สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียเกี่ยวกับยูเครนยังคงร้อนระอุ โดยฝั่งรัสเซียยังไม่ยอมลดกำลังทหารที่สั่งสมตามแนวชายแดนที่ติดกับยูเครน ขณะที่สหรัฐกับชาติพันธมิตรก็พร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางทหารและเศรษฐกิจเพื่อต่อกรกับรัสเซีย
ในความขัดแย้งที่อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนโลกนี้ In Focus สัปดาห์นี้ ขอพาไปดูความเคลื่อนไหวในมุมมองของทั้งสามฝ่ายซึ่งได้แก่ สหรัฐกับชาติตะวันตก รัสเซีย และยูเครน
เตรียมพร้อมเผชิญหน้าทั้งด้วยกำลังทหารและมาตรการเศรษฐกิจ
ในช่วงนี้ฝ่ายที่ดูมีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในประเด็นยูเครนอยู่ที่ฝั่งสหรัฐกับชาติพันธมิตรในโลกตะวันตก โดยเมื่อไม่กี่วันมานี้ กองทัพสหรัฐแจ้งเตือนกองทหารประมาณ 8,500 นายให้เตรียมพร้อมเคลื่อนกำลังพลไปยังยุโรปในเร็ว ๆ นี้หากจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ที่เตรียมเผชิญหน้ากับกองทัพรัสเซียนับ 100,000 รายที่สั่งสมกำลังตามแนวชายแดนที่ติดกับยูเครน
กองทหารสหรัฐจำนวน 8,500 นายได้รับคำสั่งให้พร้อมเคลื่อนกำลังพลเพื่อเข้าประจำการในกองกำลังตอบโต้เร็วของนาโต (NRF) หากนาโตเรียกระดมพล อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งเคลื่อนกำลังพลแต่อย่างใด
แม้การตัดสินใจดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะสนับสนุนยูเครนซึ่งไม่ใช่ประเทศสมาชิกของนาโต แต่ก็เป็นการยืนยันว่า นาโตเตรียมรับมือกับรัสเซีย ซึ่งสหรัฐกับยูเครนเชื่อว่าจะเคลื่อนกำลังทหารเข้าบุกยูเครน
ขณะเดียวกัน นาโตได้เสริมกำลังทหารทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศตามพรมแดนฝั่งตะวันออก เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่รัสเซียอาจจะทำการโจมตียูเครนในไม่ช้านี้ โดยเดนมาร์กและสเปนส่งเรือรบและเครื่องบินขับไล่เข้าร่วมกองกำลังนาโตด้วยเช่นกัน ขณะที่ฝรั่งเศสประกาศความพร้อมที่จะส่งกำลังทหารเข้าสู่โรมาเนีย
กำลังทหารอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะสกัดรัสเซีย
นอกเหนือจากกำลังทหารซึ่งเมื่อรวมของทั้งสหรัฐกับชาติพันธมิตรอาจจะไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับกองทหารรัสเซียนับแสนนาย สหรัฐยังได้ยกระดับการป้องกันไม่ให้ผู้นำรัสเซียก่อสงคราม โดยล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เขาเตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย หากปธน.ปูตินสั่งการให้กองทัพรัสเซียบุกเข้าสู่เขตแดนของยูเครน
แม้ในอดีตสหรัฐจะเคยใช้มาตรการคว่ำบาตรกับผู้นำประเทศเพียงน้อยครั้ง แต่ขณะนี้ปธน.ไบเดนและชาติพันธมิตรก็ได้ประกาศเตรียมใช้กลไกทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันรัสเซียอย่างหนัก หากปธน.ปูตินสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารรัสเซียราว 100,000 คนที่ประจำอยู่ใกล้ชายแดนยูเครนรุกล้ำเข้าสู่อาณาเขตของยูเครน
“อย่างที่ผมได้กล่าวไป หากปธน.ปูตินตัดสินใจสั่งการ ก็จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมาอย่างแน่นอน” ปธน.ไบเดนกล่าว “ถ้าเขาสั่งให้ทหารเคลื่อนพลเข้าสู่ยูเครนจริง ก็จะถือว่าเป็นการรุกรานด้วยกำลังพลจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก”
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังได้ขู่ยกระดับการคว่ำบาตรรัสเซียในประเด็นยูเครนด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับที่ “ไม่เคยมีมาก่อน” แต่ก็ยังไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติม
หวั่นคว่ำบาตรแล้ว ก็ยังไม่ได้ผล
แม้มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐและชาติพันธมิตรในยุโรปรอบนี้ดูจะแข็งกร้าวมากขึ้น แต่ผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรใด ๆ ต่อปธน.ปูตินนั้น ก็ยังคงไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากไม่มีการเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ปธน.ปูตินครอบครอง
ปธน.ปูตินเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า เขาได้รับเงินเดือนราว 140,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และสินทรัพย์อื่น ๆ ที่เขาครอบครองนั้นมีเพียงอพาร์ทเมนท์ 1 แห่งและรถยนต์ไม่กี่คันเท่านั้น อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า ปธน.ปูตินอาศัยอยู่ในบ้านพักอันโอ่อ่าที่มีขนาดใหญ่กว่าพระราชวังบัคกิ้งแฮม และบรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดว่า สินทรัพย์ของเขาน่าจะมีมูลค่ารวมหลายพันล้านดอลลาร์ โดยถูกซ่อนไว้ในเครือข่ายธนาคารเงา (Shadow banking) ทั่วโลก
จริง ๆ แล้ว สหรัฐและชาติพันธมิตรในยุโรปได้ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียมาตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เพื่อตอบโต้ที่รัสเซียผนวกรวมไครเมีย โดยทุกวันนี้มาตรการเหล่านั้นก็ยังคงมีอยู่ แต่รัสเซียก็ไม่ยอมถอนตัวออกจากไครเมีย
สิ่งที่สหรัฐน่าจะทำได้ในรอบนี้ก็คือ การยกระดับการคว่ำบาตรภาคพลังงานซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจรัสเซีย รวมถึงคว่ำบาตรธนาคารรายใหญ่ ๆ ที่รัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของ เพื่อไม่ให้รัสเซียเข้าถึงระบบการเงินของชาติตะวันตก ซึ่งก็นับว่าจะส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อความเป็นอยู่ของชาวรัสเซีย รวมถึงตัวผู้นำประเทศ
อย่างไรก็ดี สหรัฐไม่ค่อยได้ทำธุรกิจกับรัสเซียอยู่แล้ว แต่กลับเป็นประเทศในแถบยุโรปซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐที่ทำธุรกิจกับรัสเซีย ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้มาตรการคว่ำบาตรไม่รุนแรงมากเท่าที่ควรจะเป็น เพราะชาติยุโรปเองก็ยังไม่กล้าเปิดหน้าลุยกับรัสเซียอย่างเต็มที่
ที่ผ่านมานั้น สหรัฐและชาติยุโรปมีความเห็นต่างกันอยู่แล้วในเรื่องการคว่ำบาตรรัสเซีย เนื่องจากธุรกิจยุโรปจะได้รับความเดือดร้อน โดยนายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้เรียกร้องให้ยุโรปและสหรัฐพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องการคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะที่นายอเล็กซานเดอร์ ชาลเลนแบร์ก รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรียก็ได้เน้นย้ำว่า ยุโรปยังต้องพึ่งพาอาศัยพลังงานก๊าซของรัสเซีย ส่วนนางแอนนาลีน่า แบร์บอค รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีก็ไม่สนับสนุนให้ตัดรัสเซียออกจากเครือข่ายระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก (SWIFT) โดยให้เหตุผลว่า การใช้ไม้แข็งเช่นนี้ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ยุโรปยังไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ เนื่องจากยังไม่สามารถหาจุดที่จะต่อกรกับรัสเซียโดยไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน
ส่องโลกคู่ขนานผ่านจอทีวีรัสเซีย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐออกโรงเตือนว่า การยกทัพโจมตียูเครนของรัสเซีย “อาจเป็นการรุกรานครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2” โดย “การรุกรานนี้อาจเปลี่ยนแปลงโลก” หากทหารรัสเซียหลายหมื่นนายที่ตรึงกำลังตามแนวพรมแดนรัสเซีย-ยูเครนเปิดปฏิบัติการบุกโจมตีดินแดนยูเครน
ทว่าเมื่อมองในมุมของรัสเซียกลับกลายเป็นหนังคนละเรื่อง หากดูรายงานข่าวในรัสเซีย ภาพทหารและรถถังที่เคลื่อนทัพไปยังแนวชายแดนยูเครนนั้นไม่ใช่กองทัพรัสเซีย แต่กลับเป็นกองทัพนาโต ซึ่งสื่อของรัฐบาลรัสเซียมองว่า นาโตได้วางแผนเคลื่อนกำลังพลมาเป็นเวลาหลายปีแล้วเพื่อโอบล้อมรัสเซีย โค่นล้มประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และหวังยึดทรัพยากรพลังงานอันล้ำค่าของรัสเซียไปครอง
ในมุมมองของรัสเซียนั้น ยูเครนเป็นรัฐล้มละลายที่สหรัฐใช้เป็นหุ่นเชิด ส่วนยุโรปเป็นทาสที่คอยรับคำสั่งจากรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่สหรัฐเองก็อ่อนแอและแตกแยก เพราะปัญหาทางการเมืองและเชื้อชาติ
หากยุโรป สหรัฐ หรือนาโตมีปัญหาไม่ลงรอยกัน สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นข่าวพาดหัวในรัสเซีย และหากสื่อตะวันตกรายงานข่าวยูเครนถูกทหารรัสเซียบุกล้อม สื่อรัสเซียก็จะแพร่ภาพประเทศเบลารุส (ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซีย) ถูกทหารนาโตปิดล้อมด้วยเช่นกัน
รัสเซียมองว่า ต้นเหตุที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดนั้นไม่ใช่รัสเซีย แต่กลับเป็นนาโตต่างหาก โดยผลสำรวจความคิดเห็นชาวรัสเซียพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจครึ่งหนึ่งมองว่า สหรัฐและนาโตเป็นตัวการที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น โดยมีเพียงไม่ถึง 5% ที่โทษรัสเซีย ขณะที่ผลการศึกษาอีกโครงการหนึ่งเปิดเผยให้เห็นว่า ชาวรัสเซียหลายรายมองว่า ชาติตะวันตกเป็นฝ่ายดึงรัสเซียเข้าสู่สนามรบเอง โดยรัสเซียเป็นผู้ถูกกระทำจากทุกทิศทางและต้องตอบโต้
สถานการณ์ในยูเครนยังปกติ ผู้นำยูเครนวอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก
แม้สหรัฐ ยุโรป และนาโต ได้ยกระดับความพร้อมทางทหารเพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะบุกยูเครน แต่ในยูเครนเองนั้น เมื่อคืนนี้ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนกล่าวว่า ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกเกี่ยวกับการบุกโจมตีของรัสเซีย เนื่องจากรัฐบาลยังคงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ส่วนนายโอเลคซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครนกล่าวว่า กองกำลังรัสเซียยังไม่มีการจัดขบวนที่พร้อมเข้าโจมตียูเครนแต่อย่างใด
ด้านนายโอเลคไซ ดานิลอฟ เลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติยูเครนกล่าวเช่นกันว่า การที่รัสเซียตรึงกำลังทหารตามแนวชายแดนยูเครน ไม่ใช่เรื่องใหม่
สำหรับบรรยากาศในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนนั้น เว็บไซต์ยาฮูรายงานเมื่อวานนี้ว่า ร้านอาหารตามท้องถนนมีลูกค้าแวะเวียนเข้าไปอย่างไม่ขาดสาย สถานบันเทิงก็เต็มไปด้วยลูกค้าที่มีปาร์ตี้กันอย่างสุดเหวี่ยง รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าก็ยังมีประชาชนออกไปใช้จ่ายกันอย่างเต็มที่ ซึ่งทุกอย่างจะหยุดชะงักทันทีหากมีภัยคุกคามร้ายแรงจริง ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับเชื่อกันว่า กรุงเคียฟไม่น่าจะเกิดสถานการณ์ปะทะที่รุนแรง เพราะชาวยูเครนเจอกับข่าวสงครามมานาน 8 ปีแล้ว โดยขณะนี้มีเพียงมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เท่านั้นที่ทำให้ใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น
อย่างไรก็ดี ชาวยูเครนก็ไม่ได้ประมาท เพราะการที่สหรัฐ ยุโรป และนาโตพร้อมใจส่งทหารและอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือยูเครนนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย โดยผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเคียฟบางรายได้เตรียมแพ็กกระเป๋าที่มีเอกสารจำเป็น เสื้อผ้า และยารักษาโรคเอาไว้ เผื่อกรณีที่เกิดการโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว และบางคนก็ได้คุยกับครอบครัวและเพื่อน ๆ เพื่อหาลู่ทางเอาตัวรอดไว้บ้างแล้ว เช่น การติดต่อญาติ ๆ ในยุโรปเพื่อขอไปอาศัยอยู่ด้วย หากต้องหนีออกจากกรุงเคียฟ หรือหาที่อยู่ในฝั่งตะวันตกของประเทศซึ่งมีทหารประจำการอยู่ไม่มาก ขณะที่ประชาชนบางส่วนได้รีบกดเงินจากตู้เอทีเอ็มเพื่อสำรองไว้ใช้แล้วด้วย
ทั้งนี้ ฝรั่งเศสจะจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงในวันนี้ โดยมีคณะที่ปรึกษาทางการทูตจากฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และยูเครนในรูปแบบนอร์มังดี ฟอร์แมต เพื่อนำเสนอแผนลดความตึงเครียดในยูเครน ขณะที่นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะพบปะกับผู้นำรัสเซียและยูเครนด้วยตนเอง หลังจากที่การเจรจาระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งเกี่ยวกับยูเครนครั้งล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้า
เรายังคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า สถานการณ์ตึงเครียดนี้จะบรรเทาลงหรือไม่ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีการปะทะกันเกิดขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วฝ่ายที่เดือดร้อนที่สุดก็คงไม่พ้นประชาชนที่ต้องโดนลูกหลง และผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 65)
Tags: ความขัดแย้ง, ทหาร, ยูเครน, รัสเซีย, วลาดิเมียร์ ปูติน, สหรัฐ, โจ ไบเดน