต่อตัวกับโจ ไบเดนหรือไม่ นายไรซีก็ตอบอย่างชัดเจนเพียงคำเดียวเลยว่า “ไม่”
เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ได้ออกมาแก้เก้อในทันทีว่า ไบเดนเองก็ไม่ได้มีแผนการที่จะพบปะหารืออย่างเป็นทางการกับไรซีอยู่แล้วเมื่อประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ส.ค.นี้ โดยให้เหตุผลว่า สหรัฐและอิหร่านไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการต่อกัน และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ผู้ที่มีอำนาจชี้ขาดตัวจริงในอิหร่านนั้นไม่ใช่ไรซี แต่เป็น อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านต่างหาก
ไรซีซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของอิหร่านนั้นมีชื่ออยู่ในบัญชีดำการคว่ำบาตรของสหรัฐด้วยโทษฐานที่เขาละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชน และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตนักโทษการเมืองจำนวนมากในอิหร่านในปี 2531
บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า ไบเดนอาจจะยอมถอนชื่อไรซีออกจากบัญชีดำของสหรัฐก่อนที่เขาจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านในเดือนส.ค.นี้ก็เป็นได้ เพื่อให้การเจรจาฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
หายนะทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเร่งฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์
ผลกระทบที่รุนแรงจากการคว่ำบาตรอาจจะกดดันให้อิหร่านต้องยอมกลับเข้าร่วมข้อตกลงโดยเร็วเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปัจจุบันมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐและผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ในตะวันออกกลางนั้น ทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านยังคงเปราะบาง โดยเผชิญกับอัตราการว่างงานที่ระดับสูงถึงราว 20% และอัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยานขึ้นมากกว่า 50%
สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ประมาณการว่า หากมีการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่ที่มีความครอบคลุมมากกว่าเงื่อนไขในปี 2558 อิหร่านอาจจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริง เพิ่มขึ้น 4.3% ในปีนี้ และจะเพิ่มขึ้น 5.9% และ 5.8% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ
ภายใต้สถานการณ์สมมตินี้ ทุนสำรองอย่างเป็นทางการของอิหร่านอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในสิ้นปี 2566 จากระดับ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค.ปีนี้ ขณะที่การปลดล็อคด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะช่วยสร้างงาน และอิหร่านจะกลับไปเกินดุลการคลังได้อีกครั้งภายในปี 2566
แต่หากอิหร่านและมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ การว่างงานในอิหร่านก็มีแนวโน้มว่าจะยังคงเป็นเลขสองหลัก และการเติบโตทางเศรษฐกิจจะหดตัวลงแตะ 1.8% ในปีนี้
มิตรแท้ ศัตรูไม่ถาวร
การที่อิหร่านหันไปผูกมิตรกับจีนและรัสเซีย อาจทำให้อิหร่านสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องพึ่งข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการบรรลุข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระยะ 25 ปีระหว่างอิหร่านกับจีนซึ่งเป็นคู่ค้าและผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมุ่งเน้นขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างกว้างขวางตามข้อเสนอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเมื่อครั้งเดินทางไปเยือนอิหร่านในปี 2560
นอกจากจีนแล้ว อิหร่านก็ยังมีมหาอำนาจอย่างรัสเซียเป็นมิตรด้วย ซึ่งสองประเทศก็เพิ่งร่วมซ้อมรบทางทะเลในพื้นที่ตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดียไปเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นความร่วมมือเพื่อยกระดับความปลอดภัยสำหรับการค้าทางทะเล
ส่วนซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐและตัดสัมพันธ์กับอิหร่านไปเมื่อปี 2559 นั้น ก็มีแนวโน้มที่จะหันกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์กับอิหร่านอีกครั้ง โดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์พิเศษแก่สถานีโทรทัศน์แห่งชาติในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า อิหร่านเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่รัฐบาลซาอุฯให้ความสนใจ และต้องการที่จะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
อย่างไรก็ตาม อิสราเอลซึ่งเป็นมิตรกับสหรัฐ แต่เป็นศัตรูหมายเลข 1 ของอิหร่านนั้น ยังคงมีท่าทีคัดค้านการกลับไปใช้ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ประนีประนอมกับอิหร่าน โดยนายกรัฐมนตรีนัฟทาลี เบนเนตต์ของอิสราเอลได้ตั้งฉายา อิบราฮิม ไรซี ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านว่าเป็น “เพชฌฆาตแห่งเตหะราน” (Hangman of Tehran) โดยระบุว่า ไรซีเป็นบุคคลที่เลวร้ายทั้งในสายตาของชาวอิหร่านและชาวโลก เพราะเขาอยู่เบื้องหลังการสังหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ชาวอิหร่านหลายพันคนเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว
เบนเนตต์ระบุว่า การเตรียมขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านของนายไรซีถือเป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับบรรดาชาติมหาอำนาจซึ่งเป็นภาคีของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2558 และผู้นำอิสราเอลยังได้ประกาศกร้าวว่า การหารือกับรัฐบาลอิหร่านชุดใหม่จะต้องไม่มีการประนีประนอม อิหร่านจะต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม รวมทั้งยืนยันว่าจุดยืนของอิสราเอลต่ออิหร่านจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
อิหร่านถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อตะวันออกกลาง ดังนั้นรัฐบาลไบเดนจึงพยายามที่จะเจรจาเพื่อฟื้นฟูข้อตกลงกับอิหร่าน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งถ้าหากตกลงกันได้ ความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ก็จะลดน้อยลง
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า การเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์รอบใหม่นั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าสหรัฐ, อิหร่านและนานาประเทศต่างเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการก็ตาม เราในฐานะผู้สนับสนุนสันติภาพของโลก ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า หมากต่างๆ ในเกมนิวเคลียร์นี้จะหาทางออกกันได้อย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 64)
Tags: การเมืองระหว่างประเทศ, ข้อตกลงนิวเคลียร์, สหรัฐ, อาวุธนิวเคลียร์, อิบราฮิม ไรซี, อิหร่าน, เจน ซากี